Soft Power ของจีน กำหนดทิศทางการเมืองในพม่า (1) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by Noel CELIS / AFP)

ขณะนี้พม่าตอนเหนือกำลังตกอยู่ในการสู้รบครั้งใหญ่ ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ในรัฐฉาน ระหว่างกองทัพรัฐบาลทหาร กับกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ซึ่งประกอบด้วย 3 กองกำลังชาติพันธุ์ ได้แก่ กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)

นักวิเคราะห์มองว่าทั้ง 3 กองกำลังที่จับมือกันต่อต้านรัฐบาลทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐบาลพลัดถิ่น NUG (National Unity Government) ที่มาจากอดีตรัฐบาล ออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกกองทัพเมียนมารัฐประหาร แม้จะมีกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force ,PDF) กระจายกันต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าอยู่ทั่วประเทศ

ปฏิบัติการ 1027 พันธมิตรภราดรภาพ ซึ่งเปิดฉากเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเป้าหมายอะไร

1. คือต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่เป็นเผด็จการ

2. ต้องการยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่า ให้อยู่ในความดูแลของทั้ง 3 กลุ่มอย่างเด็ดขาด

3. เพื่อล้มอิทธิพลของกลุ่มฉ้อโกงทาง Call Center และการพนันออนไลน์ทั้งการประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมายต่างๆ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากในจีนและอาเชียน ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการล่อลวงเงินผ่านโลกออนไลน์ หลายหมื่นคนในหลายพื้นที่ของพม่า

4. ทั้งสามกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ได้ออกมาประกาศร่วมกันว่า จะให้การคุ้มครองธุรกิจของจีนที่อยู่ในเขตควบคุมของตน ซึ่งรวมถึงท่อส่งก๊าซและน้ำมันของจีนจากรัฐอาระกันที่พาดผ่านมายังรัฐฉาน

ในแถลงการณ์ของทั้ง 3 กลุ่มระบุว่า จะตอบโต้อย่างสาสมกับกลุ่มที่ต้องการจะทำลายการลงทุนระหว่างประเทศ

 

นักวิเคราะห์มองไปที่จีน

นโยบายของจีนต่อความมั่นคงทางตอนเหนือของพม่าเปลี่ยนแล้วหรือ?

นักวิเคราะห์มองว่าที่ผ่านมา จีนเหมือนกับผู้ที่เหยียบเรือสองแคม แต่ขณะนี้คงตัดสินใจวางนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่

หลังการรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 เพียง 6 เดือน จีนก็ประเมินได้ว่ารัฐบาลทหารพม่าคุมสถานการณ์ประเทศไม่ได้แล้ว และไม่สามารถรักษาสัญญา และผลประโยชน์ของจีนในพม่าได้ โดยเฉพาะในภาคเหนือใกล้จีน

ดังนั้น เพื่อให้ความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจในแถบนี้มีเสถียรภาพ จะต้องทำให้กองกำลังที่เข้มแข็งและเป็นมิตรกับจีนที่สุดควบคุมภาคเหนือของพม่าตลอดเส้นทางจากชายแดนจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่ารัฐบาลพม่าในอนาคตจะออกมาในรูปแบบใด แต่ดินแดนส่วนนี้จะอยู่ในมือกลุ่มที่จีนไว้ใจที่สุดเพราะเส้นทางยุทธศาสตร์ตามแนวทาง One Belt One Road ที่สำคัญอยู่ตรงนี้เป็นระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร สั้นที่สุดและควบคุมดูแลได้จริง

มองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้วจีนมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนที่ติดกับพม่าทางบกที่ยาวถึง 2,200 กิโลเมตร

เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวแต่มีปัญหาทางด้านความมั่นคง เพราะเป็นเขตยึดครองของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม เช่น ว้า คะฉิ่น โกกั้ง ซึ่งทุกกลุ่มมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมานาน การเจรจาแก้ปัญหาใดๆ ตลอดหลายสิบปีกับรัฐบาลพม่า ไม่มีผลทางปฏิบัติจริง เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจในพื้นที่

แม้มีการสร้างปัญหาให้จีนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาวุธ การพนัน การค้ามนุษย์ รวมตลอดไปถึงอาชญากรรมทางไซเบอร์อีกมากมาย ความมั่นคงตามแนวชายแดน

แต่ถ้าจีนออกแรงกดดันจริง ก็สามารถจัดระบียบพื้นที่ตอนเหนือนี่ได้ เพราะจีนมีทั้งปืน และเงิน

 

ผลประโยชน์บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ระดับโลก

พื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจากจีนผ่านดินแดนของพม่าไปออกมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้โครงการ One Belt One Road ของรัฐบาลจีน มีโครงการสำคัญคือ

1. โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวในอ่าวเบงกอล ประเทศพม่า กับคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552 พอถึงปี 2556 จีนก็ส่งก๊าซได้ และปี 2557 ก็ส่งน้ำมันได้ น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา ไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา โดยจีนจะรับน้ำมันดิบผ่านทางท่อจากท่าเรือในชายฝั่งพม่าเข้าสู่ชายแดนจีน และแปรรูปในจีน

ท่อก๊าซจีน-พม่า โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองเจ้าผิว ในรัฐยะไข่ ผ่านเขตมาเกว เขตมัณฑะเลย์ และรัฐฉาน และเข้าสู่เขตเมืองหรุยลี่ ในมณฑลยูนนานของจีน ท่อก๊าซในเขตพม่าความยาว 793 กิโลเมตร พร้อมสถานีแปรรูป 6 แห่งสามารถลำเลียงก๊าซได้ปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังมีท่อน้ำมันขนานไปกับท่อก๊าซนี้ด้วย ความยาว 771 กิโลเมตร ลำเลียงน้ำมันได้ปีละ 22 ล้านตัน

โครงการดังกล่าวมีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (ซีเอ็นพีเอ็น) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองโครงการ

ระยะทาง 800 กิโลเมตรนี้ต้องมีผู้ดูแล

2. พม่าสมัยออง ซาน ซูจี ได้ตกลงกับจีนในปี 2561 เพื่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจ (China-Myanmar Economic Corridor) โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่านี้มีความสำคัญต่อจีนมาก ย่นระยะทางการขนส่งพลังงานและวัตถุดิบหรือสินค้าอื่นๆ จากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยจะสร้างโครงข่ายทางรถไฟและถนน คุนหมิง-ต้าลี่-หลินชาง-รุ่ยลี่ เข้าสู่เมียนมาทางหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ จากนั้นลงไปยังล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์-เจ้าผิว ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าราว 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลงนามไว้ระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อเดือนมกราคม 2563 โดยในครั้งนั้น ทั้งจีนและเมียนมาต่างเห็นชอบกับเส้นทางของทางรถไฟส่วนแรกที่ต้องผ่านพื้นที่หุบเขาห่างไกล รวมทั้งดินแดนที่กองกำลังชาติพันธุ์มีการต่อสู้กับกองทัพของรัฐบาลกลางเมียนมา มานานหลายทศวรรษ

10 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารในเมียนมาไม่นาน กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เพิ่งเซ็น MOU ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปถึงเมืองเจ้าผิว

หลังการรัฐประหาร พม่าและจีนได้ร่วมกันสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการนี้อีกครั้งและผ่านความเห็นชอบเมื่อปี 2565 จากนั้นจึงได้มีการเตรียมสำรวจและก่อสร้าง

ในขณะเดียวกันจีนก็ส่งนายเติ้ง สีจุ้น ผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการเมียนมา ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาที่รัฐฉาน ซึ่งรวมถึงกองกำลังปลดปล่อยคะฉิ่น ( KIA) กองกำลังรวมแห่งรัฐว้า (UWSA) กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDAA) เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากยูนนานมาถึงเมืองเจ้าผิว

นี่คือเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนรอไม่ได้ และก็เริ่มทำในจีนไปมากแล้วความพยายามปิดล้อมจีนโดยอเมริกา ทำให้จีนรอไม่ได้ เส้นทางสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านพม่าต้องสำเร็จโดยเร็ว

ดูแล้ว Soft Power จะได้ผลคงต้องมี Hard Power เป็นองค์ประกอบ

เมื่อสงครามชิงพื้นที่เกิดขึ้น พล.อ.มินต์ ส่วย ประธานาธิบดีเมียนมา เตือนว่าอันตรายจากการพ่ายแพ้ในการรบที่รัฐฉานนั้น อาจทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

แต่พม่าจะแตกหรือไม่ หรือจะแยกแบบไหน อีกนานเท่าไร ผลกระทบต่อไทย ทุกขั้นตอนมีความซับซ้อนมาก จะวิเคราะห์ในตอนต่อไป