จันทน์ (10)

ญาดา อารัมภีร

‘จันทน์’ เป็นไม้หอมที่มีแก่น ดอก และผลหอม ไม้นี้เมื่อมีอายุมาก ภายในเนื้อแก่นไม้จะเกิดกลิ่นหอมขึ้นเองตามธรรมชาติ คนไทยสมัยก่อนจึงนิยมเอาไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอมติดทนนาน (ต่อให้ไม้แห้งก็ยังมีกลิ่นหอม) มาทำเป็นเครื่องประทิ่นหรือเครื่องหอมสำหรับร่างกายและเสื้อผ้า

วรรณคดีไทยหลายสมัยเล่าถึง ‘จันทน์’ ในฐานะเครื่องหอมยอดนิยม “ไตรภูมิพระร่วง” สมัยสุโขทัยเล่าถึงเครื่องหอมของปัญจสิขรคนธรรพ์ว่า

“อันว่าคนธัพพเทวบุตรนั้น สูงได้ ๖๐๐๐ วา แลประดับนิ์ด้วยเครื่องสนิมอาภรณ์ทั้งหลาย…ฯลฯ… อันว่ากระแจะแลจวงจันทน์อันเทพยดาทาตัวนั้น ถ้าแลว่าจะขูดออกใส่ตุ่มแลไหได้ ๙ ตุ่มแล”

ไม่ต่างจาก “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” สมัยอยุธยา กวีรำพันว่าเมื่อฤดูหนาวมาเยือนก็หวนนึกถึงกลิ่นจันทน์หอมระรวย หอมน้อยๆ จากผิวเนื้อนางผู้อยู่ห่างไกลกัน

“ฤดูรูเหมันต์ เนื้อกลิ่นจันทน์อันหอมรวย

น้ำค้างว่างลมชวย ด้วยไกลสมรที่นอนเย็น

ฤดูวู้ว่าวห้อง หาวบน

เกลี้ยงกลิ่นจันทน์นฤมล เฟื่องฟุ้ง

น้ำค้างว่างลมบน ฤๅรอด

ใครจะกอดค่ำหรุ้ง อุ่นเนื้อเสมอสมรฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ใน “มหาชาติคำหลวง” วรรณคดีพุทธศาสนาสมัยอยุธยา โดยเฉพาะ “ทานกัณฑ์” (หนึ่งในหกกัณฑ์ที่สูญหายและรัชกาลที่ 2 โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งขึ้นใหม่) เล่าถึงพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสแก่พระสุนิสา (ลูกสะใภ้) หรือพระนางมัทรี ดังนี้

“ดูกรเจ้ามัทที นางมารศรีทรงลักษณ จนฺทนสมาจาเร เมาะ โลหิตจนฺทเนน ปริกิณฺณสรีเร รื่นรักจันทนคันธา อบพิโดรกายากยรณ์”

ความหมายคือ ดูก่อน มัทรีผู้ประเสริฐใช้กลิ่นจันทน์เป็นเครื่องหอมอบร่างกาย

น่าสังเกตว่า กลิ่นเนื้อเจือกลิ่นจันทน์เป็นความทรงจำที่กวีคะนึงหามิรู้วาย ดังจะเห็นได้จาก “กำสรวลสมุทร” หรือ “กำสรวลโคลงดั้น” วรรณคดีสมัยอยุธยา พรรณนาไว้เป็นระยะๆ เริ่มจากกลิ่นแก้มนาง

“จากมาลำห้นนล่อง ลุะขนอน

ขนอนถือเลยละ พี่แคล้ว

จากมากำจรจนนทน จรุงกลิ่น

จรุงกลิ่นแก้มน้องแก้ว ไป่วายฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

(ตั้งแต่จากน้องมาพี่ยังได้กลิ่นกระแจะจันทน์หอมละมุนที่น้องลูบไล้ ทั้งยังได้กลิ่นจันทน์จากแก้มน้อง กลิ่นเหล่านี้อวลอยู่ในอารมณ์ความรู้สึก)

“ลนนลุงสองฟากฟุ้ง ผกาสกา

โดรลอองอบตาง กลิ่นเกล้า

รอยมือแม่ธารทา หอมหื่น ยงงเลอย

จนนทนกระแจะรศเร้า รวจขจร ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

(พี่เศร้าโศกนักยามได้กลิ่นดอกไม้หอมขจายทั่วทั้งสองฟากฝั่ง เพราะกลิ่นนี้ทำให้ระลึกถึงกลิ่นหอมจากเส้นผมน้อง และจากมือน้องที่ทากระแจะจันทน์)

 

เครื่องหอมมิได้จำกัดให้ใช้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็ใช้ได้ช่วยให้คลายร้อน ดังที่กวีบรรยายว่า

“รฦกแก้วกินสี้ นางสอง ไซ้แม่

อร่อยสรทึกถนำ ปากป้อน

จนนทนจรุงออกธารทา ยงงรุ่ง

บยายยวเนื้อร้อน เร่งวีฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

(ยามที่พี่ร้อน นอกจากป้อนน้ำให้พี่ดื่มแล้ว น้องได้นำกระแจะจันทน์มาทาให้ ทาแล้วยังไม่คลายร้อน น้องก็ช่วยพัดให้ พี่จึงหลับตานอนได้เพราะ ‘แม่วีชู้ช้อยชุ้ง นอนหลับ แลแม่’)

กลิ่นหอมจันทน์จากเรือนกายน้อง แม้เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในความทรงจำ แต่ก็ทำให้พี่หวนอาลัยไม่เสื่อมคลาย ดังที่กวีรำพันว่า ไม่อาจสะกดกลั้นอารมณ์ความรู้สึกที่จำจากน้องมาไกลได้

“รฦกเนื้อกรรเกษสร้อย สาวสวรรค กูเออย

กรกอดหมอนเหมือนนาง ร่ำไห้

รฦกกำจรจนนทน อายโอษฐ พู้นฤๅ

ทรงกรรแสงไจ้ไจ้ จั่นจวญฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์แม้ผ่านมานานนับร้อยปี ผู้แต่ง “โคลงนิราศนรินทร์” ก็ยังครวญหากลิ่นหอมของจันทน์ที่เป็นความหลังระหว่างสองเราด้วยความอาวรณ์

“เคยปรุงประทิ่นแป้ง ปนละออง อบเอย

สรงสว่างใจสอง ครุ่นครั้ง

จอกจันทน์จากจรุงหมอง ราแม่

พานแต่งเสาวคนธ์ตั้ง แต่งให้ใครทาฯ”

ฉบับนี้ จันทน์ระลึก

ฉบับหน้า ประทิ่นกลิ่นจันทน์ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร