ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (7)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (7)

 

ครูร้องไห้

การแสดงเต้นประกอบทำนองเพลง เซกองวันใหม่ ของเด็กนักเรียนจบลง ครูพาแยกย้ายเข้าห้องเรียนตามปกติ พิธีการฮับต้อนคณะผู้มาเยือนเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ นำโดยท่านบุญเหลือ แก้วมณีไร รองหัวหน้าแผนกศึกษาธิการและกีฬา แขวงเซกอง ท่านนางพรไพ สีวิไล หัวหน้าห้องการศึกษาธิการและกีฬา เมืองละมาม

ท่านบุญเหลือ หัวหน้าคณะฝ่ายลาวกล่าวต้อนรับอย่างสุดอกสุดใจ

“การเดินทางมาเยี่ยมเยือนและทำงานของท่านเพื่อเสริมขยายสายสัมพันธ์ การร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะงานการศึกษา การพัฒนาของครูลาวเฮาให้ดีขึ้นทีละก้าว ผลงานของนางกิมเฟืองที่ได้รับเกียรติ รับรางวัลครูดีเด่น คนที่ 5 ของประเทศลาวเฮาจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย ถือเป็นประวัติศาสตร์อันสูงส่งของครูแขวงเซกอง เป็นต้นแบบแก่ครูทั่วแขวงที่ต้องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงขึ้น เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้ครูสอนผู้ดีเด่นที่ได้ทุ่มเทเรี่ยวแรงและสติปัญญา สร้างรูปแบบการสอนแบบใหม่ให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น ผลงานของท่านได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาและกีฬา”

เซกองเป็นแขวงหนึ่งใน 4 แขวงภาคใต้ ของ สปป.ลาว มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนน้อย ภูดอยส่วนใหญ่ถึง 65% ของเนื้อที่ทั้งหมด 7,750 ตารางเมตร ความหนาแน่นพลเมืองต่ำ พื้นที่ทำการผลิตกสิกรรมยังกว้างขวาง การปกครองมี 4 เมือง 10 ชนเผ่า 199 บ้าน พลเมืองทั้งหมด 132,044 คน 90% ดำรงชีวิตและตั้งถิ่นฐานอยู่เขตชนบท ภูมิประเทศเป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายของแขวง โดยเฉพาะงานการศึกษาและกีฬา

ทั่วแขวงมีโรงเรียนทั้งหมด 301 แห่ง โรงเรียนเลี้ยงเด็กอนุบาล 34 แห่ง (เอกชน 4 แห่ง) โรงเรียนประถม 219 แห่ง (เอกชน 3 แห่ง)โรงเรียน มัธยมตอนต้น 32 แห่ง และโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ 16 แห่ง มีครูสอนทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 1,869 คน เป็นหญิง 1,020 คน

ครูกิมเฟือง ผอ.ร.ร.ประถมสมบูรณ์เพียใหม่ สาธิตการสอนภาษาลาวแก่เด็กประถม

ครูกิมเฟืองกล่าวเป็นคนต่อมา “ดีใจหลายที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้ นอกจากเป็นเกียรติประวัติของตัวเฮาเองแล้ว ยังเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียน ของเมือง ของแขวง ของประเทศ เงินรางวัลจำนวนหนึ่งจะนำมาช่วยพัฒนา โรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าเข้าห้องเรียน ไม่มีพัดลม อุปกรณ์อันใดขาดก็จะจัดหานำมาให้นักเรียน”

ครูจักรพรรดิ ฝ่ายไทยกล่าวเสริม “เงินรางวัลมูลค่า 214 ล้านกีบ พร้อมเหรียญทองคำ ใครติดจะเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นคนดี ครูดี ช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน คุณูปการแก่ประเทศ รางวัลพระราชทานนี้เป็นการนำพลังครูมารวบรวม ยกย่องส่งเสริมให้กำลังใจร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา”

โรงเรียนประถมสมบูรณ์เพียใหม่มีนักเรียน 205 คน เป็นชนเผ่าตะเหรี่ยง ลาวเทิง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน ครู 13 คน นางกิมเฟือง ผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อตอนเป็นเด็กชั้นประถม ใฝ่ฝันที่จะเป็นครู เธอมุ่งมั่นทำงานหนัก หลังสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2533 เริ่มสอนที่โรงเรียนประถมศึกษาโนนมีชัย แขวงเซกอง ยังคงพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาผ่านการศึกษานอกระบบและการฝึกอบรมสายอาชีพระดับกลาง ปี 2555

เธอจึงเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของการศึกษาสายอาชีพนอกระบบและด้านเทคนิค รักการเป็นครู ยังคงสอน 3 วิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาลาว ควบคู่ไปกับการเป็นผู้บริหารโรงเรียน ตั้งเป้าที่จะพัฒนาคนรุ่นต่อไป ที่มีความรู้รอบด้านจนกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของ สปป.ลาว

หัวหน้าคณะฝ่ายลาวเล่าต่อว่า ในแขวงเซกองมีโรงเรียนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความช่วยเหลืออีก ได้แก่ โรงเรียนบ้านกระบือ เมืองท่าแตง โรงเรียนบ้านติ้ว โรงเรียน มส…ชนเผ่า เมืองละมาม โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสม 9 สาขา ช่างไม้ ช่างยนต์ เกษตรกรรม

 

จากนั้นเจ้าภาพเชิญชวนให้คณะเยี่ยมชมบริเวณโรงเรียน อาคารเรียนชั้นเดียว 2 หลังติดต่อกัน บริษัทไดโดะประกันภัยชีวิตของญี่ปุ่นสร้างให้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2547 เฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีของบริษัท ทุกห้องเรียนอาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า และพัดลม

เดินไป ดูไป ชมการเรียนการสอนรายห้อง ผมนึกนินทาญี่ปุ่นให้แต่ตัวอาคารแต่ไม่ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง นินทาลาวแบตเตอรี่แห่งเอเชีย แต่ห้องเรียนยังรอพัดลม

ห้องเรียนแรก สอนศิลปะประเพณี ทำบายศรีใบตอง ดอกดาวเรือง ใส่กระบะสวย หลักสูตรสถานศึกษาสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม ห้องต่อมาสอนคณิตศาสตร์ การนับเลข ใช้ฝาขวดน้ำอัดลม ฝาพลาสติก ฝาหอย เป็นอุปกรณ์ บนกระดานมีโจทย์ตัวอย่าง วิธีหาร ให้เด็กทำ

ถัดไป ห้อง ป.1/1 เหนือกระดานดำหน้าห้อง เขียนข้อความ “สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนธรรม”

ล่างลงไปเป็นคำพังเพย “อยากไวให้คลาน อยากนานให้วิ่ง” ผมสงสัยเลยถามครู ได้ความว่าเป็นคำเตือนใจ ทำอะไรให้ค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้นตอน ใจร้อน รีบเร่ง มีโอกาสผิดพลาดสะดุดหกล้ม ในที่สุดถึงช้ากว่าค่อยคลานไป

ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า ขึ้นมาทันที

 

ห้องนี้ครูกิมเฟืองสาธิตการสอนภาษาลาว อ่านออกเสียงดังฟังชัด สระอิ สระอี ปา มี ปี อ่านได้บ่ ตัวนี้สระอะไร อยู่บน หรืออยู่ข้างล่าง เด็กตอบฉะฉาน ครูถามต่อ คำนี้อ่านว่าอย่างไร

ป้า พยัญชนะอะไร สระอะไร ใส่ข้างหน้า ข้างหลังคือกันบ่ มา ม้า มา คือกันบ่ เสียงคือกันบ่ มี สระอี มีหาง ป้ามีปี่ พยัญชนะอะไร เอาสระอะไรมาใส่ ข้างหน้าหรือข้างหลัง อ่านว่าอย่างไร คือกันบ่ เสียงคือกันบ่ อ่านเป็นประโยคเป็นหยัง

เด็กอาสาสมัครมาอ่านนำหน้าห้องคล่อง สนุกสนาน ครูเอ่ยชม “เก่งหลาย ปรบมือหน่อย”

วิธีการสอนภาษาของครูกิมเฟืองก็คือการสอนแบบแจกลูกผสมคำ ช่วยให้เด็กจดจำได้ เขียนถูกต้อง สร้างประโยคได้ดี

คุณสันติพงษ์ มือสกู๊ปจากไทยพีบีเอส เดินเก็บภาพตามห้อง เห็นการสอนของครูผิดกับตอนอยู่นอกห้อง เรียบร้อย ยิ้มแย้ม สงบเสงี่ยม พูดน้อย เลยเอ่ยถามเด็กคนหนึ่ง “ครูกิมเฟืองดุบ่” เพราะคิดว่าเวลาอยู่หน้าห้อง ครูเป็นครูดุ ในความหมายของภาษาไทย

ขณะที่ภาษาลาวใช้คำว่า ฮ้าย ครูฮ้าย ถามเด็กลาวต้องพูดว่า ครูฮ้ายบ่

ส่วนคำว่าดุ ภาษาลาวแปลว่าขยัน เลยได้คำตอบจากเด็กน้อยว่า ครูกิมเฟืองดุ หมายความว่าครูเป็นครูที่ขยัน

สาธิตการสอนจบ ครูกิมเฟืองพาคณะเดินชมแปลงเกษตรด้านหลังอาคารเรียน ปลูกพืชผักสวนครัว ทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ ผักนานาชนิดขึ้นงดงาม เก็บมาทำอาหารได้ไม่น้อย การเยี่ยมยามเสร็จสิ้นลงเวลาโรงเรียนเลิกพอดี

 

ต่อมาคณะมูลนิธิกลับถึงเมืองไทยไม่นาน ท่านทูตมรกตส่งข่าวความคืบหน้า ว่าบริษัทมอนซูน เพาเวอร์ ดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว ช่างไฟฟ้าได้ส่งมอบอุปกรณ์และติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟ และพัดลม จำนวน 9 ห้อง พร้อมให้คำแนะนำช่างพื้นที่ในการติดตั้งและใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย

บริษัทออกคำแถลงย้ำ “มาตรฐานความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเท่านั้น เราให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และมาตรฐานความสดวกสบาย ส่งเสริมจินตนาการให้กับนักเรียน”

“ดีใจมากๆ ที่มอนซูนไปช่วยที่โรงเรียนครูกิมเฟือง ตอนไปสำรวจโรงเรียนพบคุณครู แกดีใจน้ำตาไหลเลยค่ะ ซึ้งใจ เขามุ่งมั่น ก็สมควรได้รับการสนับสนุนที่ดีนะคะ” ท่านทูตส่งข้อความถึงทุกคน

และว่า “มอนซูนทำ CSR หลายเรื่องให้กับชุมชน ร่วมมือกับโรงพยาบาลที่อุบลฯ ด้วย”

“ขอบพระคุณ ภาคเอกชนไทยที่นี่น่ารักและอยู่กับคนลาวมานาน เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องลาว ทำอะไรให้ได้ก็เต็มที่เลย ทูตก็แค่เอาข่าวมาบอกเอกชนค่ะ ดีใจจริงๆ ค่ะ”

ข่าวดีสำหรับทุกคน โดยเฉพาะครูและนักเรียน ทำให้ครูกิมเฟืองน้ำตาไหลรินเพราะความดีใจ สองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน

ครั้งแรกเมื่อครูได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งต่อมาเมื่อครูได้เห็นรอยยิ้มของนักเรียนในห้องเรียนที่มีไฟฟ้าส่องสว่างและพัดลม

ผลพวงทำให้คณะผู้มาเยือนปลาบปลื้ม มีความสุขไปกับครูและนักเรียนของครูทุกคน ชื่นชมหลายๆ เด้อ