สงครามใต้พิภพ (2) สงครามอุโมงค์ในยุคสมัยใหม่ | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามใต้พิภพมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นเทคนิคสำหรับการลดค่าของประสิทธิภาพในการใช้กำลังทางอากาศ”

Major Donald M. Heilig (US. Army)

 

การทำสงครามใต้พื้นผิวของโลก (Subterranean Warfare) ที่มีนัยถึงการทำสงครามใต้ดินในทางกายภาพนั้น เป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ และสงครามอุโมงค์เป็นตัวอย่างรูปธรรมของสงครามในแบบแผนเช่นนี้ สงครามในบริบทของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยของการสงคราม และพัฒนาไปสู่การเป็น “ทฤษฎีการสงครามใต้ดิน”

สาเหตุส่วนหนึ่งแห่งการกำเนิดของสงครามชุดนี้ อาจเป็นผลจากประสบการณ์ของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่เคยอาศัยถ้ำทางธรรมชาติเป็นที่พักพิง และ/หรือหลบภัย อันเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องมือของการปกป้องตัวมนุษย์เอง เช่น ถ้ำหรือโพรงดินต่างๆ เป็นต้น

ซึ่งสภาพของเหล่านี้เอื้อประโยชน์โดยตรงต่อการทำเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังใช้ในการป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า หรือจากมนุษย์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย

 

อุโมงค์ในบริบททางทหาร

ฉะนั้น ถ้าหรืออุโมงค์ในเบื้องต้นจึงถูกใช้ประโยชน์ในลักษณะของการป้องกันเป็นด้านหลัก แต่เมื่อมีวิวัฒนาการยาวนานขึ้น ถ้ำเหล่านี้อาจถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการโจมตีได้ด้วย เช่น การขุดอุโมงค์ไปใกล้เป้าหมายที่ต้องการจู่โจม การใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องของ “สงครามใต้พิภพ” ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อของการสงครามทางบก

ว่าที่จริงแล้ว นักการทหารในแต่ละยุคมีประสบการณ์กับสงครามในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด แม้ในโลกสมัยใหม่ก็ตาม หรืออีกนัยหนึ่ง สงครามใต้พิภพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางการทหารแต่อย่างใด

บันทึกใน “สงครามยุคคลาสสิค” ของโพลิบิอุส ( Polybius) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้กล่าวถึง สงครามป้อมค่ายประชิดของกองทัพโรมในการปิดล้อมเมือง Ambracia ของชาว Aetolia ที่กองทัพโรมใช้วิธีการขุดอุโมงค์เข้าประชิดกำแพงของเมือง และขุดเป็นแนวยาวไปตามแนวกำแพง ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกปิดล้อมในเมืองก็ขุดอุโมงค์ออกมา เพื่อหวังจะให้ชนกับแนวอุโมงค์ของโรม

ในที่สุดแล้ว ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายก็พบกันในอุโมงค์ แต่สำหรับชาว Aetolia แล้ว พวกเขายังใช้การ “รมควัน” ด้วยการใช้ถ่านเผาขนไก่ เพื่อให้เกิดควันที่มีกลิ่นเหม็นกระจายเข้าไปในอุโมงค์ จนทหารโรมันไม่อาจทนอยู่ในอุโมงค์ได้อีก และจำต้องถอนกำลังออกไป

อย่างไรก็ตาม สงครามใต้พิภพในยุคเก่าอาจไม่แตกต่างจากยุทธวิธีในปัจจุบัน และสำหรับโลกในอดีตแล้ว การทำสงครามป้อมค่ายประชิดใช้วิธีการขุดสนามเพลาะและเจาะอุโมงค์ เป็น “mining operations” (mine หมายถึง อุโมงค์) และฝ่ายต่อต้านมักจะใช้การสุมไฟเพื่อให้เกิดการรมควันทหารข้าศึกที่อยู่ในอุโมงค์ให้หายใจไม่ออก หรือใช้การจุดไฟเผา เพื่อให้ฝ่ายข้าศึกไม่สามารถทนอยู่ได้ในอุโมงค์นั้น อันเป็นลักษณะของ “counter-mining operations” ของโลกในอดีตนั่นเอง

ว่าที่จริงแล้วการใช้ยุทธวิธีของ “สงครามยุคกลาง” ในการขุดอุโมงค์เพื่อเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายที่อยู่หลังกำแพงซึ่งเป็นแนวป้องกันที่แข็งแรง และมีการป้องกันอย่างดี หรือการขุดอุโมงค์เพื่อทำลายฐานล่างของกำแพงหรือฐานของตัวปราสาท (โดยเฉพาะตัวปราสาทไม้แบบเก่า) ตลอดรวมถึงการใช้อุโมงค์เพื่อให้สามารถเข้าถึงแนวป้องกันของข้าศึกนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตลอดในการสงครามของยุคดังกล่าว

ส่วนการป้องกันดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ การปั๊มควันไฟที่ใช้การเผาไหม้จากของที่มีกลิ่นเหม็นเข้าไปในอุโมงค์ เช่น การเผาขนสัตว์ อีกทั้งการป้องกันการขุดอุโมงค์เข้าหาตัวปราสาทในแบบยุคกลาง อาจเป็นการขุดคูน้ำล้อมรอบ อันทำให้การเจาะอุโมงค์ในแบบเดิมทำไม่ได้ เพราะน้ำจะทะลักเข้าอุโมงค์

 

อุโมงค์ในสงครามสมัยใหม่

แม้สงครามในเวลาต่อมาจะก้าวเข้าสู่ “ยุคดินปืน” ก็ยังมีการขุดอุโมงค์ด้วยวัตถุประสงค์ทางทหาร 2 ประการ คือเจาะอุโมงค์เพื่อทำลายกำแพง หรือเจาะเพื่อเข้าสู่ที่หมายทางทหารที่ต้องการ หรือจะเข้าสู่ “สงครามยุคศตวรรษที่ 19” เช่น สงครามไครเมีย ที่ทั้งรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามทำสงครามอุโมงค์ต่อกัน แต่รัสเซียดูจะเป็นฝ่ายที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ดังที่ปรากฏในสงครามป้อมค่ายประชิดเมืองเซวาสโตโปล

ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน ก็มีการใช้อุโมงค์เป็นเครื่องมือของการทำลายกองทหารข้าศึก และตัวอย่างที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายในกรณีนี้คือ สงครามป้อมค่ายประชิดที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในรัฐเวอร์จิเนีย โดยกองทัพฝ่ายเหนือได้ทำ “อุโมงค์ระเบิด” ที่มีการใช้ดินระเบิดจำนวนมาก จนทำให้เกิดหลุมระเบิดขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการสงคราม ซึ่งหลุมระเบิดนี้มีความยาว 52 เมตร (170 ฟุต) กว้าง 30-37 เมตร (100-120 ฟุต) และมีความลึกราว 9 เมตร (30 ฟุต) โดยประมาณ แต่หลุมขนาดใหญ่เช่นนี้กลับกลายเป็น “กับดัก” กองทัพฝ่ายเหนือ ที่หลังจากการระเบิดแล้ว เปิดการเข้าตีกองทัพฝ่ายใต้

แต่เป็นการเข้าตีด้วยความสับสน และขาดการวางแผนที่ดี จึงทำให้เกิดความสูญเสียทางทหารเป็นจำนวนมาก

เมื่อก้าวเข้าสู่ “ยุคสงครามเบ็ดเสร็จ” ของศตวรรษที่ 20 ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การทำสงครามอุโมงค์ยังเกิดขึ้นไม่ต่างจากเดิม แต่อาจมีการนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการเข้ามาเสริม โดยเฉพาะความสำเร็จในการประดิษฐ์ไดนาไมต์ (dynamite) ที่เกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และระเบิดนี้มีผลอย่างมากต่อแนวคิดในการสร้างป้อมบนพื้นดิน เนื่องจากแนวกำแพงและตัวป้อมแบบเดิมไม่อาจทานต่ออำนาจแรงระเบิดได้แต่อย่างใด แนวคิดในการสร้างป้อมสนามจึงเปลี่ยนไป และเน้นป้อมที่อยู่ใต้ดินมากกว่า เพื่อให้ป้อมมีขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง

อย่างไรก็ตาม ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 อุโมงค์อาจจะถูกสร้างด้วยไม้เป็นหลัก โดยเฉพาะอีกส่วนคือการสร้างสนามเพลาะที่ทำหน้าที่เป็นแนวรบหลักของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งยังเห็นถึงการต่อสู้กันระหว่าง “หน่วยทหารอุโมงค์” (tunneling units) ของทั้ง 2 ฝ่ายในหลายพื้นที่ แต่ต่อมาด้วยความก้าวหน้าของยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อุโมงค์จึงถูกสร้างให้มีความแข็งแรง โดยมีการใช้เหล็กและคอนกรีตเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ และกองทัพของรัฐคู่สงครามล้วนใช้สงครามอุโมงค์เป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีทั้งสิ้น

ดังจะเห็นได้ว่าสงครามกองโจรของกองทัพจีนแดงในการต่อสู้กับการบุกของกองทัพญี่ปุ่น มีเรื่องราวของสงครามอุโมงค์เป็นส่วนประกอบสำคัญ วิธีต่อสู้สงครามอุโมงค์แบบง่ายๆ ของกองทัพญี่ปุ่นคือการเทน้ำลงไปในอุโมงค์ ให้นักรบกองโจรสำลักน้ำจนเสียชีวิต หรืออาจใช้วิธีถมกลบเพื่อปิดทางเข้าอุโมงค์ เป็นต้น หรือกองทัพญี่ปุ่นในหมู่เกาะแปซิฟิกอาศัยถ้ำทางธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการป้องกันการเข้าตีของนาวิกโยธินอเมริกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้ำยังช่วยป้องกันการโจมตีทางอากาศได้เป็นอย่างดี

ดังจะเห็นได้จากการรบที่ทาราวา หรือโอกินาวา ซึ่งทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตจำนวนมาก

 

จากเกาหลีสู่เวียดนามในยุคสงครามเย็น

สงครามเย็นมาพร้อมกับการมาของระเบิดนิวเคลียร์ หลุมหลบภัยใต้ดินในความหมายอีกด้านคืออุโมงค์ใต้ดิน เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในหลายประเทศเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์ บังเกอร์ใต้ดินกลายเป็นสถานที่สำคัญของการหลบภัย โดยเฉพาะบังเกอร์สำหรับผู้นำรัฐบาลที่จะยังทำให้ความเป็นรัฐบาลดำเนินต่อไปได้ แม้รัฐจะถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของข้าศึก สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกสำคัญของยุคสงครามเย็นที่ตกทอดให้คนปัจจุบันได้เห็น และยืนยันถึงบริบทของสงครามใต้ดินอีกแบบ

สงครามเกาหลีสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สงครามอุโมงค์อย่างกว้างขวาง ผลจากการโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอเมริกันทำให้หน่วยทหารของเกาหลีเหนือต้องขุดอุโมงค์เพื่อป้องกันตัวเอง จนในที่สุดการขุดอุโมงค์ของหน่วยต่างๆ จึงถูกนำมาเชื่อมต่อกันให้เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าความยาวของแนวรบอยู่ที่ 250 กิโลเมตร แต่อุโมงค์มีความยาวถึง 500 กิโลเมตร

อุโมงค์เช่นนี้จึงใช้เป็นที่หลบภัยจากการโจมตีทางอากาศ เป็นคลังอาวุธ เป็นที่เก็บอาหาร และใช้เก็บอุปกรณ์อื่นๆ ในทางทหาร เช่น ใช้เป็นที่ยิงปืนใหญ่ ทั้งยังมีการเจาะอุโมงค์เพื่อเป็นเส้นทางในการนำกำลังเข้ามายังเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว เกาหลีเหนือในปัจจุบันยังได้ตระเตรียมอุโมงค์เพื่อรับมือกับการโจมตีของสหรัฐ เพราะมีความเชื่อว่าสหรัฐอาจจะเปิดการโจมตีประเทศได้ทุกเมื่อ ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีเหนือจึงสร้างอุโมงค์ที่มีความลึกอย่างมาก ด้วยความหวังว่าอุโมงค์ในลักษณะเช่นนี้จะช่วยป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นภัยทางทหารที่เกาหลีเหนือกังวลมากที่สุด

 

สงครามกองโจรในเวียดนามใต้แสดงให้เห็นถึงการใช้สงครามอุโมงค์เป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวกันว่าในเวียดนามใต้ มีอุโมงค์ลับอยู่เป็นจำนวนมาก หรือมีรายงานทางทหารที่กล่าวว่าแทบทุกหมู่บ้านที่เป็นฝ่ายเวียดกงจะมีอุโมงค์อยู่แทบทั้งสิ้น และอุโมงค์ใหญ่ที่สุดจนถือสัญลักษณ์ของสงครามอุโมงค์ในเวียดนามใต้คือ “อุโมงค์กู๋จี” (The Cu Chi Tunnel) ซึ่งมีความยาวประมาณ 320 กิโลเมตร อุโมงค์นี้อยู่ในเขตเมืองกู๋จีของไซ่ง่อน และอุโมงค์นี้ยังได้ทำหน้าที่สำหรับการรบของเวียดกงในหลายยุทธการ โดยเฉพาะในการลุกขึ้นสู้ในเทศกาลตรุษญวนในต้นปี 1968 (ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามใต้ได้จัดทำบริเวณกู๋จีเป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ)

สงครามอุโมงค์ยังปรากฏให้เห็นในเส้นทางลำเลียงที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเวียดนามเหนือคือ “เส้นทางโฮจิมินห์” (The Ho Chi Minh Trail) ที่เส้นทางนี้อาศัยถ้ำเป็นที่หลบซ่อนจากการตรวจการณ์และลาดตระเวนของทหารอเมริกัน และต้องยอมรับว่าเวียดนามเหนือและเวียดกงประสบความสำเร็จอย่างดีในการทำสงครามอุโมงค์เพื่อตอบโต้กับอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าของสหรัฐ

แต่ก็เห็นชัดว่า อำนาจที่เหนือกว่าโดยเฉพาะอำนาจจากการทิ้งระเบิดนั้น แทบไม่มีความหมายต่อการทำสงครามอุโมงค์ของเวียดนามเหนือเลย

 

นอกจากนี้ อุโมงค์ไม่ใช่แค่ที่หลบภัยหรือเป็นคลังต่างๆ ในการเก็บสิ่งอุปกรณ์ในทางทหารเท่านั้น อุโมงค์ยังทำหน้าที่เป็นจุดออกตีที่ถูกปิดลับได้เป็นอย่างดี เพราะแนวอุโมงค์มีความยาวอย่างมาก และพวกเวียดกงสามารถออกมาจากอุโมงค์จุดไหนก็ได้ ในการเปิดการโจมตีทหารอเมริกัน และการโจมตีในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เพราะไม่มีสิ่งบอกเหตุเกิดขึ้นมาก่อน และหลังจากเปิดการโจมตีแล้ว พวกเขาก็จะหายตัวกลับลงอุโมงค์ไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าสงครามอุโมงค์ในเวียดนามใต้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญของสงครามใต้พิภพในยุคสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นคำยืนยันว่าสงครามอุโมงค์ไม่ได้หายไป แม้เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใดก็ตาม

และเป็นภาพสะท้อนถึงการใช้เครื่องมือทางยุทธวิธีของฝ่ายที่อ่อนแอกว่าอย่างมีประสิทธิภาพ!