จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (2)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (2)

 

หลังหนังสือเรื่อง Imagined Communities หรือ IC ของครูเบนตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 1983/2526 ก็เกิดคำถามในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติการเมืองไทยว่าจะประยุกต์แนวคิดชุมชนในจินตนากรรมของครูเข้ากับการศึกษาวิเคราะห์ชาติไทย/ชาตินิยมไทยอย่างไร?

ปรากฏว่างานชิ้นแรกที่ทดลองเสนอการประยุกต์ใช้ดังกล่าวเกิดขึ้น 8 ปีให้หลังในปาฐกถาเพื่อรำลึกถึงและเป็นเกียรติแด่ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา” เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 ซึ่งกล่าวบรรยายโดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ แล้วลงพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่มต่อมาในหนังสือ ชาติไทย, เมือง ไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก, 2538, น.47-88

หลังจากนั้นก็มีงานทำนองเดียวกันทยอยออกมาเป็นระยะ ที่น่าสังเกตคือในปี 2537 มีงานที่ประยุกต์ต่อยอดและพัฒนาแนวคิดชุมชนในจินตนากรรมของครูเบนกับกรณีไทยออกมาถึง 4 ชิ้น ได้แก่บทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย” (ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมแล้วรวมเล่มใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์, น.125-135)

หนังสือของผมเรื่อง แลลอดลายมังกร : รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม & จินตนากรรมชาติ ที่ไม่เป็นชุมชน : คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย

และ Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation อันเป็นดุษฎีนิพนธ์โด่งดังของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่ตีพิมพ์ออกมาปีเดียวกัน (ฉบับพากย์ไทยได้แก่ กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, 2556, แปลโดยพวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์; ดูบทความปริทัศน์ชุด “อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ” รวม 10 ตอนจบของผมในมติชนสุดสัปดาห์, ตุลาคม-ธันวาคม 2560 https://www.matichonweekly.com/column/article_58215,)

เรียบเรียงปรับปรุงจากคำพูดคุยสาธารณะของผมในงานรำลึกอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื่องในโอกาสอาจารย์จากไปครบ 90 วัน ณ ลานหน้าโรงละคร หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 พฤศจิกายน 2566

ข้อน่าสนใจคืองานของอาจารย์นิธิชิ้นหลังนี้และของผมพบข้อสรุปเหมือนกันว่าชาติไทยถูกจินตนากรรมออกมาอย่างไม่เป็นชุมชน (imagined uncommunity) ชั่วแต่อาจารย์นิธิเน้นความไม่เป็นชุมชนของจินตนากรรมชาติไทยในแง่ชั้นฐานันดร ส่วนผมเน้นความไม่เป็นชุมชนของจินตนากรรมชาติไทยในแง่ชาติพันธุ์

ก็แลจินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชนดังกล่าวถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นจากไหน? อย่างไร?

โดยสืบสาวแกะรอยแบบเรียนประถมศึกษาชั้น ป.1 ถึง ป.6 ในวิชาภาษาไทย, สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเป็นหลัก ประกอบกับวิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัยอีกบางส่วน ซึ่งแต่งสร้างโดยคณะกรรมการที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้น อาจารย์นิธิพาเราย้อนรอยไปถึงต้นรากการจัดการศึกษาโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามช่วงปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ดังปรากฏในลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลในหลวงรัชกาลที่ห้าเสนอกุศโลบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติเมื่อ พ.ศ.2449 ว่า :

เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียน : “๑) รักอิศรภาพแห่งชาติภูมิและประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม”

วิธีการ : “รัฐบาลมีอำนาจที่จะตกแต่งนิไสยใจคอไพร่บ้านพลเมืองได้ด้วยแต่งหนังสือสำหรับสอนเด็กนักเรียน…”

(อ้างใน นิธิ, “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา”, น.48-49)

คำถามก็คือ แล้วชาติไทยที่ถูกจินตนากรรมโดยทางราชการดังปรากฏรูปเงาเค้ารอยในแบบเรียนประถมศึกษาที่อาจารย์นิธิประมวลค้นคว้าวิเคราะห์นั้น ออกมาเป็นเช่นใด?

คำตอบสรุปรวบรัดชัดเจนของอาจารย์คือชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษาถูกจินตนากรรมออกมาเป็น “หมู่บ้าน”

เพื่ออธิบายขยายความ ผมขออิงอาศัยแนวคิดคำอธิบายของนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน Ferdinand T?nnies (เฟอร์ดินันด์ เทินนีส์, 1855-1936) ผู้ได้รับยกย่องเป็นบิดาของวิชาสังคมวิทยาเยอรมันคลาสสิคร่วมกับ Max Weber และ Georg Simmel

บนพื้นฐานกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยในนานาประเทศยุโรปตะวันตก จากชุมชนเกษตรกรรมของชาวนาชนบทแต่เดิม ไปเป็นสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม-พาณิชยกรรมสมัยใหม่ในเมือง เทินนีส์ได้แต่งหนังสือเมื่อปี 1887 สรุปเรียกกระบวนการนี้ว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก Gemeinschaft (เกไมน์ชาฟต์ หรือ community) ไปเป็น –> Gesellschaft (เกเซลล์ชาฟต์ หรือ society) (ดูพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาอังกฤษ-ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2524, น.159, 160)

ก็แล “หมู่บ้าน” ในจินตนากรรมชุมชนชาติของไทยก็คือ เกไมน์ชาฟต์ ของเทินนีส์ นั่นเอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)