มองระบอบเก่า ผ่านสายตาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งชุดแรก (2) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“การปกครองเดิมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ คณะรัฐบาลนั่งเก้าอี้กันจนผุ บางคนนั่งจนเป็นโรคเบาหวาน แล้วแต่จะโปรดทั้งนั้น เกลียดเท่าเกลียด เลวเท่าเลว เลอะเท่าเลอะ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องรบกันฆ่ากันเลือดนองแผ่นดิน”

(มงคล รัตนวิจิตร, 2477, 30)

 

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ถูกต่อต้านอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลคณะราษฎรพยายามผลักดันให้สำนักงานโฆษณาการส่งบุคลากรไปเผยแพร่ระบอบใหม่ให้กับชาวบ้านตามชนบทในทุกจังหวัด รวมถึงมีผู้แทนราษฎรบางพื้นที่ก็อาสาไปช่วยชี้แจงด้วย ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงแรก ส.ส.มาช่วยปาฐกถา 24 คน มีการวางแนวทางในการพูดให้เป็นแนวเดียวกับสำนักงานโฆษณาการ (สุวิมล พลจันทร์, 23-24)

มงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีรรมราช (2440-) ได้รับการเลือกตั้งเมื่อ 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ต่อมาได้รับเลือกอีกครั้งเมื่อ 2489 เคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (2489-2490) เขาเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถในการพูด ดังจะเห็นว่านายมงคลเป็นหนึ่งในผู้ร่วมการโต้วาทีครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2478 ในช่วงเวลานั้นเขารับอาสาไปปาฐกถาเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยให้ราษฎรทราบ

ปฏิทินจันทรคติ ปี 2478 ที่สะท้อนคติกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และมงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีธรรมราช

ในการปาฐกถาครั้งหนึ่ง มงคลกล่าวถึงความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยโดยเล่าถึงความกล้าหาญของคณะ ร.ศ.130 ที่เคยเปลี่ยนการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไม่สำเร็จนั้น มี ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ชาวใต้ผู้กล้าหาญเกี่ยวข้องด้วยว่า “แต่ราษฎรยังไม่หมดเวร พวกที่ยอมเสียสละชีพแทนเราที่จักเอาแสงสว่างแห่งความเป็นมนุษย์มาสู่เราในครั้งนั้น เกิดเคราะห์ร้าย ถูกจับถูกขัง ตายในตะรางก็มี ยังเหลือไม่กี่คน แต่ท่านเอ๋ย ความชอบธรรมของคนสิบสองล้านคนนั้น มันจักต้องเป็นความชอบธรรมของเขาเสมอ อรุณแห่งแสงธรรมได้รุ่งโรจน์ขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475” (มงคล, 2477, 7-8)

เขาเห็นว่าการปฏิวัติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “เมื่อราษฎรเดือดร้อนหนักเข้าถึงจะดิ้นรนถูกฆ่า ถูกแกง ถูกตบ ถูกตี ถูกขัง ประการใดก็ตาม ความจริงจักต้องไม่หนีความจริง น้ำย่อมไหลไปยังที่ต่ำเสมอ ทำนบนั้นมันเป็นการปิดกั้นชั่วคราวดอก คือว่าเมื่อราษฎรอันเป็นส่วนสำคัญของประเทศ ก็วันของราษฎรมันต้องมีในประเทศสักวันหนึ่ง…” (มงคล, 7)

ในที่สุด “เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ท่านอย่าลืม อย่าลืมจนวันตาย วันนั้นได้มีบุคคลรักชาติ เห็นอกคนสิบสองล้านคณะหนึ่ง เข้ายึดอำนาจการปกครอง ชัยโยสิ ชัยโยสิพี่น้อง แต่ชัยโยในใจก่อน เราเรียกผู้กล้าหาญคณะนี้ว่า คณะราษฎร ท่านอย่าลืมคณะราษฎรผู้พลิกฟื้นหรือขุดรื้อความจริง คือความเป็นมนุษย์ของเรา อันถูกกลบถูกปกปิดเสียนานแล้วมาให้เรา…” (มงคล, 8)

เขาเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ไม่มีการล้มตายด้วยพระกรุณาของพระมหากษัตริย์ และความมีธรรมและสุจริตของคณะราษฎร ที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คณะราษฎรมิได้ต้องการแย่งพระราชบัลลังก์ พวกเขาต้องการเพียงยกฐานะของราษฎรและฟื้นฟูความเจริญของประเทศ

เหล่าคณะ ร.ศ.130 ถูกจองจำในคุกครั้งระบอบเก่า

คณะราษฎรเห็น
“การอันทุเรศ” ของระบอบเก่า

จากนั้นเขาอธิบายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้ราษฎรฟังว่า หลักที่ 1 เอกราชนั้น ความหมายของคำดังกล่าวมี 2 ระดับ คือ เอกราชภายในระดับบุคคล และเอกราชในระดับประเทศ สำหรับเอกราชในระดับส่วนตัวนั้น เขาอธิบายว่า “ไทยแปลว่า ไม่ขึ้นแก่ใคร แต่ที่ไหนได้ การปกครองก่อนๆ เกิดมีบุคคลใช้อำนาจให้ราษฎรขึ้นในอำนาจเขา แม้แต่ถนนหลวงบางครั้งเราจะเดินขึ้นหน้า หรือแม้แต่จะเคียงข้างเขาขึ้นไปก็ไม่ได้ อาจจะต้องแบกหาม ต้องกราบต้องไหว้ กราบแล้วกราบเล่าอยู่หนักหนา…เอกราชส่วนตัวก็สั้นเข้า” ส่วนเอกราชในทางการเมืองนั้น คือสิทธิอันชอบธรรมที่มีสิทธิมีเสียงในการปกครองนั้น ไม่มีเลย

สำหรับความยุติธรรมในสังคมที่เชื่อว่าคนเราไม่เท่ากันนั้น “เอกราชการศาลนั้นก็แสนเข็ญ ปากกาศาลมักจะแกว่งไปตามอำนาจ”

ในส่วนเอกราชทางเศรษฐกิจ คือ การทำมาหากินของราษฎรก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้มีอำนาจ ผู้มีเงิน หรือคนประสบสอพลอเสียหมด ยิ่งเอกราชภายนอกประเทศด้วยแล้ว ประเทศเราเป็นเอกราชแต่เพียงชื่อเท่านั้น

ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านั้น คณะราษฎรเห็น “การอันทุเรศ” ของระบอบเก่าที่มีต่อราษฎรและประเทศเช่นนี้ พวกเขาจึงสละชีวิตเข้ายึดอำนาจการปกครอง (มงคล, 10-11)

สำหรับความสงบภายในนั้น เขาเห็นว่าการปกครองในระบอบเดิมนั้น “มีบุคคลถืออำนาจ ลูกเจ้านั่น หลานนายนี่ เที่ยวข่มเหงทำร้าย โดยมีผู้ถือหาง หาความสงบไม่ค่อยได้” เขาเห็นว่าคนไทยเกิดมามีบรรพบรุษเดียวกันควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คณะราษฎรจึงสละชีวิตเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประสงค์ให้คนไทยเลิกถือพวก ถือหมู่ ถือข้ามีเจ้า บ่าวมีนายแล้วไล่ข่มเหงกัน เราเป็นพี่น้องกัน เราเป็นคนไทย และเราเป็นมนุษย์ (มงคล, 11-12)

ความสุขสมบูรณ์นั้น คณะราษฎรวางโครงการเศรษฐกิจของชาติใหม่ ไม่ปล่อยให้ราษฎรไม่มีงานทำ อดอยาก ปล่อยให้ผลประโยชน์ตกกับคนร่ำรวย คนฉลาด หรือปล่อยให้มือใครยาวสาวได้สาวเอา รัฐบาลใหม่จะจัดสร้างการคมนาคมที่ดี และหาตลาดให้ประชาชนค้าขาย ให้มีการบำรุงท้องถิ่นในรูปเทศบาล ไม่ใช่ให้ประชาชนจ่ายภาษีแต่ประโยชน์ไม่ตกกลับคืนประชาชน

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและราษฎรในระบอบเก่า

ความเสมอภาคนั้น เขาเห็นว่าความเสมอภาคเป็นหลักพื้นฐานที่ปรากฏในทางศาสนาที่ทุกคนต้องเกิดแก่เจ็บตาย ดังนั้น ทำไมต้องมากล่าวคำว่า “ใต้เท้า ใต้ธุลีตีนอะไรกัน ผู้ที่สำคัญตนว่าตนสูงนั้นฝืนธรรมชาติ นั่นกินของแสลงเข้าไป ความจริงคนเราไม่สูงต่ำกว่ากันเลย” (มงคล, 13-14)

หลักเสรีภาพนั้น ราษฎรทุกคนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต การเดินทาง เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการทำกิน ไม่ให้มีผู้ร่ำรวยที่มีอำนาจเหนืออ้างสิทธิเหนือผู้อื่นที่ยากจน

การศึกษา คณะราษฎรต้องการให้ราษฎรทุกคนมีการศึกษาที่เสมอหน้า ไม่ให้มีการกีดกัน ไม่กีดกันคนยากจน และเอื้อให้แต่คนมั่งมี ลูกเจ้า แต่ทุกคนมีสิทธิในการศึกษาเท่ากัน

ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญให้ราษฎรมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง หรืออำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม ดังนั้น เขาเรียกร้องให้ “ท่านและข้าพเจ้าจะอยู่ได้นานสักเท่าใด แต่ลูกหลานของเราเกิดมาเต็มบ้านเต็มเมืองทุกวัน ท่านจะยอมให้ใครเรียกลูกหลานของท่านว่าไพร่ ว่าหญ้าแผ่นดิน ว่าข้าอีกหรือ? ท่านต้องไม่ยอม ฉะนั้น ท่านต้องรักรัฐธรรมนูญ ท่านต้องกอดรัฐธรรมนูญเข้าไว้…” (มงคล, 18-19)

ด้วย “การปกครองเดิมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ มักเป็นไปตามอำเภอใจของผู้ปกครอง ผู้ใช้อำนาจ อย่างชี้ต้นตายปลายเป็น ผิดถูกอย่างใด เราร้องให้คอแตกก็เปล่าดาย กลับจะเป็นภัยกับตัวด้วยซ้ำ” จากนั้นเขาอธิบายความสำคัญของสภาผู้แทนฯ มีหน้าที่ในการออกหมายและสามารถควบคุมรัฐบาลโดยสภาฯ นั้นหมายถึง ราษฎรสามารถออกกฎหมายควบคุมตนเอง และราษฎรสามารถควบคุมรัฐบาล

ราษฎรรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งระบอบเก่า

เขายกตัวอย่างให้ราษฎรนครศรีธรรมราชฟังว่า “การปกครองเดิมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ รัฐบาลมิได้เป็นของราษฎร ท่านดูสิ เมืองนครฯ ของเรา ถ้าไม่มีใครเสด็จแล้ว หนทางรกเป็นพงเสือ พอเจ้านั่น นายนี่เสด็จ ทั้งกลางวันกลางคืนรีบทำไว้ให้ดู สะอาดสะอ้านอย่างกับเมืองสวรรค์” (มงคล, 29-30)

นอกจากนี้ เขาสรุปถึงคุณูปการของการปกครองระบอบใหม่ว่า รัฐธรรมนูญทำให้ราษฎรมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้อย่างสันติ ต่างจากระบอบเดิมว่า “การปกครองเดิมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ คณะรัฐบาลนั่งเก้าอี้กันจนผุ บางคนนั่งจนเป็นโรคเบาหวาน แล้วแต่จะโปรดทั้งนั้น เกลียดเท่าเกลียด เลวเท่าเลว เลอะเท่าเลอะ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องรบกันฆ่ากันเลือดนองแผ่นดิน” (มงคล, 30)

ภาพการช่วยกันปกป้องรัฐธรรมนูญ และหนังสือปาฐกถาของมงคล รัตนวิจิตร (2477)