ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
ในช่วงท้ายของชีวิต อดีต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ นายตำรวจคนดัง ซึ่งสุขภาพทรุดโทรมเจ็บป่วยหลายโรค เลือกหนทางเข้าหาธรรมมะ บวชเป็นพระพร้อมกับเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว จนสุดท้ายก็เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566 ด้วยวัย 85 ปี
เป็นการรูดม่านปิดฉากชีวิตอดีตนายตำรวจที่มีเส้นทางโชกโชน จากนายตำรวจมือปราบชื่อดัง พิชิตคดีสำคัญๆ หลายต่อหลายคดี จนกลายเป็นผู้ต้องหาและเป็นจำเลย ในคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ จบสิ้นเส้นทางนายตำรวจมือปราบ ในขณะที่ยังเหลืออายุราชการอีก 4 ปี แต่ต้องโดนถอดเครื่องแบบ โดนถอดยศ เป็นนักโทษต้องคำตัดสินประหารชีวิต
หลังถูกจับกุมในคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูก เมื่อปลายปี 2537 พล.ต.ท.ชลอ ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำยาวนานถึง 19 ปี แต่ต่อมาได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ได้ลดโทษลง จนในปี 2556 จึงได้พักโทษ เนื่องจากสุขภาพและวัยชรา ได้ออกจากเรือนจำกลับมาใช้ชีวิตภายนอกตามปกติ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
ทิ้งไว้ซึ่งเรื่องราวชีวิตมากมาย จากนายตำรวจมือปราบกลายมาเป็นมืออุ้มฆ่า
โดยเฉพาะคดีอุ้มฆ่า นางดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งเมื่อโดนเปิดโปงจนกระทั่งมีการจับกุม พล.ต.ท.ชลอ พร้อม พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ รวมทั้งพลเรือนอีกหลายราย
เบื้องหลังของการก่อเหตุ กลายเป็นคดีใหญ่โตจนเรียกได้ว่า เป็นคดีอุ้มฆ่าระดับประวัติศาสตร์ของวงการสีกากีโหด
พร้อมๆ กัน คดี 2 แม่ลูก ก็เป็นข่าวเจาะระดับประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด จนได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมประจำปีของสมาคมนักข่าว หรือที่เรียกว่ารางวัลพูลิตเซอร์เมืองไทย
เพราะเสนอข่าวได้ถูกต้องแม่นยำ ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ จากนั้นขุดคุ้ยได้ประเด็นลึก เป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกเช้ายาวนานหลายเดือน ก่อนที่ขบวนการสีกากีทมิฬจะถูกจับยกโขยง ตรงตามข่าวเจาะของข่าวสด
ตำนานของชลอ เกิดเทศ จึงควบคู่ไปกับตำนานหนังสือพิมพ์ข่าวสดและข่าวเจาะระดับประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปดูตำนานความเป็นนายตำรวจมือปราบของ พล.ต.ท.ชลอ จะพบว่าสร้างผลงานคลี่คลายคดีสำคัญๆ ในอดีตมากมาย คดีสำคัญที่โด่งดังอย่างมาก ย้อนไปเมื่อปี 2532 เหตุการณ์สังหาร “เสี่ยฮวด บ้านบึง” ในวันเช็งเม้ง ที่ชลบุรี และคดีนี้เองทำให้มือปราบชลอ เริ่มปะทะกับเจ้าพ่อผู้ยิ่งใหญ่คนดังที่รู้จักกันดี
เสี่ยฮวด หรือพิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร ถูกทีมมือปืนรุมยิงด้วยอาวุธปืนนานาชนิดนับร้อยนัด เสียชีวิตขณะเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานในชลบุรี โดยพบว่าชนวนเลือดมาจากการที่เสี่ยฮวดชนะประมูลโครงการศรีราชาคอมเพล็กซ์มูลค่ามหาศาล ทำให้เจ้าพ่อคนดังไม่พอใจ จึงกลายเป็นการสั่งฆ่า
เป็นคดีดังสะเทือนขวัญ จนกรมตำรวจต้องส่ง พล.ต.ท.ชลอ ไปคลี่คลายคดี และสืบสาวได้สำเร็จ จับกุมนายตำรวจคนดังของชลบุรี ร.ต.อ.ไชยยันต์ วิชัยดิษฐ ร.ต.อ.จักรกริช ทรงศิริ และชั้นประทวนอีก 3 ราย รวมไปถึงนักฆ่าคนดัง สิบโทโน้ต หรือสมเกียรติ น้อยเล็ก รวมทั้ง “แดง สิงห์ป่าซุง” หรือนายปรีชา สถาวร นักเลงชื่อดัง
จนมาเป็นที่เปิดเผยในภายหลังว่า ผู้ต้องหาที่ร่วมทีมฆ่าคนสุดท้ายที่ยอมเข้ามอบตัวคือ แดง สิงห์ป่าซุง นั้น แท้จริงแล้ว คือกุญแจไขคดีทั้งหมด
โดย พล.ต.ท.ชลอ เริ่มเจาะข่าวในหมู่นักเลง จนรู้ว่า แดง สิงห์ป่าซุง ร่วมในทีมฆ่าด้วย จึงแอบไปอุ้มตัว นำไปขังในเซฟเฮาส์ เพื่อรีดข้อมูลคนร้ายทั้งหมด รวมทั้งเบาะแสต่างๆ จนครบถ้วน แล้วจึงเปิดฉากจับกุม 2 ร.ต.อ.คนดังและผู้ต้องหาอื่นๆ
ส่วน แดง สิงห์ป่าซุง ปรากฏตัวในภายหลัง โดยทำทีติดต่อมอบตัว เพื่อเปิดช่องให้ได้รับการกันตัวเป็นพยาน
แต่ระหว่างที่คดีฆ่าเสี่ยฮวดดำเนินไป ในที่สุด แดง สิงห์ป่าซุง ก็ถูกคนร้ายยิงตาย เหมือนปิดปากพยานเอกนั่นเอง
อาจจะกล่าวได้ว่า การทำงานของตำรวจในอดีต ยังเป็นยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีช่วยในการทำงาน แม้แต่การตรวจพิสูจน์หลักฐาน การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ของตำรวจ ก็ยังล้าหลัง จึงทำให้ตำรวจมือสืบสวนทั้งหลาย ต้องทำงานแบบคาบลูกคาบดอก ใช้วิธีนอกกฎหมายค่อนข้างมาก เช่น พอรู้ว่านักเลงมือปืนคนไหนน่าจะรู้เห็นกับคดี ก็อุ้มตัวไปเข้าเซฟเฮาส์เพื่อรีดข่าว แลกกับการกันตัวเป็นพยาน
หรือจับกุมมือปืนบางคดีมาได้ แต่เห็นว่าคดีไม่ใหญ่ ก็ปล่อยตัวไป เพื่อแลกกับการที่ทำหน้าที่เป็นสายในหมู่โจร
เหล่านี้เองทำให้ตำรวจมือปราบดังๆ หลายราย เริ่มคลุกคลีกับนักเลงโจร จนกลายเป็นหัวหน้าแก๊งหัวหน้าซุ้มโจรไปเสียเอง รวมทั้งทำงานแบบนอกกฎหมายเหมือนโจรเสียเอง
เหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของมือปราบชลอ เกิดเทศ พลิกผันครั้งใหญ่ จากมือปราบกลายเป็นมืออุ้มฆ่า ก็คือ คดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งต้นเรื่องทั้งหมดมาจากการติดตามเพชรซาอุฯ อีกคดีอาถรรพณ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน
เรื่องราวเพชรซาอุฯ เริ่มจากนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยที่ทำงานในวังเจ้าชายซาอุดีอาระเบีย ได้ลงมือขโมยเพชร ทอง อัญมณี ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2532 รวมนับร้อยชิ้น ค่อยๆ ขโมยด้วยการโยนออกทางหน้าต่างไปตกนอกรั้ว แล้วเมื่อกลับที่พัก จะไปตามเก็บเพชรทองเหล่านั้น ทยอยทำไปเรื่อยๆ โดยที่คนในวังเองก็ไม่ผิดสังเกต ก่อนตัดสินใจลาออกกลับไทย ด้วยวิธีการนำเพชรทองซ่อนเอาไว้ในลังแอปเปิล พร้อมกับชั่งน้ำหนักให้พอดีเป๊ะกับลังที่บรรจุผลไม้เต็มตามปกติ
กว่าวังซาอุฯ จะรู้เรื่อง ในปี 2533 จึงประสานมายังตำรวจไทยให้จับคนร้ายที่โจรกรรมเพชร มีการตั้งทีมนำโดย พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ สามารถจับกุมนายเกรียงไกรได้ ให้การรับสารภาพ นำไปตามยึดคืนจากร้านเพชรที่รับซื้อได้แทบทั้งหมด
แต่เมื่อนำของกลางกลับไปส่งมอบให้ซาอุฯ พบว่ามีการปลอมของกลางจำนวนมาก ทั้งนี้ เบื้องหลังเกิดจาก พลตำรวจเอกรายหนึ่ง ซึ่งรอบรู้วงการเพชรทองอย่างดี วางแผนปลอมของกลางให้ดูเหมือนที่สุด จนนำไปสู่การ “อมเพชร”
จากนั้นตำรวจไทยก็ต้องมาตามจับขบวนการอมเพชรอีกรอบ เพื่อเอาของจริงไปคืน แต่สุดท้ายก็ขาดเม็ดสำคัญสุดคือบลูไดมอนด์
นั่นเอง ในปี 2537 มีรัฐมนตรีรายหนึ่ง หารือผู้นำกรมตำรวจ อยากสร้างผลงานฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯ โดยให้ไปตามเพชรเม็ดสำคัญมาให้ได้
พลตำรวจเอกเรียก พล.ต.ท.ชลอ และพลตำรวจโทดังอีกรายมารับมอบงานนี้ โดยไม่คาดคิดว่า พล.ต.ท.ชลอ จะทำเกินเลย โดยเริ่มจากอุ้มลูกเมียเสี่ยสันติไป เพื่อจะบีบเสี่ยสันติผู้รู้ดีเรื่องเพชรเม็ดสำคัญ ให้คายข้อมูลให้ได้ จนสุดท้ายเสี่ยสันติเริ่มรู้ว่าใครอุ้มลูกเมียตัวเอง จึงไปพึ่งรัฐมนตรีคนดังกล่าว ทำให้ทีมอุ้มฆ่ารู้ว่าความลับแตก จึงเป็นแผนฆ่า 2 แม่ลูกเพื่อเก็บความลับ โดยวางแผนเอาตัวจากที่กักขังในสระแก้ว มาทุบตีจนตาย จากนั้นนำร่างใส่รถเบนซ์ แล้วเข็นให้สิบล้อเฉี่ยวชน ในท้องที่แก่งคอย สระบุรี
เพื่ออำพรางเป็นคดีอุบัติเหตุรถชน
แต่ไม่พ้นสายตาทีมเจาะข่าวข่าวสด จึงกลายเป็นข่าวผลงานพูลิตเซอร์ และเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของมือปราบชลอ กลายเป็นมืออุ้มฆ่าไปในที่สุด!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022