ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ด้วยเพราะเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือน แถมมี รมว.กลาโหมพลเรือนอีก จึงทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และการทหารส่วนตัว แบบที่สายตรงได้ตลอดเวลา และถามได้ทุกเรื่อง และมีอำนาจหน้าที่อยู่
ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด จึงกลายเป็น ผบ.เหล่าทัพ ที่นายกฯ เอ่ยชื่อบ่อยที่สุด
แม้จะมีบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ก็ตาม แต่ก็เป็นเสมือนทีมมันสมองบ้านพิษณุโลก ที่รายงานตรงกับหมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ มากกว่า
นอกนั้น นายกฯ ก็จะพูดคุยกับบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม เพราะถือเป็นสายตรงของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ และเป็นแกนนำ ตท.20 สายบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. เพราะก็ถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีตามสูตรรัฐบาลผสมข้ามขั้ว
แต่ส่วนใหญ่นายเศรษฐาจะใช้บริการ พล.อ.ทรงวิทย์ บ่อยครั้ง จนเป็นที่คุ้นชินของสื่อ เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดถึงฝ่ายความมั่นคง เพราะถือเป็นเซ็นเตอร์ของผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วย
และนับวันจะยิ่งมีบทบาทหน้าที่มากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายเศรษฐาระบุถึงการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ในเรื่องการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้นั้น ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกำกับดูแล
หลังเกิดกระแสข่าวการเจรจาต่อรอง ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ในการเลือกหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ คนใหม่ ด้วยเพราะนายเศรษฐาต้องการให้เป็นพลเรือน ขณะที่ฝ่ายทหารต้องการให้อดีตทหารเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข จ.ชายแดนใต้
โดยมีชื่อทั้ง บิ๊กเดฟ พล.อ.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีต ผช.ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแคนดิเดตจากฝ่ายทหาร
จนในที่สุด มาจบลงที่การแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ให้ควบหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ด้วย ตามสเป๊กของนายกฯ ที่ต้องการพลเรือน เพราะต้องการปรับภาพลักษณ์คณะพูดคุย ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลฝ่ายทหาร ซึ่งถือเป็นคู่กรณีกับขบวนการก่อความไม่สงบ และเป็นแนวทางที่ทาง Party B ร้องขอ และทางมาเลเซียก็สนับสนุนว่า อาจทำให้แนวทางการพูดคุยดีขึ้น
แต่เพื่อเป็นการพบกันครึ่งทาง นายเศรษฐาจึงมอบหมายให้ พล.อ.ทรงวิทย์กำกับดูแล เพื่อลดความหวาดระแวง ที่ฝ่ายทหารเกรงว่า หากหัวหน้าคณะเจรจาเป็นพลเรือน จะอ่อนเกินไปที่จะต่อกรกับขบวนการ BRN หรือกลุ่มอื่น
และให้มีตัวแทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมในคณะพูดคุย ที่มีเลขาธิการ ศอ.บต. และตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และ สมช. ที่คาดว่าจะตั้ง พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นผู้แทน เพราะเคยเป็นคณะพูดคุยมาอยู่แล้ว
ทั้งนี้เพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ เคยลงไปปฏิบัติหน้าที่ในชายแดนภาคใต้มาเป็นปี รวมทั้งนายเศรษฐามอบหมายให้ประสานกับทางการมาเลเซีย ในการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยในอิสราเอลด้วย เพราะมีคอนเน็กชั่นทางทหาร
จึงทำให้นายกฯ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รวม 12 คน มีนาย ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน และมี พล.อ.ทรงวิทย์ คนเดียวที่เป็นคณะกรรมการ ร่วมคณะกับหมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และปลัดกระทรวงการคลัง, พลังงาน, พาณิชย์, ต่างประเทศ, เลขาธิการ สมช. เป็นต้น
อีกทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์ เป็น ผบ.เหล่าทัพ คนเดียวในบอร์ดสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
บทบาทของ พล.อ.ทรงวิทย์ จึงถูกจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐาพูดถึงบ่อยๆ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และชายแดน
แม้แต่การสั่งการให้ร่วมคณะนายปานปรีย์ เดินทางไปอิสราเอล ไปรับตัวประกันคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจากกลุ่มฮามาส จนสื่อออกข่าวว่า พล.อ.ทรงวิทย์ เดินทางไปอิสราเอลแล้ว
แต่ พล.อ.ทรงวิทย์ อยู่ระหว่างการลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยในภาคเหนือ และมีกำหนดประชุม ผบ.เหล่าทัพ ครั้งแรกด้วย จึงแจ้งนายกฯ ว่า ขอส่ง พล.อ.ท.ดร.วชิระ เริงฤทธิ์ เจ้ากรมข่าวทหาร ไปแทน เพื่อเก็บข้อมูลมาประเมินสถานการณ์
ถือเป็นการทำงานแบบ 2+2 คือ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ในการร่วมกันทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ถือเป็นระบบสากล
ความสัมพันธ์ระหว่างนายเศรษฐา กับ พล.อ.ทรงวิทย์ จึงยิ่งทำให้ถูกโฟกัส และถือเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์กองทัพกับรัฐบาล ในยุครัฐบาลผสมข้ามขั้ว จนทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นเสมือนที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงส่วนตัวของนายกฯ เลยทีเดียว
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ทั้งคู่รู้จักกันมาก่อน เพราะรู้จักกันและเล่นกีฬาในโปโลคลับมาด้วยกัน ชอบเล่นฟุตบอล และเป็นแฟนหงส์แดง ลิเวอร์พูลเหมือนกัน แถมยังคุยกันถูกคอ สไตล์นักเรียนนอก
แต่ยิ่งนายกฯ พูดถึง พล.อ.ทรงวิทย์ มากเพียงใด ประมาณว่า อะไรๆ ก็ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ทรงวิทย์ ก็ยิ่งพยายามจะลดบทบาทตัวเองลง โดยงดให้สัมภาษณ์สื่อ และไม่ออฟไซด์
โดยยึดหลักการที่ฝ่ายทหารจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ออกหน้า
บทบาทเด่น และใกล้ชิดนายกฯ ทำให้มีการจับตามองถึงบทบาทของ พล.อ.ทรงวิทย์ ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร โดยเฉพาะการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพพร้อมกันอีกครั้งในปีหน้า เพราะทั้งบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. จะเกษียณราชการ ไม่นับรวมบิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.
โดยที่ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นเตรียมทหาร 24 จึงทำให้มีแนวโน้มว่า นายทหาร ตท.24 แคนดิเดต ผบ.เหล่าทัพ จะเข้าวิน ไม่ใช่แค่เพราะความสามารถ แต่เพราะมีกองหนุนทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์ และบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เป็น ผบ.เหล่าทัพ ที่จะยังอยู่ในตำแหน่ง เพราะเกษียณกันยายน 2568 พร้อมกัน
ด้วยหลายเหตุผล จึงทำให้ ตท.24 บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. กลายเป็นเต็งหนึ่ง หลังจากที่บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. รุ่นน้อง ตท.26 เคยเป็นเต็งหนึ่งมาตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1
แม้ พล.อ.ธราพงษ์ จะไม่เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ผิดธรรมเนียม ทบ. ที่ ผบ.ทบ.ต้องมาจากแม่ทัพภาค โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 มาก่อน และเป็นทั้งผู้พัน ผู้การ ผบ.พล.ร.2 รอ. ตามสเป๊ก และเป็นทหารคอแดง สายบูรพาพยัคฆ์
แม้จะถูกโยงว่า เป็นสายบูรพาพยัคฆ์ บ้านป่ารอยต่อฯ ก็ตาม แต่ปัจจัยชี้ขาดตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่ต้องควบ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย จึงไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายการเมือง
เพราะเริ่มมีการถกเถียงกันในกองทัพเอง เรื่องรุ่น ที่ควรให้รุ่นพี่ ตท.24 ขึ้นก่อนหรือไม่ แต่หากให้พี่ขึ้น แล้วน้องต้องเกษียณไปพร้อมกัน หรือเหลือเวลาทำงานน้อยก็ตาม เช่น หากให้ พล.อ.ธราพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็จะนั่ง 2 ปี เกษียณ 2569 ส่งผลให้ พล.อ.พนา เหลืออายุราชการแค่ปีเดียว เกษียณกันยายน 2570
ขณะที่ ทร. ทำให้ เสธ.น้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ.ทร. ที่เป็น ตท.24 กลายเป็นตัวเต็งที่เฟรชสุด เพราะเพิ่งเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.ครั้งนี้ เป็นปีแรก และถือเป็นตัวเลือก 1 ใน 2 ของ พล.ร.อ.อะดุง
โดยมี บิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผช.ผบ.ทร. รุ่นพี่ ตท.23 เพื่อนสนิท พล.ร.อ.อะดุง ผบ.ทร. เป็นเต็งสอง และคาดว่า บิ๊กดุงจะพยายามผลักดันเพื่อนเป็นเฮือกสุดท้าย โดยมีพลังของอดีต ผบ.ทร. และสายบ้านป่ารอยต่อฯ
หาก พล.ร.อ.ชลธิศ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเรือดำน้ำจีน สามารถเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนต่อได้สำเร็จ ไม่ถูกรัฐบาลยกเลิก หรือเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต เพราะมีแนวโน้มว่า ทร.จะผนึกกำลังกับจีน ในการต่อเรือดำน้ำจีนให้สำเร็จ โดยสามารถเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีนได้ ดังนั้น จึงจะเป็นผลงานสำคัญของ พล.ร.อ.ชลธิศเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ต้องรอการวินิจฉัยของอัยการสูงสุดก่อน ที่คาดว่าจะเป็นใบเบิกทางให้กองทัพเรือเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนต่อไปได้
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า ทางกองทัพเรือก็พยายามดูแลเอาใจ และเจรจากับนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมพลเรือน เพื่อเป็นกองหนุนสำคัญ ทั้งเรือดำน้ำจีนและ ผบ.ทร.คนต่อไป
ขณะที่ บิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. รุ่นน้อง ตท.25 ที่เกษียณ 2568 พร้อมรุ่นพี่ๆ เป็นเต็งสาม ด้วยเพราะโยกย้ายครั้งก่อน เคยชิง ผบ.ทร. กับ พล.ร.อ.อะดุง มาจึงจะไม่ใช่ตัวเลือกของบิ๊กดุงแน่
แต่ ตท.25 ก็ยังมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เป็นแกนนำ ซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนายเศรษฐาไม่น้อย แม้พลังจะไม่มากนักในกองทัพ อีกทั้งเป็นเรื่องของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เสียมากกว่าก็ตาม
นอกจากนั้น นายตำรวจ ตท.24 บิ๊กรอย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ก็กำลังจะข้ามมาเป็นเลขาธิการ สมช. แต่รอขั้นตอนการย้ายโอน ข้ามจาก สตช. มาสำนักนายกฯ การมีหนังสือยินยอม ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ และการกราบบังคมทูลลาออกจากการเป็นราชองครักษ์ เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ สมช. เหมือนกรณีที่บิ๊กหลวง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ต้องย้ายโอนมาเป็นเลขาธิการ ป.ป.ส.นั่นเอง โดยไม่ได้มีความขัดแย้งใดใน สตช.
ดังนั้น พลังของ ตท.24 จึงแรง และมีโอกาสที่จะยึด ผบ.เหล่าทัพทุกตำแหน่ง เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.
ไม่ว่า พล.อ.ทรงวิทย์ จะพยายามโลว์โปรไฟล์ ลดบทบาทตัวเอง ไม่ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างไรก็ตาม แต่ดวงไฟก็ยังฉายส่อง ในฐานะหัวหอกของ ตท.24 เคียงคู่กับนายเศรษฐานั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022