ก้าวไม่สุดซอย ‘ธนาธร’ ขอถอยจากสมการ ‘นิรโทษฯ’

บทความในประเทศ

 

ก้าวไม่สุดซอย

‘ธนาธร’

ขอถอยจากสมการ ‘นิรโทษฯ’

 

“ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดปฏิบัติการเงียบ เข้าไปจับเข่า ขอพบปะพูดคุยกับแกนนำนักเคลื่อนไหวฝ่ายอนุรักษนิยม ปัญญาชนฝ่ายจารีต ตั้งแต่ระดับ “ซอฟต์” ไปจนระดับ “ฮาร์ด” แลกเปลี่ยนสอบถามท่าทีทางการเมือง กรณีการจะผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศไทย จากวิกฤตการเมืองที่บานปลายมา 2 ทศวรรษ

ความมาแตก หลังชัยธวัชเข้าพูดคุยกับ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือที่รู้จักกันในนาม “พุทธะอิสระ” อดีตแกนนำ กปปส.สายแข็ง ที่ตั้งกล้องถ่ายทอดการพูดคุยออกมาเผยแพร่

ถูกขยาย “ความ” ด้วยสื่อฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล ในลักษณะเย้ยหยัน หัวหน้าพรรคก้าวไกลถูกพุทธอิสระสั่งสอนจนหน้าเจือนในช่วงแรก กระทั่งกลายเป็นข่าวดังเมื่อสื่อกระแสหลักนำไปเผยแพร่

ชัยธวัชจึงได้ออกมาเปิดเผยเบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้ว่าต้องไปพบกับคนที่ไม่ชอบหน้าพรรคก้าวไกลนัก เพื่ออะไร? ทำไปทำไม?

เขายอมรับว่าเรื่องใหญ่ทางการเมืองขณะนี้หนึ่งเรื่องคือ นิรโทษกรรม เพราะวิกฤตการเมืองไทยกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ประเทศไทยไม่พัฒนาเดินหน้าไปไหน

ในอดีตเรามีความขัดแย้งทางการเมืองกัน รุนแรงขนาดจับปืนขึ้นสู้ ฆ่าฟันกัน ทำสงครามกลางเมืองต่อกัน ก็ยังเคยนิรโทษกรรมให้กันมาแล้ว ทำไมการขัดแย้งที่เกิดจากความคิดทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ที่บานปลายมาจนถึงวันนี้ จะนิรโทษกรรมให้กันไม่ได้

เป็นมูฟเมนต์ที่น่าจับตาของก้าวไกลภายใต้การนำของชัยธวัช

 

แต่มีเรื่องหนึ่ง ระหว่างการสัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอของชัยธวัช กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางช่อง 3 เขาพาดพิงถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หลายครั้งเกี่ยวกับประเด็นนี้

สรุปคือ การเดินหน้าผลักดันการนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลขณะนี้ เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีการเดินเกมเพื่อออกกฎหมายล้างคดีให้กับแกนนำพรรคอนาคตใหม่เดิม

รูปธรรมก็คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จะเขียนเงื่อนไขเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางคดีจะสามารถยื่นขอไม่รับสิทธิในการนิรโทษกรรมได้

ซึ่งทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และคนอื่นๆ ในอดีตพรรคอนาคตใหม่ จะเดินทางไปยื่นหนังสือขอปฏิเสธการรับสิทธินี้ทันที

เหตุผลที่ชัยธวัชระบุก็คือ ธนาธรและแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่ต้องการให้ถูกครหาว่าหวังพึ่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผลักดันโดยพรรคก้าวไกลเพื่อให้ตนเองพ้นจากการพิจารณาคดี

บทเรียนการผลักดันการพิจารณาการนิรโทษกรรมเมื่อคราวปี 2556 ก็เคยพบจุดจบด้วยเหตุผล จนกลายเป็นวิกฤตข้ออ้างการประท้วง กปปส. กระทั่งทหารเข้ามายึดอำนาจ

 

อันที่จริง ธนาธร หรือปิยบุตรเอง ในฐานะหนึ่งในผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า มีจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจนมานานแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นคราวการเลือกตั้งปี 2562 ก็เคยประกาศหากได้เป็นรัฐบาลจะนิรโทษกรรมคดีการเมืองยุค คสช.ทั้งหมด

ขณะที่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2565 พรรคก้าวไกลได้แถลงเปิดนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมือง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคในขณะนั้นก็แถลงระบุ การดำเนินการทั้งหมด นายธนาธรและนายปิยบุตร อาจไม่เข้าร่วมการนิรโทษกรรม เพื่อปิดช่องการโจมตี

จุดยืนล่าสุดเรื่องนิรโทษกรรมของปิยบุตร ยิ่งชัดเจน เมื่อคราวการรวมเสียงเซ็นเอ็มโอยูตั้งรัฐบาลที่นำโดยก้าวไกล คราวนั้นมีการตัดเรื่อง 112 และนิรโทษกรรมออกจากข้อตกลงตั้งรัฐบาล จนนายปิยบุตรต้องออกมาตั้งคำถามดังๆ ว่าไม่เห็นด้วย หากไม่ทำก็แก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไม่ได้

นั่นคือ การนิรโทษกรรมคือหลักยึด คือโครงการทางการเมืองที่สำคัญ คือมรดกทางความคิดของพรรคอนาคตใหม่ส่งต่อมาถึงพรรคก้าวไกลมานานแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

 

การเดินทางไปพบพุทธะอิสระของชัยธวัชจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ดังคำกล่าวของชัยธวัชในการให้สัมภาษณ์ว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังความเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คิดต่างจากพรรคก้าวไกล ต้องฟังเสียง มุมมอง ความเห็น ข้อเสนอแนะ มากกว่าฝ่ายที่คิดตรงกันด้วยซ้ำ

มิฉะนั้น การนิรโทษกรรมก็ไม่สำเร็จ หรือนิรโทษกรรมแล้ว ปัญหาก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม เพราะไม่ได้ถูกแก้จนถึงต้นตอของปัญหา

ชัยธวัช ยอมรับในการให้สัมภาษณ์อีกว่า เขาเดินสายไปพูดคุยกับปัญญาชนฝ่ายจารีตอนุรักษนิยมมาแล้วหลายคน แต่ที่เพิ่งเป็นข่าวคือพุทธะอิสระ ซึ่งการไปพบพุทธะอิสระ ก็นับว่าเป็นการสร้างบรรยากาศอันดีในเบื้องต้น

โดยส่วนใหญ่มีจุดยืนตรงกันคือคัดค้านการนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับมาตรา 112

 

ทันทีที่มีข่าวเรื่องนี้ก็มีจุดยืนทางการเมืองจากพรรครัฐบาลตามมาติดๆ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกตัวขอให้สรุปมา อะไรที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลนี้ทำได้ก็จะทำ ส่วนถ้ายังไม่สรุป อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ก็ยังไม่อยากจะทำ เพราะไม่อยากสร้างความขัดแย้งใหม่

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ถ้าไม่เกี่ยวกับ ม.112 และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก ก็เห็นด้วย

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวสนับสนุนการนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่ใช่คดีในกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นเดียวกับท่าทีของภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรค ย้ำจุดยืนว่า มาตรา 112 แตะไม่ได้

เป็นอันชัดเจนว่า ขั้วการเมืองฝ่ายอำนาจเก่า ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมไทย และพรรคเพื่อไทย มีจุดยืนไปในทางเดียวกันคือ พร้อมโอบรับการนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล แต่ต้องไม่แตะคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112

 

หากย้อนดูจุดยืนการตั้งรัฐบาลชุดนี้ก็ชัดเจนว่าประเด็นหลักสำคัญอันหนึ่งที่ทุกพรรคประกาศก็คือจุดยืนเรื่อง 112 ทำให้ท้ายที่สุด ก้าวไกลซึ่งชนะเลือกตั้งถูกโดดเดี่ยวให้มาเป็นฝ่ายค้านนั่นเอง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 262 คน ใน 285 คดี โดยคดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาแล้วจำนวนอย่างน้อย 57 คดี

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงผลักดันเรื่องนี้อย่างหนัก เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันมีประชาชนหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีนี้นั่นเอง

จุดตัดสำคัญของเรื่องนี้ในการพิจารณาจุดยืนเรื่องนิรโทษกรรมจึงอยู่ที่ว่า เราจะมองปรากฏการณ์คดี 112 ในแง่มุมของกฎหมายหรือการเมือง

หากมองเป็นกฎหมาย คดี 112 ก็จะเป็นการดำเนินคดีอาญา คดีความมั่นคงตามปกติ แต่หากมองในแง่ไทม์ไลน์สายธารการเมืองที่ขัดแย้งเกี่ยวเนื่องกันมาเกือบ 2 ทศวรรษ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการเมือง ที่จะต้องมีการพูดคุย หารือกัน หลักการอยู่ตรงนี้

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยมีการปรองดอง การนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้ง ชัดๆ ก็เช่นสมัยหลังเหตุการณ์ป่าช่วงทศวรรษ 2510-2520 ที่นิรโทษกรรมให้กับนักเคลื่อนไหวฝ่ายสังคมนิยม ฝ่ายประชาธิปไตย

ส่วนการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายทหาร คณะรัฐประหาร ยิ่งเกิดขึ้นมาตลอด ทุกๆ ครั้งที่มีการยึดอำนาจ รวมถึงการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ด้วย

ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการพูดคุยกันเรื่องปรองดอง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา นำโดย นายคณิต ณ นคร เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งครานั้น คณะกรรมการดังกล่าวเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงแก้ปัญหาการบังคับใช้ด้วย

เรื่องนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการเมืองและคดี 112 จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าใคร

 

แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้ดุลการเมืองเปลี่ยน พรรคเพื่อไทยหันจับมือกับขั้วอำนาจเก่า พลังอนุรักษนิยมยอมแชร์อำนาจรัฐให้เพื่อไทยระดับหนึ่ง หากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำในการเดินหน้าตั้ง คณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ทุกอย่างจะง่าย ปิดดีลรวดเร็ว

เมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นแบบเดิม การเดินหน้านิรโทษกรรมแบบที่ธนาธรและพรรคก้าวไกลฝัน จึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ภายใต้อำนาจรัฐที่เป็นอยู่ขณะนี้

ซึ่งจริงๆ ธนาธรและพรรคก้าวไกลก็เข้าใจเรื่องนี้ดี การถอยออกจาก “สมการนิรโทษฯ” ก็เป็นหนึ่งในการต่อสู้ในสมรภูมิความคิด โดยหวังจะลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การคัดค้านและสร้างฐานการสนับสนุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั่นเอง