อิทะกะ คอร์แนล ชุมนุมมังกร ซ่อนพยัคฆ์ แห่ง U.S.A.

บทความพิเศษ

 

อิทะกะ คอร์แนล

ชุมนุมมังกร ซ่อนพยัคฆ์

แห่ง U.S.A.

 

ในห้วงที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินทางไป “เมด อิน U.S.A.” นั้นเป็นตอนปลายของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

ในตอนนั้น มหาวิทยาลัยคอร์แนลมีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 13,000 คน และมีนักศึกษาไทยที่กำลังเรียนทั้งขั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกอยู่ประมาณ 30 คน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุด้วยว่า ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยคอร์แนล

นอกจากสาขาวิชาการอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าให้การศึกษาทางด้านประเทศต่างๆ แถบเอเชียอาคเนย์ดีที่สุดแห่งหนึ่งด้วย รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยที่เรียกกันเป็นภาษาฝรั่งว่า-ไทยแลนด์ โปรเจ็กต์

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ชื่อว่ามีหนังสือภาษาไทยในห้องสมุดให้นักศึกษาได้ค้นคว้ามากที่สุดและดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา

คุณทัศนีย์ รมิตานนท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสั่งหนังสือจากเมืองไทยเป็นผู้ยืนยัน

 

ทัศนีย์ รมิตานนท์

จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จริงซีคะ ห้องสมุดเฉพาะภาษาไทย มีหนังสือทั้งวิชาการและบันเทิงเริงรมย์ทั่วๆ ไปประมาณ 60,000 เล่ม

ดิฉันจบจากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รับราชการได้ปีเศษก็ติดตามสามีมาอยู่ที่นี่เพราะสามีกำลังทำปริญญาเอกทางมานุษยวิทยา

ส่วนดิฉันไม่ได้เรียน ได้งานทำเป็นเจ้าหน้าที่สั่งหนังสือไทยค่ะ

ปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยมีสัญญาอยู่กับห้างนิพนธ์เป็นผู้จัดหนังสือส่งให้ประจำ แต่ในกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเมืองไทยและนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับเมืองไทยต้องการหนังสืออื่นๆ เพิ่มเติมดิฉันก็จะเป็นผู้ติดต่อสั่งโดยตรง

และคอยติดตามดูในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าจะมีหนังสืออะไรออกใหม่บ้าง

เช่นเมื่อวันก่อนก็สั่งรับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ชื่อ “เดอะ เนชั่น” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กของนักเขียนปัจจุบัน เช่น คุณนพพร บุณยฤทธิ์ บรรณาธิการของคุณ และคุณขรรค์ชัย บุนปาน เพื่อนของคุณนั่นแหละ

ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และหนังสือกำลังภายในของ ว. ณ เมืองลุง

 

จาก ประวัติศาสตร์

ถึง ศิลปวัฒนธรรม

ทางมหาวิทยาลัยไม่กำหนดว่าจะเป็นหนังสือประเภทใดเพราะหนังสือทุกชนิดที่เกิดขึ้นมาย่อมแสดงให้เห็นสภาพสังคมของบ้านเราได้ทั้งนั้น

แต่หนังสือหลักของเราก็สั่งมาก

เป็นต้นว่าหนังสือทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น นอกจากนั้นก็หนังสือที่หน่วยราชการหรือเอกชนพิมพ์ออกแจกจ่ายทางคอร์แนลก็เอา

ดิฉันพยายามติดต่อ ทั้งขอซื้อบ้าง แลกเปลี่ยนกับหนังสือคอร์แนลบ้าง ขอกันฟรีๆ บ้าง

ทางห้องสมุดเก็บหนังสือที่พิมพ์เนื่องในงานศพไว้มากที่สุด เพราะประโยชน์ของหนังสืองานศพนั้น นอกจากเนื้อหาของเรื่องที่ตีพิมพ์แล้ว ประวัติของผู้ตายยังเป็นประโยชน์อีกด้วยสำหรับผู้ตายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคม

ยิ่งฟังจาก สมจิตต์ อินทปัต ยิ่งช่วยให้เปิดโลกสว่างไสวขึ้น

 

ท.เลียงพิบูลย์

หนังสือ งานศพ

แนวโน้มความสนใจในการพิมพ์หนังสืองานศพไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก หมวดวิชาสังคมศาสตร์ยังเป็นหมวดที่เจ้าภาพงานศพสนใจพิมพ์กันมาก

นอกจากนั้น หมวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย

ส่วนเรื่องที่นำมาตีพิมพ์แจกกันบ่อยที่สุดมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา วรรณคดีไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปะของไทย

เรื่องของ ท.เลียงพิบูลย์ ได้รับการตีพิมพ์เกือบ 60 ครั้ง

และเรื่องของ “สุนทรภู่” ได้รับการตีพิมพ์ประมาณ 40 ครั้ง ส่วนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เลยส่วนมากเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ

ทางด้านวิทยาศาสตร์เริ่มมีการตีพิมพ์กันบ้างแล้ว

หนังสืองานศพน่าจะมีการจัดระบบให้รัดกุมมากกว่าปล่อยอิสระในการจัดพิมพ์ ในกรณีที่เจ้าภาพขอเรื่องจากกรมศิลปากร เช่นว่าเรื่องในเล่มควรจะมีเพียงเรื่องเดียว แต่ถ้าจะมีหลายเรื่องก็ควรจะเป็นเรื่องในสาขาวิชาการเดียวกัน

ไม่ควรตีพิมพ์เรื่องเดียวกันซ้ำกันบ่อยๆ เพราะวิชาการทางด้านอื่นๆ และหนังสือเก่าๆ ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์

ยิ่งเมื่อรับฟังความเห็นจากนักเรียนกฎหมาย นักเรียนรัฐศาสตร์ยิ่งน่าสนใจ

 

ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง

รณชัย ศรีสุวรนันท์

“เอาเป็นว่าผมเรียนด้วยทุนส่วนตัวก็แล้วกัน” ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อายุ 27 เรียนกฎหมายขั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยไมอามีพูดขึ้น

“แต่กลับไปนี่ก็ตั้งใจจะสอบเข้ารับราชการ

จะสำเร็จหรือไม่นั้นคุณก็คงรู้ดีว่าประเทศไทยคงจะไม่มีทางก้าวหน้าไปในทางที่ดี และผมก็คิดว่าตัวผมคงจะไม่เป็นอย่างที่คุณเห็นว่านักเรียนนอกเขาเคยเป็นไปในทางที่ไม่ดี”

นั่นเป็นความเห็นจาก ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เมื่ออายุ 27

“ครับ สำหรับผมนั้น เป็นทหารร้อยเปอร์เซ็นต์” ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ อายุ 28 อาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.

“ผมมาเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดครับ

ไม่ใช่มาเรียนวิชาเป็นร้อยเอกอย่างที่คุณว่า ทหารโง่ๆ ผอมๆ อย่างผมจะเป็นใหญ่เป็นโตอย่างไรได้ นอกจากกลับไปสอนหนังสือที่โรงเรียนนายร้อยจนกว่าจะแก่ตาย ผมสังกัดทหารม้ายานเกราะ เป็นกองทัพช้างสมัยโบราณครับ”

ผลในอีกหลายสิบปีต่อมาเป็นอย่างไร สำหรับ ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ สำหรับ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ย่อมมี “คำตอบ” เพียงแต่จะ “ตอบ” หรือไม่เท่านั้น

 

เส้นทาง จอมยุทธ์

อดีต มาสู่ ปัจจุบัน

ความน่าสนใจเป็นอย่างมาก บัณฑร อ่อนดำ เรียนจนได้ปริญญาเอกกลับไปเป็นอาจารย์ตามที่คาดหวังไว้

แต่ที่ “งอก” มา คือ บทบาทกับ “คนจน”

ต้องยอมรับว่า บัณฑร อ่อนดำ ทำงานใกล้ชิดอยู่กับการเคลื่อนไหวของ “คน” มาอย่างต่อเนื่อง

ได้เห็นและรับรู้ต่อวิถีแห่ง “สมัชชาคนจน”

ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เข้ารับราชการที่กรมอัยการกระทั่งยกระดับพัฒนาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด

น่าสนใจที่ได้เข้าไปมีบทบาทร่วมกับ “มวลมหาประชาชน”

เป็นมวลมหาประชาชน “กปปส.” ที่แสดงบทบาทอย่างคึกคักในการดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร”

เป็นคนหนึ่งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ไว้วางใจ

ไว้วางใจกระทั่งเมื่อจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ แม้กระทั่งเมื่อมีการตัดประชาชาติไทยออกไปคงเหลือเพียง “รวมพลัง”

ยิ่ง ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ ยิ่งมากด้วยความระทึกใจ

 

พลัง แห่ง หนังสือ

แม่เหล็ก แท่งมหึมา

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้นักศึกษาปริญญาโทในทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยไมอามี นักศึกษาปริญญาโทในทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดตัดสินใจเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยคอร์แนล

นั่นเพราะพลังแห่ง “หนังสือ” พลังแห่ง “เอกสารข้อมูล” ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนลมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

การสนทนากับนักมานุษยวิทยา การสนทนากับนักกฎหมาย การสนทนากับนักการทหาร

ทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ปะทะเข้ากับ “วิวาทะ” อันร้อนแรง

เป็นความร้อนแรงต่อบทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม เป็นความร้อนแรงต่อบทบาทของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดินทางไปทำสันถวมิตรอันสนิทสนมกับจีนถึงมหานครปักกิ่ง

นี่ย่อมเป็นการ “ช็อก” ครั้งใหญ่ต่อความรับรู้ทางการเมืองจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ