เกิดเป็น ‘สื่อมวลชน’ ยุคนี้

ในโลกยุคที่บทบาทสื่อสาธารณะเปิดทางให้ทุกคนเป็นตัวแสดงได้เต็มที่ ผ่านแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่เกิดขึ้นหลากหลาย และเปิดเวทีให้อย่างกว้างทั้งอิสระในเนื้อหา และรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจ

คล้ายกับเป็นพัฒนาการที่ดี ด้วยความหลากหลายนั้นควรจะสร้างการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และการตรวจสอบที่ด้วยหูตาที่มากขึ้น

เพียงแต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ เป็นเช่นนั้นหรือไม่ โอกาสในการแสดงบทบาทที่กว้างขวางและง่ายดายขึ้น เป็นคุณภาพการสื่อสารจริงหรือ

ในความเป็นจริงอีกมุมหนึ่งคือ สื่อออนไลน์ได้เปิดช่องทางให้ “มิจฉาชีพ” ทำมาหากินกันคึกคักยิ่ง “ขบวนการหลอกลวง ฉ้อโกง” เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เหล่าคนชั่วร้ายสร้างรายได้มหาศาลด้วยช่องทางนี้

 

ในอีกมุมที่น่าสนใจอย่างมากคือ เป็นที่รับรู้กันว่า “สื่อมาตรฐาน” หรือที่สร้าง “ความน่าเชื่อถือ” จนเป็น “หนึ่งในสถาบันหลัก” ในการทำหน้าที่เพื่อคุณภาพของประเทศ ถูกดิสรัปต์ หรือเข้ามาทดแทนจาก “สื่อออนไลน์” จนต้องหาทางประคองตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้อย่างยากเย็น

ทั้งๆ ที่การขยายตัวในเชิงปริมาณ ได้ก่อปรากฏการณ์ที่ชวนให้กังวลไม่น้อยต่อ “การใช้สื่อเป็นเครื่องมือ” เพราะโลกของสื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้า “ผู้รับผิดชอบ” ว่าใครเป็นใคร ให้สามารถตรวจสอบกลับได้ เช่นเดียวกับที่ใช้จัดการกับ “สื่อมาตรฐาน”

การโลดแล่น นำเสนอข้อมูล ความคิดความเห็น ชักธงเชียร์ หรือการโจมตีให้ร้ายมาจากแหล่งที่ “ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร” หรือ “มีผลประโยชน์อะไรอยู่เบื้องหลัง”

เกิดธุรกิจ “ไอโอ” รับจ้างโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งที่ทำกันเป็น “ขบวนการ” และ “ส่วนตัว”

จนสิ่งที่เรียกว่า “จรรยาบรรณ” อันหมายถึง “จริยธรรมที่ต้องมีของสื่อมวลชน” เพื่อรักษา “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งเป็น “หัวใจของอาชีพ” ไว้ ถูกทำลายเละเทะ ด้วย “สื่อที่ไม่เปิดหน้าแสดงตัว” ไม่เห็นความจำเป็นต้องมี “หัวใจ” แบบนั้น

แต่ปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าคือ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชน คนส่วนใหญ่กลับเหมารวมเอา “สื่อมาตรฐาน” กับ “สื่อไม่เปิดหน้าแสดงตัว” เหล่านี้ไว้ด้วยกัน

ไร้การแยกแยะ กลายเป็น “ปลาข้องเดียวกัน” ที่ตายตัวเดียว เหม็นไปทั้งวงการ

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “สื่อไหนเป็นกลางยกมือขึ้น”

ในคำถามถึง “ความคิดเห็นต่อการทำข่าวหรือรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยปัจจุบัน”

ร้อยละ 38.9 บอกเพื่อปั่นกระแส/สร้างดราม่า,
ร้อยละ 33.59 เห็นว่าลำเอียง,
ร้อยละ 30.69 บอกทำโดยไม่มีการตรวจสอบความเป็นจริง,
ร้อยละ 30.23 เห็นว่าทำเพื่อประโยชน์ของธุรกิจขององค์กรตัวเอง,
มีร้อยละ 25.34 มองว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน,
ร้อยละ 21.83 เห็นว่าไม่ลำเอียง, ร้อยละ 20.08 เชื่อว่าทำจากข้อมูลจริงที่น่าเชื่อถือ,
ร้อยละ 17.63 บอกไม่รับผิดชอบ หากมีความผิดพลาดในการนำเสนอ,
ร้อยละ 14.81 เห็นว่าไม่สุจริตในสิทธิของคนอื่น,
ร้อยละ 13.82 เห็นว่าสร้างความแตกแยก เกลียดชังในสังคม,
ร้อยละ 11.07 เห็นว่าทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง,
ร้อยละ 10.76 มองว่ามีความรับผิดชอบ หากมีความผิดพลาดในการนำเสนอ,
ร้อยละ 10.00 เห็นว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ,
ร้อยละ 9.47 เห็นว่าทำแต่ข่าวที่เป็นความจริง,
ร้อยละ 6.34 เห็นว่าเพื่อสร้างความสามัคคีในสังคม
และร้อยละ 0.38 ไม่ตอบ

ชัดเจนว่าสัดส่วนของคนที่มีมองบทบาทสื่อมวลชนไปในทางที่เลวร้ายนั้นมากกว่าในสัดส่วนที่หากเป็นก่อนหน้านั้น เมื่อดัชนีชี้วัด “ความน่าเชื่อถือ” อันเป็น “หัวใจของอาชีพ” ออกมาแบบนี้ “สื่อมวลชนมาตรฐาน” จะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จะต้องออกมาทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเกิดขึ้นอะไรขึ้น

แต่ถึงวันนี้ เพราะเข้าใจถึงการเหมารวม และมองไม่เห็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจสักเท่าไร เนื่องจากการแยกแยะเป็นเรื่องเลยพ้นจากการร้องขอ

ได้แต่ยอมรับชะตากรรมจากการกระทำที่ตัวเองพยายามหลีกเลี่ยง