เทศมองไทย : แค่ปลดล็อก “ไอพี-พีดับเบิลยูแอล” ยังไม่เพียงพอ

ข่าวดีสำหรับแวดวงการค้าและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทยส่งท้ายในเดือนธันวาคมนี้ ก็คือการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ยกระดับประเทศไทยพ้นจากหนึ่งในประเทศที่ต้อง “จับตามองเป็นพิเศษ” หรือ “ไพรออริตี้ วอตช์ ลิสต์-พีดับเบิลยูแอล” ในการจัดหมวดหมู่ประเทศว่าด้วยการละเมิด “สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “ไอพี”

“พีดับเบิลยูแอล” เป็นหมวดหมู่ของประเทศที่สหรัฐอเมริกามองว่าเป็นชาติที่ล่วงละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุดของโลก มีรวมแล้วกว่าสิบประเทศ

การหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ ถือเป็นการ “ยอมรับ” และ “ตระหนัก” ในความพยายามเพื่อปรับปรุงการให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและการดำเนินการในทางปฏิบัติเพื่อการนั้นของไทย

 

โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ประกาศเรื่องนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังยูเอสทีอาร์เสร็จสิ้นการทบทวนการดำเนินการด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าของอเมริกาที่เรียกว่า “สเปเชียล 301 รีวิว” ซึ่งเป็นการดูว่า แต่ละประเทศดำเนินการสอดคล้องกับความในมาตรา 301 ในรัฐบัญญัติการค้าของสหรัฐอเมริกา (ยูเอส เทรด แอกต์) มากน้อยเพียงใด

“เรายินดีต่อการดำเนินการเพื่อแก้ไขต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการมา และคาดหวังต่อไปในอนาคตว่าจะยังคงสามารถทำงานร่วมกับไทยได้ต่อเนื่องต่อไปเพื่อแก้ไขข้อกังวลเรื่องไอพีที่ยังหลงเหลืออยู่” ผู้แทนการค้าสหรัฐระบุระหว่างการแถลง พร้อมกับเสริมด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐ “ประสานงานอย่างใกล้ชิด” กับทางการไทยในการพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้มาตรการด้านนี้ให้ดีขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ “กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าและการลงทุนสหรัฐอเมริกา-ไทย”

ไลต์ไฮเซอร์บอกด้วยว่า การประสานงานซึ่งกันและกันดังกล่าวผลิดอกออกผลให้เกิดการแก้ไขความกังวลเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกว้างขวาง หลากหลายประเด็นได้ลุล่วง ตั้งแต่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่แล้ว, เรื่องสิทธิบัตรกับอุตสาหกรรมยา, เรื่องเครื่องหมายการค้า (เทรดมาร์ก)

และสุดท้ายคือเรื่องลิขสิทธิ์

 

สิ่งหนึ่งซึ่งไลต์ไฮเซอร์หยิบยกขึ้นมาชมเชยเอาไว้ในการแถลงข่าวเพื่อชี้ให้เห็นว่าใจ “ใส่ใจอย่างแรงกล้า” ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็คือ การที่รัฐบาลไทยจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐว่าด้วยนโยบายสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา” กับ “คณะอนุกรรมการว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการต่อต้านการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา”

หน่วยงานแรกนั้นมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนหน่วยงานหลังมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

“การใส่ใจอย่างแรงกล้าจากระดับสูงสุดของรัฐบาลเช่นนี้ นำไปสู่การประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำให้ความพยายามในการบังคับใช้มาตรการต่อต้านสินค้าลอกเลียนและละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย”

เงื่อนปมอีกประการหนึ่งก็คือ ทางการไทยได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาคาราคาซังของการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ทั้งลดกฎเกณฑ์หยุมหยิมทั้งหลายลงและเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมากขึ้น

พร้อมกันนั้นก็เข้าร่วมเป็นภาคีหนึ่งใน “พิธีสารมาดริด” ที่เอื้อให้บริษัทในสหรัฐอเมริกาสามารถยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในไทยได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น แถมยังจัดการกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ “คอนเทนต์” ออนไลน์ ของบริษัทจากสหรัฐอเมริกาอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

 

ผลจากการปลดล็อกเรื่องนี้ น่าจะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาดีขึ้น ราบรื่นขึ้น ส่วนเรื่องจีเอสพี หรือสิทธิพิเศษทางการค้า ถ้ามีให้ก็ดี ไม่มีให้เหมือนที่ผ่านมาก็คงไม่กระไรนัก

ผมหยิบเอาประเด็นที่ไลต์ไฮเซอร์ยกเป็นเหตุผลในการยกระดับไทยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาไล่เรียงเอาไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องทำมากมายแค่ไหนเพื่อการนี้ รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าพยายามดำเนินการเรื่องนี้ กว่าจะสัมฤทธิผลก็ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี

แต่ไทยเราต้องไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เหตุผลไม่ใช่เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้อง “จับตา” (วอตช์ ลิสต์) ดีขึ้นมาอีกขั้นเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาหรือต่อประเทศอื่นๆ ฝ่ายเดียว ยังเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สินค้าไทย อุตสาหกรรมไทย ต้องปรับตัวหันมาพัฒนาตัวเอง รู้จักต่อยอด ลงทุนคิดค้นเอง สร้างนวัตกรรมเอง ไม่อย่างนั้นเอาตัวไม่รอด

เลิกคิดลอกเลียน เลิกปลอมแปลงเมื่อใด ผมเชื่อว่าคนไทยฝีไม้ลายมือไม่แพ้ใครเด็ดขาดครับ!