อะไรทำให้เด็กไทยไม่กลับบ้าน? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

จะให้เด็กไทยเรียนจบนอกแล้วกลับมาทำงานที่บ้าน หรือจะให้เด็กไทยในประเทศไม่คิดจะ “ย้ายประเทศ” ต้องทำอะไร?

เป็นโจทย์ยากสำหรับประเทศไทย…และรัฐบาลที่ต้องการจะดึงเอาทรัพยากรมนุษย์อันมีคุณค่ากลับมาช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมือง

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปพบนักเรียนและคนไทยที่ซานฟรานซิสโก ระหว่างไปร่วมประชุม APEC เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น

ตอนหนึ่ง คุณเศรษฐายอมรับว่าลูกชายสองคนที่เรียนหนังสือที่อังกฤษและสหรัฐจบแล้วไม่กลับไปเมืองไทย

เพราะ “ยังไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่า”

คำตอบนี้ตรงกับความเป็นจริงไม่น้อย

และนิยามของ “ข้อเสนอ” หรือ offer นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันแสวงหาคำตอบให้ได้ว่าวันนี้ประเทศไทยเรามีอะไรที่จูงใจให้คนไทยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติสร้างสังคมอันพึงปรารถนาร่วมกัน

หรือลดแรงจูงใจที่จะให้คนไทย “ย้ายประเทศ” อย่างที่นายกฯ เศรษฐาได้พูดเอาไว้ว่า

โครงการ Land Bridge จะสร้างความรุ่งเรืองเฟื่องฟูให้ชาติไทยจนถึงขั้นที่จะทำให้เด็กไทยไม่คิดจะกลายเป็น “ผู้อพยพ” ไปเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศอื่น

เหตุผลที่คุณเศรษฐาพูดเช่นนั้นยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงอะไร

เพราะยังมองไม่เห็นถึงความโยงใยของความสำเร็จของโครงการ Land Bridge ที่เชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันกับความรู้สึกที่จะขอย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่

หากคุณเศรษฐาหมายถึงการที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต แล้วเด็กไทยจะมีงานทำและมีรายได้ดี แล้วก็จะไม่คิดหนีออกไปต่างประเทศ ก็ไม่น่าจะตอบโจทย์ที่คนรุ่นใหม่เขามีความรู้สึกว่าอยากไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมากกว่าจะอยู่ในประเทศ

ในทำนองเดียวกัน ที่นายกฯ ไปสนทนากับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย Stanford และชักชวนให้เขาและเธอเหล่านั้นกลับบ้านหลังสำเร็จการศึกษาก็คงไม่ได้เกี่ยวกับที่จะหางานทำในบ้านไม่ได้

แต่ทำไมยังมีคนไทยเก่งๆ ความรู้ดีๆ และเป็นทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่าไม่กลับบ้าน?

คุณเศรษฐามีคำตอบเองแล้ว

 

นั่นคือที่นายกฯ บอกกับคนไทยที่อเมริกาว่าลูกสองคนที่เรียนหนังสือจบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐและอังกฤษนั้นไม่กลับมาทำงานที่ประเทศไทยเพราะอะไร

ถ้าคำตอบคือ “ยังไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่า” ก็ต้องแปลว่าผู้รับผิดชอบบ้านเมืองต้องทำให้ “ข้อเสนอของประเทศไทย” น่าสนใจกว่านี้

ไม่เพียงแต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่นายกฯ ไทยไปชักชวนมาไทยอย่างกระตือรือร้นเท่านั้น หากแต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ “มันสมอง” ของไทยกลับมารับใช้บ้านเกิดเมืองนอน

และให้เด็กไทยที่บ้านมีความภาคภูมิใจในบ้านของตัวเองมากพอที่จะไม่คิดอพยพไปอยู่ที่นั่น

เราสอนให้เด็กไทยมีความคิดอ่านแบบ critical thinking หรือคิดอย่างวิเคราะห์ อย่าเชื่ออะไรเพียงเพราะมีคนพูดต่อๆ กันมา

แต่นักการเมืองเราไม่สนใจการสร้าง critical infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา, กองทัพ, ตำรวจและการปราบเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบอย่างแท้จริง อย่างนี้เด็กไทยจะมีความกระตือรือร้นที่จะ “มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของประเทศชาติ” ได้อย่างไร

ความจริง ตอนที่คุณเศรษฐาเป็นผู้บริหารเอกชนและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ได้อ่านความเห็นของท่านในฐานะพลเมืองคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสมัยนั้นอย่างตรงไปตรงมาหลายประเด็น

และในหลายๆ ความเห็นของคุณเศรษฐาในตอนนั้นก็สะท้อนถึงความอึดอัดกับบรรยากาศการเมืองและสังคมไทยที่ไม่เปิดกว้างให้คนไทย (รวมถึงคนรุ่นใหม่) ที่จะสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองและด้านอื่นๆ อย่างเสรีเพียงพอ

หากได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมกลับบ้าน หรือคนไทยที่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่นก็จะจับความได้ว่าสภาพของบ้านเมืองโดยเฉพาะประเด็นเรื่องเสรีภาพของการแสดงออก, คุณภาพของการเมืองที่ยังฟอนเฟะและระบบราชการที่ล้าหลังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความหวังสำหรับตัวเองและคนรุ่นต่อไป

คนรุ่นใหม่มีความรังเกียจเรื่องคอร์รัปชั่นในระดับสูงกว่าคนรุ่นนี้และรุ่นก่อนมากมายนัก

เมื่อบ้านเมืองยังอยู่ภายใต้ “ระบบอุปถัมภ์” และการเล่นเส้นเล่นสายยังเป็นมาตรฐานปกติของสังคม คนรุ่นใหม่ของเราก็ย่อมจะไม่มีความหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า

พวกเขารู้ดีว่าหากการเมืองและสังคมยังตกอยู่ในภาวะ “ไร้ความหวัง” เช่นนี้ คงจะเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นจนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาอยู่ในภาวะที่น่าพอใจ

 

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาตอกย้ำว่าแม้จะมีคนกว่า 14 ล้านคนลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่รับปากว่าจะสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” ด้วยการเมืองแบบไม่ซื้อเสียง, ไม่อาศัยหัวคะแนน และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “บ้านใหญ่”

แต่ท้ายที่สุดกลุ่มการเมืองแบบเก่าก็สามารถ “ตระบัดสัตย์” เพื่อรวมตัวกันสกัดกั้นไม่ให้พรรคก้าวไกลมีส่วนบริหารประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนจำนวนมากได้

น่าสังเกตว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยมในลักษณะ “แจกเงินหมื่น” ทุกคนที่อายุเกิน 16 ในการโฆษณาหาเสียง แต่นโยบายหลักของพรรคก้าวไกลคือ “ความเปลี่ยนแปลง” กลับได้รับความนิยมมากกว่า

สะท้อนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” มากกว่า “ของแจก, ของแถม” จากนักการเมือง

แม้ว่าคำมั่นสัญญาของพรรคก้าวไกลเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นั้นจะไม่ชัดเจนถึงขั้นที่ผู้ลงคะแนนเสียงให้จะรู้ว่าอะไรจะเปลี่ยนและจะเปลี่ยนแค่ไหน

แต่จับความรู้สึกได้ชัดเจนว่าสำหรับคนไทยจำนวนมากอะไรๆ ก็ต้องดีกว่าสภาพไร้ความหวังในวันนี้ ภายใต้การเมืองและสังคมที่ติดอยู่กับกับดักของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นมายาวนาน เนิ่นนานจนมองไม่เห็นทางออก

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือคนไทยที่ไปลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมปีนี้เห็นพรรคก้าวไกลมี “ข้อเสนอที่ดีกว่า”

 

ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลนี้จึงต้องสร้างเงื่อนไขที่จะเป็นข้อเสนอที่ทำให้เด็กไทยเห็นว่าพวกเขาเห็นอนาคตที่สดใสและพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยที่พวกเขาอยากเห็น มากกว่าที่ถูกยัดเยียดให้เป็นอย่างที่เป็นมาหลายสิบปี

การเมืองที่ดีมีคุณภาพสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะทำให้เด็กไทยกลับบ้าน…และไม่คิดย้ายบ้าน

เพียงแค่ข้อเสนอให้มีงานที่ดีและรายได้ที่งามไม่เพียงพอที่จะทำให้มีความมั่นใจว่าจะปักหลักในประเทศนี้

เด็กไทยที่มีการศึกษาอย่างดีมาจากต่างประเทศกลับมาถึงบ้านไปทำงานที่ไร้ความท้าทาย

ยิ่งหากอยู่ในระบบราชการก็ยิ่งจะรู้สึก “สมองฝ่อ” เพราะต้องทนอยู่กับระบบคอร์รัปชั่นและการถูกบังคับให้อยู่ในกรอบเก่าๆ ที่เป็นศัตรูกับความก้าวหน้า

แม้จะอยู่ในภาคเอกชน และมีรายได้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ท้าทายทางด้านความคิด

ค่านิยมสังคมไทยในภาวะ “Know Who” สำคัญกว่า “Know How” ทำให้หมดหวังกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก

ยิ่งรัฐบาลประกาศว่าจะไม่ “ปฏิรูป” ระบบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างชาติสร้างบ้านเมือง แต่จะ “ค่อยทำค่อยไป” หรือ “พัฒนาร่วมกัน” ก็สะท้อนว่าคำว่า “ความเปลี่ยนแปลง” จะเป็นเพียงคำขวัญในการหาเสียงเท่านั้น

คนรุ่นใหม่ของเรามีทางเลือกมากขึ้น หากระบบการเมืองไทยไม่อาจจะมี “ข้อเสนอ” ที่ดีกว่าที่เราอยู่วันนี้ เราก็มิอาจจะคาดหวังว่าจะก้าวข้าม “กับดักแห่งความท้อแท้” ได้เลย!