ปี 2567 จับตารัฐเล่นใหญ่ นั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภาพชัดหรือเบลอๆ หลังนำร่อง 2 สาย

แนวทางในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลชุดเศรษฐา 1 ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่หยิบขึ้นมาดำเนินการเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะนอกจากจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการลดปัญหา PM 2.5 และปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมืองได้อีกด้วย

แม่ทัพใหญ่ฝั่งคมนาคมอย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า เรื่องการลดค่าครองชีพของประชาชน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งเมื่อได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้มีการบรรจุนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ลงไปในเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนใน 100 วัน หรือ Quick Win

โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการนำร่องเปิดให้บริการในอัตราดังกล่าวก่อน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีประชาชนใช้บริการ 2 เส้น รวมประมาณ 1.01 แสนคน-เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติที่มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 9.6 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน

ปัจจุบันนโยบายนี้ได้มีการดำเนินมากว่า 1 เดือน แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดทำนโยบายดังกล่าวทำให้ภาครัฐต้องขาดทุนกว่า 7.4 ล้านบาทต่อวัน

ในส่วนของประเด็นนี้ ยืนยันว่าก่อนหน้านี้กระทรวงได้มีการวิเคราะห์ตัวเลขรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงที่จะลดลงไว้อยู่แล้ว และปัจจุบันยังคงอยู่ในกรอบงบประมาณที่กระทรวงคมนาคมตั้งไว้

ยืนยันว่ากระทรวงจะเดินหน้าดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ต่อไป

 

รมว.สุริยะ ย้ำว่านโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง

โดยภายใน 2 ปีหลังจากนี้ จะพยายามดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ให้ได้ โดยขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ต่อไป

ซึ่งเมื่อมาวิเคราะห์ประโยชน์จากนโยบายนี้ ที่จะมีส่วนช่วยให้การเดินทางโดยรถยนต์ลดลง ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และยังส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบรางมากขึ้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากคำนวณเป็นมูลค่า จะคุ้มค่ามากกว่ารายได้ที่ลดลงของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร โดยปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย นำร่องรถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าว ทำให้ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สายสีแดง วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15% ส่วนสายสีม่วง วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15%

“ในอนาคตหลังจากนี้มองว่ารูปแบบที่เหมาะสม ยังเป็นการให้ภาครัฐเป็นเจ้าของสัมปทาน และจ้างเอกชนในการเดินรถ อย่างในปัจจุบัน ส่วนเรื่องการขยายนโยบายไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น จากท่าทีของเอกชนผู้ได้รับสัมปทานส่วนใหญ่ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่คงต้องมีการหารือถึงเรื่องข้อดี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นร่วมกันอีกครั้ง แต่ขอยืนยันอีกครั้งว่ากระทรวงคมนาคมจะดำเนินการเรื่องนี้ให้บรรลุตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้สำเร็จจนได้ต่อไป”

รมว.สุริยะกล่าวย้ำ

 

นอกจากเรื่องการปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแล้ว ล่าสุด อธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้เปิดเผยถึงแนวคิดเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ว่าจากปัญหาอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันที่มักจะเป็นปัญหาให้มีข้อถกเถียงกันตลอด

กรมจึงมีแนวคิดเก็บอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่ (Zone fare) โดยหากอยู่ในโซนแรกจะคิดอัตราค่าโดยสาร 20 บาท อาทิ โซนของสายสีน้ำเงินในปัจจุบันที่มีคนเดินทาง 70% ของคนกรุงเทพฯ โซนที่ 2 คิดอัตราค่าโดยสาร 25 บาท และโซนที่ 3 คิดอัตราค่าโดยสาร 30 บาท

แต่ทั้งหมดนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา ส่วนการจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอรัฐบาล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการกรมการขนส่งทางราง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ…. ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ยังไม่สามารถที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้

แต่หากทุกอย่างผ่านตามขบวนการแล้ว ก็พร้อมเสนอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

 

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องการปรับลดค่าโดยสารแล้ว แว่วมาว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน

อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน

เนื่องจาก กทม.เล็งเห็นว่ามีปัจจัยด้านอื่นที่ต้องเร่งนำงบประมาณไปดำเนินการเพื่อประชาชน อาทิ ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น

เรื่องนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ให้ข้อมูลว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ส่วนนี้จึงเชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้ว

การมอบให้ รฟม.กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เนื่องจากรถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาอยู่นั้น ก็มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. และเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดังนั้น จากการเชื่อมต่อดังกล่าว ทำให้ กทม.เล็งเห็นว่า รฟม.จะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงขายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้มากกว่า ซึ่งรวมไปถึงการทำระบบ และจัดทำข้อมูล เพื่อให้รถไฟฟ้าเหล่านี้เข้าร่วมในนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 2 ปี ต้องดำเนินการในทุกสีได้ต่อไปอีกด้วย

สุดท้ายแล้วการคิดค่าโดยสารตามโซน นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และการโอนรถไฟสีต่างๆ กลับมาให้คมนาคมดูแล

บทสรุปจะเป็นไปตามที่รัฐวาดฝันไว้ หรือจะมีอุปสรรคใดมาสกัดไว้อีก เรื่องนี้คงต้องเกาะรั้วติดตามกันต่อไปยาวๆ