วิรัตน์ แสงทองคำ : ‘ธุรกิจครอบครัว’ ภาพใหญ่ (ต่อ)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอน 1

ธุรกิจครอบครัว สะท้อนภาพธุรกิจไทย
สะท้อนผ่านบทบาท ในระดับภูมิภาค

Global Family Business Index ได้ให้ภาพที่น่าสนใจ เชื่อมโยงพัฒนาการธุรกิจครอบครัวไทยด้วยอย่างมิพักสงสัย ควรแก่การขยายความ เทียบเคียง และวิเคราะห์บางประเด็นเพิ่มเติม

Global Family Business Index การจัดอันดับบริษัทในระดับโลกซึ่งถือเป็นธุรกิจครอบครัว 500 อันดับโดยพิจารณาจากรายได้ (Revenue) จัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว (2558) โดย Center for Family Business ของ University of St.Gallen มหาวิทยาลัยชั้นนำของ Switzerland โดยเฉพาะด้านบริหารธุรกิจ มักถูกจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก

โดยร่วมมือกับ EY’s Global Family Business Center of Excellence หน่วยงานหนึ่งในเครือข่าย Ernst & Young หรือ EY แห่งอังกฤษ กิจการด้านที่ปรึกษาและบริการวิชาชีพครบวงจร ถือเป็นหนึ่งใน “Big Four” ผู้ตจรวจสอบบัญชีระดับโลก มีทีมงานมากกว่า 2 แสนคน มีสำนักงานกว่า 700 แห่ง ใน 150 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย

ข้อมูลประกอบ (โปรดพิจารณา “บางอันดับบริษัทธุรกิจครอบครัว” ประกอบ) จัดทำขึ้นด้วยพยายาม คัดเลือก จัดระบบ และประมวลผล (จาก Global Family Business Index) อ้างอิงเฉพาะกลุ่มประเทศในย่านมีความสัมพันธ์พิเศษกับสังคมไทย ทั้งกลุ่ม ASEAN Economic Community (AEC) ปัจจุบัน และเขตอิทธิพลย่าน “ชาวจีนโพ้นทะเล” ซึ่งมีความสำคัญ ตั้งแต่อดีต จนมาถึงปัจจุบัน

จาก Global Family Business Index 500 อันดับ พิจารณากลุ่มประเทศ AEC (บวก ฮ่องกงและไต้หวัน) ปรากฏว่ามีเพียง 40 บริษัทเท่านั้น (Hong Kong 15 Taiwan 6 Malaysia 5 China 4 Indonesia 3 Philippines 3 Thailand 3 และ Singapore 1) เมื่อแยกแยะ และพิเคราะห์อย่างเจาะจง พบว่าฮ่องกงเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างธุรกิจครอบครัว (โปรดพิจารณาข้อมูล “ธุรกิจครอบครัวในฮ่องกง” ประกอบ) ควรยกขึ้นมาอ้างอิง เทียบเคียงกับธุรกิจครอบครัวไทย

2

หนึ่ง – ธุรกิจครอบครัวในฮ่องกง สถาปนาขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคม ภายใต้อำนาจ เครือข่าย และ Know-how อาณานิคมอังกฤษ ในขณะสังคมไทยขณะนั้น อยู่ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจครอบครัว) เท่านั้น เกิดขึ้นในยุคนั้นและสามารถดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนเป็นพิเศษโดยพระคลังข้างที่ ขณะเดียวกัน ได้อาศัยเครือข่าย ความรู้จากระบบอาณานิคมด้วย

สอง – ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การกลับมามีอิทธิพลของอังกฤษ ทำให้ฮ่องกงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยฐานเดิมในยุคอาณานิคม ธุรกิจครอบครัวฮ่องกงส่วนใหญ่ (สามารถเติบโตเข้าทำเนียบ Global Family Business Index 500) เกิดขึ้นในยุคนี้ ในขณะที่สังคมธุรกิจไทย เพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีรากเหง้ามาจากชาวจีนโพ้นทะเล กว่าจะมีโอกาสกว้างขึ้น ได้ผ่านเข้าสู่ช่วงสงครามเวียดนาม ภายใต้โมเมนตัมอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ธุรกิจปศุสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เกิดขึ้น ค่อยๆ พัฒนาและต่อยอดมาเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (Charoen Pokphand Foods หรือ CPF) ซี่งก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลังสงครามเวียดนาม (2521)

สาม – ธุรกิจครอบครัวฮ่องกง สร้างโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอ แม้อยู่ในช่วงส่งคืนฮ่องกงในกับจีนแผ่นใหญ่ และช่วงเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจภูมิภาค (วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540) ขณะที่ธุรกิจครอบครัวไทยอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่าง มีกรณีอ้างอิงน้อยราย มีเพียงซีพีออลล์ (เครือซีพี) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ (เครือทีซีซี) สามารถเข้าอยู่ในทำเนียบ Global Family Business Index

สี่ – ธุรกิจฮ่องกง สร้างโอกาสอย่างกว้างขวาง จากความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค แท้จริงแล้ว CPF (Global Family Business Index อันดับ 126) ได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยควบรวมกิจการโดยเฉพาะเครือข่ายภูมิภาค ซึ่งซีพีถือกันว่าเป็นธุรกิจระดับภูมิภาครายแรกๆ ได้บุกเบิกไว้ จากรากเหง้าตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ส่วนไทยเบฟเวอเรจ ถือเป็นตัวอย่างใหม่ล่าสุดธุรกิจครอบครัวไทย เริ่มต้นสร้างโอกาสใหม่ๆ ในระดับภูมิภาค เมื่อไม่ถึง 5 ปีมานี้เอง

กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น พัฒนาการธุรกิจครอบครัวไทย กับบทบาทในภูมิภาค เป็นแนวโน้มและปรากฏการณ์ต้องเป็นไป