ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
สังคมไทย มองผ่านธุรกิจครอบครัวบุคลิกเฉพาะบางกลุ่ม สามารถอยู่รอด และปรับตัว ภายใต้สถานการณ์และวิกฤตการณ์ช่วงต่างๆ
ธุรกิจครอบครัวที่ว่า เชื่อมโยงกับลูกค้าและผู้บริโภครายย่อยตั้งแต่ต้น จากสินค้าจำเป็นพื้นฐาน สู่สินค้าสะท้อนพฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิตปัจเจก ซึ่งปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ท่ามกลางผู้บริโภคฐานกว้าง ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ พัฒนาการทางธุรกิจข้างต้น ย่อมให้ภาพสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน
เรื่องราวว่าด้วยพัตนาการความอยู่รอดและการปรับตัว จากสมมติฐานข้างต้น มองผ่านเครือข่ายธุรกิจครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน แม้เผชิญปัญหาและวิกฤตการณ์ หลายครั้งหลายครา นั่นคือ กลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์, สหกรุ๊ปของตระกูลโชควัฒนา และกลุ่มทีซีซี ของตระกูลสิริวัฒนภักดี
จากข้อมูลเสนอมาประกอบชุดใหญ่ บวกกับเรื่องราวภาพกว้าง ให้เค้าโครงเรื่อง
สหกรุ๊ป มีบทบาทนำในยุคบุกเบิกธุรกิจไทย โดย เทียม โชควัฒนา เริ่มต้นตามแบบฉบับชาวจีนในแผ่นดินไทย ด้วยค้าขายโชห่วย ท่ามกลางการค้าส่งออกข้าวอยู่ในมือชาวจีนโพ้นทะเลผู้ทรงอิทธิพล ขณะฝรั่งตะวันตกเปิดห้างสินค้าคอนซูเมอร์ให้กับสังคมชั้นสูง ญี่ปุ่นในยุคโซโกะโซชะ เปิดกิจการอย่างเงียบๆ แทรกตัวอยู่ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ความยุ่งยากเกิดขึ้นพร้อมกับโอกาสใหม่ ห้างฝรั่งปิดตัวเอง ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นพร้อมด้วยกองทัพ กลุ่มการค้าชาวจีนดั้งเดิมกลุ่มใหญ่ต่อต้านญี่ปุ่น ขณะที่อีกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มใหม่ ถือเป็นโอกาสสำคัญเมื่อค้าขายกับญี่ปุ่น
ช่วงวางฐานกิจการสำคัญ มองผ่านบริษัทสำคัญในตลาดหุ้น ล้วนเกิดขึ้นในช่วงต่อยุค เทียม โชควัฒนา (2459-2534) กับบุตรชายคนโต–บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา (2480-ปัจจุบัน) ในช่วงสงครามเวียดนาม ในช่วง 3 ทศวรรษต่อมา ดำเนินไปตามจังหวะอย่างที่เคยเป็นมา ภายใต้การนำยังคงอยู่กับรุ่นที่สอง ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยมากกันแล้ว
ส่วนเรื่องราวกลุ่มเซ็นทรัล สะท้อนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อย่างน่าทึ่ง ในฐานะผู้บุกเบิกค้าปลีกสมัยใหม่ ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านกรุงเทพฯ
“นี่เตียง แซ่เจ็ง หรือ เตียง จิราธิวัฒน์ ชายหนุ่มวัย 22 ปี รอนแรมฝ่าคลื่นลมจากมณฑลไหหลำประเทศจีนมาลงหลักปักฐาน ณ ดินแดนสยาม …คงไม่มีใครแม้แต่ตัวเขาเองจะคาดคิดว่า จะกลายมาเป็นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การค้าของไทย เริ่มจากร้านค้าเล็กๆ ขายกาแฟและของใช้เบ็ดเตล็ดย่านบางมด จนมาเปิดร้านค้าแถวบางขุนเทียน ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านของใช้ ร้านตัดเสื้อ ร้านตัดผม และที่อยู่อาศัยไว้ในหนึ่งเดียวกัน” สาระสำคัญ (ตัดทอนโดยผู้เขียน) คัดมาจากประวัติในยุคต้นที่กลุ่มเซ็นทรัลเขียนขึ้นเอง (http://www.central.co.th/) สะท้อนภาพเติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
“…ร้านค้านาม “บริษัทเซ็นทรัลเทรดดิ้ง” จำหน่ายหนังสือนานาชนิดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสินค้าหลากหลายทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องสำอาง ฯลฯ จากยุโรปและอเมริกา เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จึงเป็นผู้บุกเบิกการนำเข้าสินค้า เป็นร้านนำสมัย แหล่งรวมนักเรียนนอกในสังคมไทย…” อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2490
พัฒนาการเป็นไปกระฉับกระเฉง ตามจังหวะและโอกาส ท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนผู้นำมา 3 รุ่นแล้ว
ส่วนทีซีซี เกิดขึ้นยุคหลังสงครามเวียดนาม “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นมากว่า 30 ปี โดย เจริญ สิริวัฒนภักดี …พัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่ จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี…” (http://www.tccholding.com/)
กลุ่มทีซีซี ยังอยู่ภายใต้การนำของผู้ก่อตั้ง แรงบันดาลใจดำเนินแผนเชิงรุกมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ภายใต้แรงกดดันเพื่อเปลี่ยนผ่านยุคสัมปทาน กับความพยายามผลัดเปลี่ยนรุ่นให้ราบรื่น ให้ความสำคัญผ่านกลไกตลาดหุ้น เข้าซื้อและครอบงำกิจการดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (จากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในปี 2544 จนถึงบิ๊กซีในปี 2559)
โปรดติดตามตอนต่อไป