ทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 กับผลงานศิลปะอันเปี่ยมคุณภาพไม่น้อยหน้าระดับสากล (3)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอเล่าถึงนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร กันต่อ เริ่มต้นด้วยผลงานของ ส้ม ศุภปริญญา ในโครงการ White Stone Routes ที่เกิดขึ้นจากการสำรวจพื้นที่เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน และตาก และค้นพบว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้เส้นทางนี้ในการเดินทัพจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังประเทศพม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในประวัติศาสตร์ของไทยแทบไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย

ศิลปินค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้จากวัตถุข้าวของและบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวัดไทยแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นกองบัญชาการของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกปิดเอาไว้นานหลายสิบปี เธอจึงทำการค้นคว้าต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

การค้นคว้าที่ว่านี้ทำให้เธอค้นพบเส้นทางเดินทัพของกองทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากฐานทัพในเมืองเชียงใหม่ผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อบุกยึดพม่าและอินเดีย เส้นทางที่ว่านี้ยังมีการสร้างถนนและสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยว่าจ้างคนท้องถิ่นชาวไทยในพื้นที่มาเป็นแรงงานก่อสร้างและขนสัมภาระ ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะแพ้สงครามและถอยร่นกลับมาเส้นทางนี้เพื่อหลบหนี มีทหารจำนวนมากล้มตายในระหว่างการเดินทาง (รวมถึงแรงงานท้องถิ่นชาวไทย)

ทำให้มีซากศพถูกกลบฝังอยู่บนเส้นทางนี้จำนวนมากจนถูกเรียกว่า “เส้นทางสีขาว” หรือ “เส้นทางกระดูก”

ผลงานในโครงการ White Stone Routes โดย ส้ม ศุภปริญญา

เรื่องราวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานศิลปะจัดวาง White [Routes Series] (2023) ที่ประกอบด้วยเส้นด้ายร้อยลูกปัดไม้และพลาสติกสีขาวงาช้าง (คล้ายสีของกระดูก) ขนาดน้อยใหญ่ จัดวางเป็นรูปทรงคล้ายกับเส้นทางเดินทัพและเส้นทางหลบหนีของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลูกปัดเหล่านี้มีน้ำหนักราว 7 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักกระดูกของทหารญี่ปุ่นที่ขุดพบบนเส้นทางนี้

ในขณะที่ในเส้นทางเดียวกันนี้ในปัจจุบันคือถนนทางหลวงหมายเลข 107, 108, 1095, 1013 และ 1263 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าใช้ในการหลบหนีออกจากประเทศพม่ามายังประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงหลังรัฐประหารในประเทศพม่าในปี 2564 เหตุการณ์ที่ว่านี้มีลักษณะที่ย้อนย้ำซ้ำรอยกับสถานการณ์ของทหารญีปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เนื้อหาเหล่านี้ปรากฏในผลงานอีกชิ้นในโครงการนี้อย่าง Summer Palace, (2023) ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยผ้าใบพลาสติกสีฟ้า-ขาว แบบเดียวกับเราเห็นคลุมท้ายรถบรรทุกหรือตามไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำที่อยู่อาศัยบังแดดฝนในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย ซึ่งส้มตั้งชื่ออย่างเสียดเย้ยว่า Summer Palace หรือพระราชวังฤดูร้อน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของจักรพรรดิจีนในยุคโบราณ การที่ศิลปินจงใจเลือกวัสดุราคาถูกและไม่คงทนถาวรเช่นนี้มาใช้สร้างผลงาน ก็อาจจะเป็นการสื่อถึงสถานภาพอันเปราะบาง ไร้สวัสดิภาพและความมั่นคงของผู้ลี้ภัยก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีผลงาน ภาพถ่าย ศิลปะจัดวางจากวัตถุข้าวของเก็บตก ที่สื่อถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ที่มักจะกลายเป็นแรงงานไร้สัญชาติในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยนั่นเอง

ผลงานในโครงการ White Stone Routes โดย ส้ม ศุภปริญญา

ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องราวจากทั้งสองเหตุการณ์กลับไม่เป็นที่รับรู้ ได้เห็นหรือได้ยินโดยสาธารณชนคนทั่วไป หรือแม้แต่คนในพื้นที่เหล่านั้นก็ตาม ราวกับความทรงจำเหล่านี้ถูกจำกัดหรือลบล้างให้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ การทำเช่นนี้ไม่เพียงแค่ลบล้างเรื่องราวของชาวต่างชาติอย่างชาวญี่ปุ่นหรือชาวพม่าเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงเรื่องราวของชาวไทยหรือคนท้องถิ่นในพื้นที่อีกด้วย ผลงานของส้มจึงไม่ต่างอะไรกับการสำรวจและขุดค้นความทรงจำเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นสู่สายตาสาธารณชนและผู้คนในโลกอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

ประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของผู้ลี้ภัยในผลงานโครงการนี้ของส้ม ยังมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนของพืชกาฝากและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ถูกมองว่าไร้ค่าไร้ความหมายในสายตาคนทั่วไปและภาครัฐ ในโครงการ A Continuous Cycle of Existence ของ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ที่จัดแสดงอยู่ในห้องแสดงงานก่อนหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน

ผลงานในโครงการ Lying Mountain โดย สุรเจต ทองเจือ

ตามมาด้วยผลงานของ สุรเจต ทองเจือ ในโครงการ Lying Mountain (ภูเขาขี้โกหก) ที่นำเสนอผลงานศิลปะจัดวางที่ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเป็นศิลปินพำนักในปี 2016 ที่เมืองริคุเซ็นทาคาตะ จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หากแต่กระบวนการพื้นฟูและสร้างเมืองใหม่กลับทำโดยรัฐบาลเป็นผู้วางนโยบายและดำเนินการทั้งหมด โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอันใด (นอกจากการตอบสนองความต้องการในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน)

ในเมืองแห่งนี้มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ภูเขาอาตาโกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง และยังเป็นภูเขาที่คั่นระหว่างแม่น้ำและทะเลในเขตเซนไดทั้งหมด ซึ่งภูเขาลูกนี้นี่เอง ที่ถูกระเบิดทำลายเพื่อนำหินมาเป็นวัตถุดิบในการซ่อมแซมสร้างเมืองใหม่ ชาวเมืองแห่งนี้เรียกการกระทำครั้งนี้ว่าเป็นภัยพิบัติครั้งที่สอง หลังจากที่พวกเขาต้องประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งก่อนหน้า

เหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียซ้ำซ้อนอีกครั้ง จากการที่ธรรมชาติที่อยู่กับพวกเขามานับแต่ครั้งบรรพบุรุษถูกทำลายลงไป

ด้วยเหตุนี้สุรเจตจึงเดินทางขึ้นไปเก็บข้อมูลบนภูเขาแห่งนี้ โดยได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคนงานก่อสร้างที่ทำหน้าที่ระเบิดภูเขา ในระหว่างที่อยู่บนภูเขา หัวหน้าคนงานก่อสร้างผู้นี้นี่เอง ที่เล่าให้ถึงลักษณะดั้งเดิมของภูเขาก่อนที่จะถูกระเบิดให้เขาฟัง และหยิบอุปกรณ์คู่กายอย่างเคียวเหล็ก มาวาดรูปภูเขาก่อนที่จะถูกทำลายให้เขาดู เหตุการณ์นี้กระทบใจสุรเจตอย่างมาก

และกลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขารู้สึกว่า บางครั้ง สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง คงทนถาวรมากๆ และไม่อาจถูกทำลายลงได้อย่างภูเขา ก็สามารถถูกทำลายลงได้เช่นเดียวกัน

ผลงานในโครงการ Lying Mountain โดย สุรเจต ทองเจือ

สุรเจตผสานความรู้สึกนี้เข้ากับแนวคิดในงานเขียน Common Sense หรือ สามัญสำนึก อันลือลั่นของนักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษ โธมัส เพน (Thomas Paine) ที่มองว่า เมื่อมนุษย์มองเห็นหรือสัมผัสกับสิ่งที่ถูกสังคมปลูกฝังให้กลายเป็นสามัญสำนึกอย่างฝังลึก ก็จะทำให้เกิดสำนึกร่วม ที่มองเห็นบางสิ่งบางอย่าง (ที่แม้จะมีความอ่อนแอและเปราะบางภายใน) มีความยิ่งใหญ่ยืนยงคงกระพัน และถ้าเรามีความหวาดกลัวหรือแม้แต่มองเห็นความแข็งแกร่งที่ฉาบอยู่บนเปลือกนอกของสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรือสถาบันทางสังคมต่างๆ เราก็จะสร้างสามัญสำนึกบางอย่างที่กดตัวเราเองให้ต่ำต้อยด้อยค่าและยอมเป็นเบี้ยล่างหรือฝุ่นละอองใต้ฝ่าบาทาของสิ่งเหล่านั้นทันที

สุรเจตยังหยิบแรงบันดาลใจจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่าง ศิลปะโรแมนติก Romanticism และศิลปะสัจนิยม (Realism) ที่มองว่าธรรมชาตินั้นมีความยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างเหลือคณานับ ซึ่งเขามองว่าไม่ต่างอะไรกับสามัญสำนึกที่เรามีต่อธรรมชาติ (ในขณะเดียวกัน เขาเองได้เป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่แข็งแกร่งในธรรมชาติอย่างภูเขาที่ถูกทลายลง) อีกทั้งแนวทางการทำงานศิลปะที่ผ่านมาของเขาที่เป็นการสำรวจโครงสร้างและการจัดการของรัฐ และระบอบทุนนิยม ซึ่งเป็นอำนาจเหนือรัฐที่ครอบคลุมทุกอย่าง จึงทำให้เขากลับมาตั้งคำถามว่า เรากำลังตกอยู่ในสามัญสำนึกในรูปแบบหนึ่งหรือไม่?

และถึงแม้เราจะลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเหล่านี้ แต่สุดท้าย ความเป็นสามัญสำนึกก็จะทำให้เราถูกกดทับอยู่ภายใต้อำนาจเหล่านั้นต่อไปอยู่ดี

สุรเจตจึงพยายามแสวงหาหนทางในการแสดงภาพของอำนาจที่เป็นภาพแทนของความเป็นสามัญสำนึก เขาเลือกใช้ภาพวาดลายเส้นของภูเขาในจินตนาการ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับภูเขาแห่งใดแห่งหนึ่งในโลกของความเป็นจริง เพื่อเป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง เป็นภูเขาในเชิงสัญลักษณ์ของสามัญสำนึกที่เรามีต่ออำนาจบางอย่าง อันเป็นตัวแทนของระบอบอำนาจนิยม และการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ถึงแม้จะดูยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามเพียงใด แต่มันก็มีวันสึกกร่อนและถูกทลายลงได้ แต่สิ่งเหล่านี้เราจะมองไม่เห็นในระยะใกล้ เช่นเดียวกับที่เราจะมองเห็นภูเขาทั้งลูกได้จากการมองในระยะไกล แต่เมื่อเราเข้าไปสัมผัสจริงๆ เราก็อาจจะรู้ได้ว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น

และถึงแม้เราจะพิชิตมันด้วยการปีนขึ้นไปบนยอดเขา เราก็จะพบว่ามีภูเขาลูกอื่นที่สูงใหญ่กว่าอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่มีอำนาจที่ใหญ่กว่าทับซ้อนขึ้นไปอีก

 

สุรเจตยังจงใจนำเสนอภาพวาดของเขาโดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดม้วน (Scroll painting) และศิลปะการเขียนอักษรแบบจีนและญี่ปุ่นโบราณ ที่มีการวางองค์ประกอบจากบนลงล่าง เพื่อให้ภาพมีมุมมองที่แตกต่างไปจากภาพทิวทัศน์ แต่เป็นภาพเขียนตัวอักษร ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Common Sense ที่นำเสนอบริบทของสถานการณ์ในโลกตะวันตก หากแต่นำเสนอด้วยกลวิธีแบบตะวันออก เพื่อนำเสนอบริบทของสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

นอกจากผลงานภาพวาดลายเส้นแล้ว สุรเจตยังทำผลงานประติมากรรมจัดวางรูปภูเขาที่ย่อขนาดลงให้ผู้ชมได้เห็นภูเขาจากมุมมองเบื้องบน เพื่อเป็นการเปลี่ยนมุมมองของสามัญชนอย่างเราๆ ให้สามารถมองภูเขา อันเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐและชนชั้นปกครองจากจุดที่สูงกว่าได้บ้าง ราวกับจะเป็นการแก้เผ็ดเล็กๆ น้อยๆ ของสามัญชนคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมยังไงยังงั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสามัญสำนึกของเราอย่างโครงสร้างอำนาจในสังคมเอง ก็สามารถถูกชำแหละ วิเคราะห์ หรือแม้แต่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นเดียวกัน

นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-11 พฤศจิกายน 2566 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00-18.00 น.

(ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์