ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น

ขอมกับไทยสมัยแรกอยู่บนพื้นที่เดียวกัน หลังจากนั้นขอมก็กลายตนเป็นไทยจนแยกไม่ได้ว่าใครไทย? ใครขอม?

ขอมเป็นคำไทยอโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเรียกอย่างยกย่องชาวละโว้ ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ที่นับถือพราหมณ์ และพุทธ มหายาน ต่อมาเมื่อขอมกลายตนเป็นไทย คำว่าขอมก็เลื่อนความหมายไปเป็นชาวเขมรในกัมพูชา

ขอม (1.) ชื่อเรียกอย่างยกย่อง ก. เชี่ยวชาญศิลปวิทยาการ และไสยศาสตร์ คาถาอาคม ข. ชำนาญเทคโนโลยีระดับสูง สร้างปราสาทด้วยหิน (2.) ชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อชนชาติ ไม่มีชนเชื้อชาติขอม (เชื้อชาติไม่มีในโลก)

 

(1.) พุทธศตวรรษที่ 25 หลัง พ.ศ.2400

1. “เชื้อชาติ” แนวคิดใหม่จากยุโรป แพร่หลายถึงไทยเมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้วแผ่นดิน ร.4-ร.5 หลัง พ.ศ.2400

2. “ศิลปะ” ชี้ขาดเชื้อชาติ นักค้นคว้าฝรั่งเศสและอังกฤษใช้ศิลปกรรม เป็นหลักฐานชี้ขาดว่านี่เชื้อชาติขอม, นั่นเชื้อชาติไทย เป็นต้นตอวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ถูกใช้เป็นอำนาจชี้ขาดประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีความบกพร่องผิดพลาดมาก

3. ไทยรับทั้งหมดจากยุโรป ชนชั้นนำไทยศตวรรษที่แล้วรับแนวคิดทั้งหมดเรื่องเชื้อชาติจากฝรั่งเศส-อังกฤษ (1.) สถาปนาประวัติศาสตร์เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์ (2.) สถาปนาประวัติศาสตร์ศิลปะ มีอำนาจชี้ขาดประวัติศาสตร์ไทย แล้วใช้งานสืบจนปัจจุบัน ได้แก่

ประวัติศาสตร์สุโขทัย (1.) อพยพถอนรากถอนโคนมาจากจีน ถึงดินแดนไทยปัจจุบันซึ่งเป็นดินแดนมอญและขอม แล้วอยู่ใต้อำนาจมอญและขอม (2.) “ปลดแอก” จากขอม แล้วประกาศตนเป็นอิสระ สร้างสุโขทัยราชธานีแห่งแรก

ประวัติศาสตร์อยุธยา “เพดานความคิด” ติดกับดักที่ พ.ศ.1893 ปีสถาปนากรุงศรีอยุธยา (1.) ก่อน 1893 เป็นขอม (2.) หลัง 1893 เป็นไทย

 

(2.) พุทธศตวรรษที่ 26 หลัง พ.ศ.2500

กระแส “คลั่งเชื้อชาติไทย” กระตุ้นค้านแนวคิดเดิม หรือ ทฤษฎีเก่าของฝรั่ง ด้วยการแยกประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ออกจากอิทธิพลเขมรโบราณ และยังมีตกค้างสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ดังนี้

(1.) ขอมไม่ใช่เขมร เพราะขอมเป็นชนเชื้อชาติโบราณในประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเขมรในกัมพูชาปัจจุบัน

(2.) ชนชาติขอม “ไม่เขมร” เป็นอีกชนเชื้อชาติหนึ่งต่างหาก ที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เรียกวัฒนธรรมขอม, ภาษาขอม, อักษรขอม

เมื่อพูดถึงขอม โดยปกติจะจินตนาการไปต่างๆ เช่น ประติมากรรม “ชัย 7” และปรางค์ลพบุรี : รูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 พบที่ปรางค์พรหมทัต อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

ขอม มาจากไหน?

ที่มาและความหมาย ดังนี้

(1.) ที่มา เป็นคำไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา กลายจากคำเขมร กรฺอม เป็นขอม

ภาษาเขมร กรฺอม แปลได้หลายอย่าง มีความหมายเชิงพื้นที่ (ไม่ใช่คำดูถูก)

แขฺมร์กฺรอม – เขมรต่ำ, ล่าง, หมายถึงที่ราบลุ่ม

แขฺมร์เลอ – เขมรสูง, บน, หมายถึงที่ราบสูง

[นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์ (บางคน) เข้าใจผิดว่าขอม เป็นคำดูถูก มาจากกรฺอม แปลว่าต่ำต้อย, ต่ำช้า]

ภาษาไทย กรอม (คำยืมเขมร) แปลว่า ยาวลงล่าง เช่น นุ่งผ้ากรอมเท้า หมายถึงนุ่งผ้าผืนยาวคลุมลงไปถึงตาตุ่ม เป็นลักษณะการนุ่งผ้าของ “ผู้ดี” ชนชั้นนำ

(2.) ความหมาย ไม่ตายตัว และไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ (กาละ-เทศะ) ของผู้ที่เรียกขอม

ส่วนมากหมายถึงประชาชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะละโว้ เป็นคำยกย่อง เช่น ครูขอม, อักษรขอมลงอักขระ

ความหมายต่างกัน 2 ระยะ ดังนี้

ระยะต้น ราว พ.ศ.1800 หมายถึงประชาชนละโว้ (1.) พูดเขมร ใช้อักษรเขมร (2.) นับถือพราหมณ์, พุทธมหายาน (3.) ไม่จำกัดชาติพันธุ์ (ใครก็ได้)

ระยะปลาย ราว พ.ศ.2000 หมายถึงเขมรเมืองพระนครหลวง (นครธม)

ปัจจุบัน ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2500 หมายถึงประเทศและประชาชนกัมพูชา แต่มีข้อสงเกต (ก.) กัมพูชาเรียกตนเองว่า แขฺมร์ (คะ-แมร์) ไทยออกเสียงว่าเขมร ไม่เรียกตนเองว่าขอม จึงไม่รู้จักขอม (ข.) กัมพูชารู้จักคำว่าขอมจากไทยยัดเยียดให้

ล้านนา เรียกขอมว่า กล๋อม, กะหลอม, กะหรอม หมายถึงดังนี้ (1.) คนทางใต้ของล้านนา คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2.) ลัวะ (ละว้า) พูดมอญ-เขมร ชำนาญงานหิน (คือ หินตั้ง)

บางทีขยายความหมายของกล๋อม, กะหลอม มาจาก “ก่อล้อม” เพราะชำนาญการก่อล้อมสถานที่ด้วยหิน

กะหลอม คือ (1.) ชาวใต้ หมายถึง คนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2.) ผิวคล้ำ (3.) ตัดผมสั้น (4.) นุ่งโจงกระเบน (หญิง-ชาย)

ปรางค์สามยอด ศาสนาพุทธ มหายาน เรือน พ.ศ.1750 เมืองละโว้ จ.ลพบุรี

ขอมเก่าสุด หมายถึงละโว้

เก่าสุดพบในจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม) เรือน พ.ศ.1900 (สถาปนาอยุธยา 1893 รามาธิบดี) แต่เล่าเรื่องย้อนหลังถึงเรือน พ.ศ.1800 (มี 2 แห่ง) (1.) “ขอมสบาดโขลญลำพง” (เจ้านายเมืองละโว้) (2.) “ขอมเรียกพระธม” (มหาธาตุ ละโว้)

จารึกล้านนามีคำว่า “ขอม” เป็นคำยืมจากไทยสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อต้องการเทียบปีนักษัตรของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งรับชื่อปีนักษัตรจากเขมร

ขอม หมายถึงกัมพูชา ครั้งแรกสุด เก่าสุดพบในกฎมณเฑียรบาล ตราขึ้นแผ่นดินบรมไตรโลกนาถ ระบุศักราชว่า พ.ศ.2011

[ไม่มี “ขอมแปรพักตร์” ช่วงรามาธิบดี ที่ 1 (พ.ศ.1893) แต่จะมีช่วงปลายอยุธยา] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ