ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (16)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อประดิษฐานเทวรูปในตั๋วหรือแท่นบูชาเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะขับลำนำบทสวด (จิ่ว) เพื่ออัญเชิญเทวาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง และอ่านฎีกา (ส่อ) สำหรับการตั้งตั๋วพระบูชาประจำบ้าน กล่าวถึงมูลเหตุความเป็นมา ตลอดจนขอพรให้เจ้าบ้านมีความสุขความเจริญ

จากนั้นจะเป็นพิธีจกสิ่ว หรือการถวายเครื่องสักการะและถวายพระพรแด่เทพเจ้าในแท่นบูชาของเรา ซึ่งได้จัดเตรียมเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ธูปเทียน หลักฉ่าย ขนมต่างๆ น้ำชา (รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องบูชาเหล่านี้ รวมถึงความหมายท่านสามารถกลับไปอ่านได้ในบทความชื่อเดียวกันนี้ตอนเก่าๆ) เจ้าของบ้านก็ถวายสิ่งต่างๆ ไปโดยลำดับ รวมถึงรินเหล้า รินน้ำชาถวาย

แล้วจึงต่อด้วยการถวายกระดาษเงินกระดาษทองอย่างมากมาย นัยว่าเพื่อความสุขความเจริญเพิ่มพูน ผู้ประกอบพิธีก็จะสวดมนต์อำนวยอวยชัยปิดท้าย

ทำพิธีลาและส่งเทวาจารย์ที่ได้อัญเชิญมาในตอนแรก

 

บ้านไหนอั่นตั๋วหรือสถาปนาแท่นบูชาเทพเจ้าจะหมดพิธีกรรมแต่เพียงเท่านี้ แล้วจุดประทัด กินข้าวกินปลากันต่อครับ ซึ่งต้องกล่าวว่า ในกรณีของบ้านผมนับว่าทำพิธีอย่างละเอียดและครบถ้วนสมบูรณ์ จากความกรุณาของอาจารย์ณัฐนนท์ ปานคงผู้ประกอบพิธี เพราะในปัจจุบันได้มีการตัดทอนให้สั้นลงไปมากแล้วครับ

นอกจากนี้ เผอิญว่าบ้านของผมไม่เพียงมีพิธีตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าเท่านั้น แต่ยังตั้งแท่นบูชาสำหรับบรรพชน (จ้อเซียน) ด้วย ซึ่งเอาจริงๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องตั้งแท่นเทพเจ้าและอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำในทางวัฒนธรรมครอบครัว

อย่างที่ผมได้เคยเล่าไว้ครับว่า เทพเจ้าต่างๆ ที่เราบูชากราบไหว้ซึ่งเรียกว่า “เทียนสีน” (เทพฟ้า) นั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ทุกบ้านต้องมีต้องตั้ง เพราะที่จริงแล้ว เทพเจ้าซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับครอบครัวคนจีนคือเทพบรรพชนหรือเทพบิดรต่างหาก นับเป็นเทพประจำบ้าน (ฉู่สีน) ที่แท้จริง บ้านไหนไหว้บรรพชน มีที่สักการบูชาไม่ว่าจะใช้สัญลักษณ์แบบใดจะรูปถ่ายหรือป้ายวิญญาน (สีนจู้ป้าย) ก็นับว่ามีเทพเจ้าประจำบ้านตามอย่างประเพณีโบราณแล้ว

อีกทั้งคนจีนถือเรื่องความใกล้-ไกลด้วย บรรพชนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด ก็เพราะเลือดเนื้อของเรามาจากเลือดเนื้อของท่าน ยิ่งบุพการีเราก็ยิ่งใกล้ชิด

อันที่จริง เหตุที่ผมมาตั้งทั้งแท่นสักการะเทพเจ้าและแท่นบูชาบรรพชนก็ด้วยความรู้สึกที่ได้เข้าใกล้บรรพชนของตัวเองอย่างที่ไม่เคยป็นมาก่อนในชีวิตนี่แหละ

พูดให้ดูหน้าหมั่นไส้ คือรู้สึกราวกับบรรพชนท่าน “เรียกหา” อย่างไรอย่างนั้น

 

อันที่จริงใกล้-ไกล แบบที่กล่าวข้างต้นก็เป็นสิ่งที่อธิบายยากครับ บางครั้งดูนอกเหตุเหนือผลพอสมควร อย่างประสบการณ์ตอนที่คุณแม่ของผมใกล้เสียชีวิต จู่ๆ วันหนึ่งผมมีความรู้สึกเหมือนหวิวๆ ในใจ ไม่ใช่ความเศร้าที่ประเมินว่าแม่ของตัวเองกำลังจะตายในระยะเวลาอันใกล้นี้

แต่มันเหมือน “ขวัญหาย” ครับ บางครั้งช่วงที่คุณแม่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ผมรู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นคนคนเดียวกับแม่ คือเหมือนรับรู้ได้ถึงสภาพใจของท่านราวกับเกิดขึ้นในตัวเอง ซึ่งก็ไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรครับ และขี้เกียจที่จะหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์อะไรแบบนั้นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องระหว่างผมกับแม่ ซึ่งผมไม่ได้ต้องการพิสูจน์หรือโต้แย้งอะไร

นอกจากนี้ ผมจึงได้เข้าใจว่า ทำไมคนจีนถึงซีเรียสนักในเรื่องฮวงซุ้ยทำหลุมฝังศพ (บ่อง) บุพการีหรือบรรพชน ก็เพราะมัน “ใกล้” กันมากนี่แหละ

ฉะนั้น จึงเชื่อว่าถ้าฝังในชัยภูมิที่ดี ที่ถูกต้อง ผลดีนั้นย่อมส่งไปถึงลูกหลานโดยแน่แท้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าฝังในที่ชัยภูมิร้าย ผลร้ายนั้นก็ย่อมไปถึงลูกหลานเช่นกัน

ดังนั้น เรื่องเกี่ยวกับบรรพชนจึงค่อนข้างละเอียดอ่อน แถมยังมีเรื่องขนบจารีต ค่านิยม คุณธรรม ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึกและประเพณีของแต่ละครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

ผมต้องบอกว่า บางช่วงบางตอนของพิธีกรรมวันนั้น เล่นเอาน้ำตาซึมกันเลยทีเดียว

 

เคยได้ยินอาจารย์ผู้รู้ด้านจีนบางท่านเล่าไว้ว่า คนจีนโบราณมีสำนวนประมาณ “เปิดตู้บรรพชนตัดสินโทษ” คือบ้านคนจีนเก่าๆ ป้ายวิญญาณบรรพชนเขาจะประดิษฐานในตู้ไม้มีบานพับเปิดปิดได้ นอกพิธีเซ่นไหว้ก็จะปิดเอาไว้

แต่หากคนในครอบครัวกระทำความผิด ไม่ว่าจะจารีตครอบครัวหรือเรื่องอื่นๆ ที่ร้ายแรง ผู้ใหญ่หรือประมุขครอบครัวจะตัดสินโทษต่อหน้าป้ายบรรพชน เปิดบานพับให้ท่านรับรู้และมีส่วนในการลงโทษคนคนนั้น และอย่างน้อยๆ คนคนนั้นก็ต้องละอายว่าความผิดของตนถูกประจานต่อหน้าบรรพชน

เรื่องความละอายต่อบรรพชน ในทางหนึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องกดดันชีวิตคนจีนมาตลอดทุกยุคสมัย เป็นภาระหนักบนไหล่ แต่ในอีกทางคือระบบคุณธรรมแบบจีนๆ ที่ใช้ความสัมพันธ์เป็นตัวกำกับ โดยผ่านเรื่องเล่าหลากหลายนี่เอง ซึ่งก็ยากที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดีโดยสิ้นเชิง

พูดแบบพยายามจะเป็นวิชาการ ผีบรรพชนจีนจึง “แรง” และ “เฮี้ยน” มาตลอด เพราะยังคงทำหน้าที่กำกับศีลธรรมตามแบบผีโบราณมาอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะจางลงไปมากแล้วก็ตาม

ผมจำได้ว่า ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง หลังพระราชวังถูกตีแตกท่านหนีออกไปภูเขาหลังวังแล้วผูกคอตาย เขาเล่ากันว่า ก่อนจะผูกคอตายท่านได้สยายผมลงมาปิดหน้าตนเอง ด้วยความรู้สึกว่าไม่อาจเอาหน้าตนไปสู้หน้าเหล่าวิญญาณบรรพชนได้ ความรู้สึกต่อบรรพชนจีนมันแรงกันถึงเพียงนี้ครับ

 

ด้วยความใกล้ที่ทำให้ “แรง” หรือ “เฮี้ยน” ต่อลูกหลานด้วยนี่แหละ พิธีกรรมของบรรพชนจึงมักต้องทำไปด้วยความระมัดระวังและถี่ถ้วน ถ้าจะเอาตามขนบจารีต แม้แต่การตั้งแท่นบรรพชนในบ้านก็ต้องดูทิศทางให้ถูกต้องตามหลักชัยภูมิศาสตร์จีน จึงจะส่งผลที่ดีต่อลูกหลาน

บางท่านอาจคิดแย้งว่า อ้าวก็ในเมื่อใกล้ชิดกัน น่าจะหยวนๆ กันได้มากหน่อย แต่ผมคิดว่า กรณีนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องหยวนไม่หยวนแบบที่เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้นครับ ทว่ามันเป็นเรื่อง “พลังงาน” ที่ส่งผลต่อกันอย่างใกล้ชิด เพราะบรรพชนท่านคงไม่ได้คิดจะลงโทษหรือโกรธขึ้งอะไรเราง่ายนักหรอก

เพียงแต่เป็นการอธิบายเรื่องพวกนี้จากระบบจักรวาลวิทยาแบบจีน ที่เน้นตัวความสัมพันธ์ซึ่งไม่ใช่แค่ภายนอกจากระบบสังคมหรือครอบครัว

แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ของพลังงานและจิตวิญญาณภายในตัวตน อันอยู่ภายใต้มรรควิถีหรือกฎแห่งจักรวาลด้วย

 

กลับมายังพิธีในบ้านผม หลังตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าเสร็จ เราพักกันนิดหน่อย แต่ก็พักได้ไม่นานเพราะต้องทำพิธีส่วนของบรรพชนให้เสร็จก่อนเที่ยง เช่นเดียวกับเวลาที่เราไหว้ในเทศกาลต่างๆ

ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งของพิธีส่วนนี้ คือบรรดาอาหารต่างๆ ตามประเพณีของครอบครัวหรือของ “ภาษา” นั้นๆ จะต้องถูกตระเตรียมเช่นเดียวกับเวลาที่เราไหว้ในเทศกาลอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งเผอิญธรรมเนียม “คนภาษาฮกเกี้ยน” อย่างตระกูลผมนั้น จะต้องจัดอาหารสิบสองอย่างหรือสิบสองถ้วย (จับหยี่อั๊ว) รวมทั้งขนมผลไม้ เหล้าชา และข้าวอีกจำนวนเจ็ดถ้วยตามประเพณี (แสดงถึงบรรพชนรวม)

ในฐานะของเจ้าของบ้านที่ต้องทำกับข้าวเหล่านี้เองและยังต้องร่วมพิธีด้วยสมาธิจิตตั้งแต่เช้า จึงหนักหน่วงพอสมควรครับ

 

อ่อ ผมลืมเล่าไปว่ามูลเหตุของการตั้งแท่นบูชาบรรพชนมาจาก “โควิด-19” ด้วยครับ คือช่วงเวลาที่โรคโควิดระบาดรุนแรง ผมไม่สามารถเดินทางกลับไปไหว้บรรพชนและคุณแม่ยังบ้านเกิดที่ระนองได้โดยสะดวกนักในเทศกาลต่างๆ แต่ก็ยังคิดถึงและอยากไหว้อย่างถูกต้องตามขนบโดยเฉพาะแม่ จึงได้ปรึกษาอาจารย์ในเรื่องนี้

ท่านบอกว่าหากประสงค์จะไหว้บรรพชนแยกออกมาจากบ้านเดิมก็ไม่ได้ผิดอะไรเนื่องจากมีความจำเป็น เพราะคนจีนถือว่า ขวัญหรือพลังชีวิตของบรรพชนนั้นมีถึงสามส่วน ถ้าแยกไม่เกินสามแห่งย่อมสามารถกระทำได้ตามหลักความเชื่อ แต่ควรจะต้องมีสัญลักษณ์แทนบรรพชนขึ้นมาใหม่จากของเดิมซึ่งเราไม่สามารถนำมาได้

โดยปกติผมมีรูปคุณแม่ไว้กราบไหว้ในทุกเทศกาลอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการไหว้บรรพชนทั้งหมดในสายตระกูล หรือในแซ่ที่ผมถืออยู่ อาจารย์ท่านจึงเมตตาเขียนป้ายสีนจู้หรือป้ายบรรพชนแบบรวมไว้ให้ เพื่อใช้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้ต่อไป

คนเชื้อสายจีนโพ้นทะเลโดยเฉพาะคนบาบ๋าในบางพื้นที่ อาจมีธรรมเนียมต่างจากแผ่นดินใหญ่ เพราะมักแยกไหว้บรรพชนกันเป็นคนคนไปแม้อยู่บนแท่นบูชาเดียวกัน โดยวางรูปภาพเอาไว้พร้อมกระถางธูปแยกกัน

ทว่า ธรรมเนียมเดิมในจีน เฉพาะ “ผีใหม่” หรือผู้วายชนม์เพิ่งตายยังไม่ครบสามปีหรือยังไม่ออกทุกข์ จึงจะแยกกระถางธูปไว้อีกอีน แยกกับอันรวม เมื่อครบกำหนดออกทุกข์หรือครบสามปีแล้ว จึงจะรวมกระถางธูปกันเป็นอันเดียว ถือเป็นกระถางธูปบูชาบรรพชนทั้งหมด ส่วนรูปหรือสัญลักษณ์จะวางแยกกันไว้ก็ไม่เป็นไร

บางบ้านจึงใช้ป้ายบรรพชนรวมไปเลย ถือว่าครบถ้วนทุกรุ่นทุกคนทั้งฝั่งพ่อฝั่งแม่ สะดวกและเรียบร้อยสวยงาม แต่จะวางรูปถ่ายของแต่ละท่านไว้เพื่อระลึกถึงไปด้วยก็ได้เช่นกัน เช่นกรณีบ้านของผม

เนื้อที่ในวันนี้หมดเสียแล้ว

โปรดติดตามกันต่อครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง