เคน นครินทร์ : อาการไอเดียตีบตัน สิ่งที่ควรทำ เมื่อคิดงานไม่ออก

 

คุณผู้อ่านเคยมีอาการไอเดียตีบตัน คิดงานไม่ออกไหมครับ?

ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยเป็น ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นอาชีพที่เกียวข้องกับความคิดสร้างสรรค์อย่างครีเอทีฟ นักเขียน ผู้กำกับ ดีไซเนอร์ ศิลปิน หรือแม้แต่อาชีพทั่วๆ ไปอย่างนักการตลาด ผู้จัดการ นักกีฬา หรือทนายความก็ตาม เพราะทุกๆ งานก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แทบทั้งนั้น

คำถามก็คือ หากคิดไม่ออก เราควรทำอย่างไร?

ผมเก็บคำถามนี้ไว้กับตัวเองมาเนิ่นนาน ทดลองทำมาก็หลายวิธี เวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง จนกระทั่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ดำเนินการเสวนากิจกรรมของ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี โดยหัวข้อที่คุยกันในวันนั้นคือ “What is Exhibition : ต้องมีอะไรถึงจัดนิทรรศการได้”

ขึ้นชื่อว่าเป็น TCDC หน่วยงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว ผมจึงไม่พลาดที่จะลองโยนคำถามนี้ให้กับวิทยากรหลายคนช่วยตอบ

วิทยากรหลายท่านเห็นตรงกันว่า ทุกคนย่อมเคยเจอภาวะแบบนั้น และก็พยายามหาทางออกเช่นเดียวกัน

คำตอบที่ได้ก็มีหลากหลายครับ แต่มีวิธีอยู่ 3-4 ข้อที่ผมค่อนข้างชอบ จึงอยากนำมาแบ่งปันกัน

วิธีที่หนึ่ง หยุดคิดแล้วไปทำอย่างอื่น

ฟังดูเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำได้ยากที่สุด เพราะคงไม่มีใครอยากทิ้งงานที่ทำตรงหน้าได้ ถ้าเราอยากให้งานมันเสร็จ ยิ่งเดดไลน์ใกล้เข้ามา ใครจะกล้าหยุดสิ่งที่คิดอยู่

แต่ คุณนันท์นรี พานิชกุล ภัณฑารักษ์อาวุโส ฝ่ายกิจกรรมและนิทรรศการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ผู้ที่คิดงานนิทรรศการดีๆ มาแล้วหลายต่อหลายชิ้น บอกผมว่า ไม่มีประโยชน์หากจะฝืนตัวเองอยู่อย่างนั้น

“เคยเหมือนกันที่พยายามคิด แต่คิดให้ตายก็คิดไม่ออก ติดอยู่ประโยคเดียวตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนตีสามก็ยังไม่ได้”

สิ่งที่เธอแนะนำคือ ลองวางงานที่คิดอยู่แล้วไปทำอย่างอื่น พักเรื่องหนักนั้นๆ แล้วหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น นอน เดินเล่น อ่านหนังสือ ดูหนัง อาบน้ำ

สิ่งสำคัญคือระหว่างนั้น อย่ากังวลว่างานจะไม่เสร็จ (แต่ต้องมั่นใจว่ายังไม่ถึงเดดไลน์นะครับ) และไม่ควรคิดเรื่องงานเด็ดขาด เพื่อเคลียร์สมองให้ได้มากที่สุด

ผมเคยใช้วิธีนี้เหมือนกัน ต้นฉบับหลายชิ้นของมติชนสุดสัปดาห์ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการ “หยุดคิดแล้วไปทำอย่างอื่น”

เวลาเขียนไม่ออก ผมมักจะออกไปเดินเล่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เพื่อให้ลืมเรื่องที่เขียนไปชั่วขณะ พอกลับมาอ่านงานที่เขียนค้างไว้ เราจะเหมือนเป็นคนอ่านที่ไม่เคยเห็นงานนี้ทำให้มีไอเดียที่จะเขียนต่อได้

หรือในระยะหลัง ผมมักจะเขียนโครงเอาไว้ก่อน เขียนสิ่งที่อยากเล่าออกมาให้มากที่สุด เสร็จแล้วก็นอนเอาดื้อๆ แม้ว่าจะยังเขียนไม่เสร็จ

ไม่น่าเชื่อว่าพอตื่นขึ้นมาตอนเช้า หัวสมองจะรู้สึกว่าเฟรชมาก เมื่อได้อ่านทวนสิ่งที่เขียนไปเมื่อวาน ก็มักจะเห็นข้อผิดพลาดหรือได้ไอเดียใหม่ๆ ในการเขียนได้อย่างน่าประหลาดใจ

การหยุดเพื่อให้สมองได้พัก จึงมีประโยชน์มากกว่าที่จะดื้อดันคิดต่อไปทั้งๆ ที่หัวสมองไม่แล่นแล้ว

วิธีที่สอง หาตัวช่วย

หากคิดอยู่คนเดียวแล้วยังหาทางออกไม่ได้ ศุภมาศ พะหุโล อดีตภัณฑารักษ์ ฝ่ายบริหารและจัดการองค์ความรู้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok City City Gallery บอกว่า วิธีที่ดีที่สุดคือหาคนมาช่วยคิด

“ลองเอาไอเดียที่คิดค้างไว้ไปถามคนอื่นๆ ยิ่งเป็นคนที่อยู่คนละวงการ หรือไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่คิดอยู่ จะมีประโยชน์มาก”

คุณศุภมาศบอกว่า การที่คิดงานด้วยตัวเองคนเดียวอาจจะมีประโยชน์ที่ได้พัฒนาไอเดียได้เต็มที่ อย่างไรก็ดี แต่ละคนก็มีจะกรอบความคิดที่ทำให้เราไปได้ไม่สุด การคุยกับคนอื่นจะช่วย “ขยายขอบเขต” ของความคิดได้มากขึ้น หรืออาจจะช่วยให้เราได้เปิดประตูทางไอเดียใหม่ๆ

วิธีที่สาม ย้อนกลับหาโจทย์

วิธีคิดนี้มาจาก คุณวินัย ฉัยรักษ์พงศ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง blulg studio บริษัทที่นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทออกแบบแบบสหวิทยาการ (multidisciplinary design firm) ซึ่งมีทีมงานออกแบบที่มาจากสาขาต่างๆ กันตั้งแต่สถาปนิก กราฟิกดีไซเนอร์ มัณฑนากร ศิลปิน ดิจิตอลอาร์ติสต์ ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์

คุณวินัยเป็นนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการและงานอีเวนต์สำคัญๆ มากมาย อาทิ หอแห่งแรงบันดาลใจ นิทรรศการถาวรในโครงการพัฒนาดอยตุง นิทรรศการของ TCDC หลายชิ้น เช่น กันดารคือสินทรัพย์ : อีสาน (Isan Retrospective), มารีเมกโกะ : แล้ง หนาว… แต่เร้าใจ (Marimekko : Fabrics, Fashion and Architecture), วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood), อจีรัง คือ โอกาส (Perishable Beauty)

ก่อนจะตอบคำถาม คุณวินัยบอกผมว่า เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานโดยอ้างอิงจาก “โจทย์” ของลูกค้าเป็นหลัก ทุกครั้งที่รับบรีฟ เขาจะต้องถามให้เคลียร์ว่า ลูกค้าต้องการอะไรกันแน่ หรือเนื้อหาที่แท้จริงคืออะไร เช่น

เขาตอบคำถามผมว่า เขาก็เหมือนกับทุกคนที่มีปัญหาในการคิดงานไม่ออก แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่านั่นเป็นเพราะไอเดียเราตีบตัน เพราะเขามองว่าสิ่งที่ทำให้เราคิดไม่ออกเพราะ “โจทย์ที่ตั้ง” มันไม่ตรงหรือไม่ลึกพอ

“ทุกครั้งที่ผมคิดไม่ออก ผมจะกลับไปหาโจทย์อีกครั้งว่า โจทย์คืออะไร ซึ่งพบว่าปัญหามักจะมาจาก 2 แบบ หนึ่งคือคำถามยังไม่ลึกพอ หรือสองคือคำถามมันผิด วิธีแก้คือเราต้องตั้งคำถามใหม่ ไม่อย่างนั้นก็กลับไปคุยกับลูกค้าอีกครั้งว่า เขาต้องการอะไรกันแน่”

คุณวินัยขยายความต่อว่า แม้ว่าอาชีพที่เขาทำจะเรียกว่าเป็นดีไซเนอร์ แต่เขานิยามตัวเองจริงๆ ว่าคือ “นักตอบโจทย์” เขาไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีโจทย์ที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น วิธีแก้ไขปัญหาการคิดงานไม่ออก จึงต้องกลับไปค้นหาโจทย์นั้นให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง