จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (1)

 

ในทศวรรษที่ 1980 ต่อ 1990 อันเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นและค่ายคอมมิวนิสต์แตกสลายซึ่งนำไปสู่สงครามชาตินิยมในเอเชียและยุโรปตั้งแต่เวียดนามบุกยึดเขมรแดงถึงกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนปัจจุบัน มีหนังสือของนักวิชาการตะวันตกชั้นนำเรื่องชาตินิยมตีพิมพ์ออกมาไล่ๆ กัน 3 เล่มได้แก่ :

1. Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (1983) ของ Benedict Anderson (1936-2015) นักรัฐศาสตร์ชาวไอริชผู้เชี่ยวชาญเอเชีย- อาคเนย์ศึกษา แห่ง Cornell University สหรัฐอเมริกา

2. Nations and Nationalism (1983) ของ Ernest Gellner (1925-1995) นักปรัชญาและนักมานุษยวิทยาสังคมชาวเช็ก แห่ง London School of Economics and Political Science, University of London สหราชอาณาจักร

3. Nations and Nationalism Since 1780: Programme, Myth, Reality (1991) ของ Eric Hobsbawm (1917-2012) นักประวัติศาสตร์ยุโรปและสากลแนวมาร์กซิสต์ แห่ง Birkbeck College, University of London สหราชอาณาจักร

ในประดาหนังสือวิชาการเรื่องชาตินิยมข้างต้น เล่มที่แพร่หลายที่สุดและทรงอิทธิพลทางความคิด วิชาการที่สุดได้แก่ Imagined Communities หรือ IC ของครูเบน แอนเดอร์สัน ดังปรากฏว่าถึงกลางปี 2016 หลังครูเสียชีวิตที่อินโดนีเซียแล้ว…

เรียบเรียงปรับปรุงจากคำพูดคุยสาธารณะของผมในงานรำลึกอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื่องในโอกาสอาจารย์จากไปครบ 90 วัน ณ ลานหน้าโรงละคร หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 พฤศจิกายน 2566

จากการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ Google Scholar งานเรื่อง IC ได้ถูกอ้างอิงไปแล้วราว 64,000 ครั้ง นับเป็นงานที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ในบรรดาหนังสือสาขาสังคมศาสตร์ทั้งหลายและถูกอ้างอิงสูงลิ่วที่สุดในงานศึกษาเกี่ยวกับชาตินิยม

IC ภาษาอังกฤษถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Verso ออกมาแล้วเป็นฉบับพิมพ์ (editions) 3 ครั้ง ยอดขายกว่าครึ่งล้านเล่ม นับว่าสูงยิ่งสำหรับหนังสือวิชาการ

ทั้งนี้ ยังไม่นับ IC ฉบับแปลเป็นภาษาอื่นๆ ถึง 29 ภาษาใน 33 ประเทศ (ข้อมูลจาก John Breuilly, “Benedict Anderson’s Imagined Communities : a symposium,” Nations and Nationalism, 22:4 (2016), 625-659) รวมทั้งภาษาไทย (ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, 2552) โดยคณะผู้แปลซึ่งมีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการแปล

ด้วยความโดดเด่นสำคัญของ IC ข้างต้น ในโอกาสการจากไปครบ 90 วันของอาจารย์นิธิ ผมจึงใคร่ชวนพูดคุยเชื่อมโยงงานเล่มดังกล่าวกับครูของผมทั้งสองท่าน โดยมุ่งประเด็นไปที่คุณูปการของอาจารย์นิธิในการประยุกต์แนวคิดชุมชนในจินตนากรรม (imagined communities) ของครูเบนมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจชาติไทย

ผมขอเริ่มโดยอธิบายแนวคิดชุมชนในจินตนากรรมโดยสังเขปด้วยการหยิบยืมถ้อยคำของอาจารย์นิธิมาใช้ :

“ศาสตราจารย์เบน แอนเดอร์สัน อธิบายว่าเมื่อเรานึกถึงคนที่ร่วมอยู่ในชุมชนที่เรียกว่าชาตินั้น ส่วน ใหญ่ของสมาชิกของชุมชนที่เรากำลังนึกถึงคือคนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่มีวันจะรู้จัก และไม่มีวันจะรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาเลย ในความเป็นจริงนั้นเขามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ก็ไม่มีทางทราบได้ แต่เราก็เชื่อแน่ว่ามีเขาอยู่และร่วมเป็นสมาชิกชุมชนเดียวกับเราอย่างแน่นอน ฉะนั้น ชาติจึงเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น” นิธิ, “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา”, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก, 2538, น.50

นั่นหมายความว่าชาติเป็น “สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมประเภทเฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่ง” (cultural artefacts of a particular kind) ไม่ได้มีมาเป็นมาเองตามธรรมชาติแต่ไหนแต่ไร และความที่มันดำรงอยู่ในจินตนากรรม (ถูก imagined ขึ้นมา) เราจึงมิอาจเห็น “ชาติ” (ทุกๆ ชาติในโลก รวมทั้งขวานทองหรือกระบวยตักน้ำของชาติไทย) ด้วยตาเปล่า ต่อให้ขึ้นดาวเทียมออกไปนอกโลกแล้วมองลงมาจากอวกาศก็ตาม ทางเดียวที่เราจะเห็น “ชาติ” ได้ก็แต่โดยหลับตาแล้วนึกคิดหรือติ๊งต่างเอาเท่านั้น

 

ติ๊งต่างว่าชาติไทยและเพื่อนร่วมชาติของเราสังกัดอยู่ในสถานที่ร่วมกัน (imagined common place) โดยใช้แผนที่เป็นเครื่องมือจินตนากรรม

ติ๊งต่างว่าชาติไทยและเพื่อนร่วมชาติของเรามีอดีตความเป็นมาร่วมกัน (imagined common past) โดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือจินตนากรรม

และติ๊งต่างว่าชาติไทยและเพื่อนร่วมชาติของเรา (ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดของชาวไทย 71.75 ล้านคนนั้นเราจะไม่มีวันรู้จักมักคุ้นชื่อเสียงเรียงนามหน้าตาได้ทั่วถึงเท่าทันในชั่วชีวิตนี้) มีสายสัมพันธ์ต่อกัน (imagined common ties) โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เป็นเครื่องมือจินตนากรรม เช่น ภาษามาตรฐานแห่งชาติ ธงชาติ เพลงชาติ ชุดประจำชาติ ฯลฯ

มิฉะนั้นแล้ว – หากปราศจากเครื่องมือช่วยจินตนากรรมดังกล่าวเหล่านั้นเสียแล้ว – เราก็จะไม่อาจหลับตานึกคิดถึง “ชาติไทย” ออกมาได้

ค่าที่ว่ามันเป็นความจริงแบบสกรรมสภาวะ (transitive reality) กล่าวคือ ชาติจะกลายเป็นจริงได้ ต้องอยู่ในหัวของเรา คือเราต้อง [เชื่อ (ว่ามีชาติ) -> ทำ (เสมือนหนึ่งมีชาติ) -> (จึงมีชาติ) จริง] ขึ้นมา

(ต่อสัปดาห์หน้า)