ช็อก! สภาพัฒน์กางตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ทรุด สำนักวิจัยแห่หั่นเป้า เศรษฐาชี้ ‘วิกฤต’ และจำเป็นแจก ‘เงินดิจิทัล’

เศรษฐกิจไทยสาละวันเตี้ยลงอย่างชัดเจน!!

โดยตัวเลขล่าสุดที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ ก็คือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 1.5% ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.8% ต่อปี

แถมยังเป็นการขยายตัวที่ต่ำแบบ “ผิดคาด” เพราะบรรดาสถาบันวิจัยต่างๆ คาดการณ์กันว่า ในไตรมาสนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี

เรียกว่า “หักปากกาเซียน” กันเลยทีเดียว

 

โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 มีแรงส่งสำคัญจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 8.1% และการลงทุนรวมขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 3.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัว 2.6% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว จากการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนที่ยังมีปัญหา

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 1.5% มาจากเรื่องการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และถ้านับรวมไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วด้วย ก็จะเป็นการหดตัวมา 4 ไตรมาส แม้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสจะมีสัญญาณการฟื้นตัวก็ตาม”

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 หากเทียบกับไตรมาส 2 (QOQ) พบว่า ยังขยายตัวได้ 0.8%

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ที่ 1.9% โดยประมาณการปีนี้ทั้งปีคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2.5% จากเดิมคาด 2.5-3.0% ทั้งนี้ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่คาดจะโตดีขึ้นที่ 7% จากเดิมคาด 5% แต่การอุปโภคภาครัฐบาลหดตัวมากขึ้นที่ 4.2% จากเดิม 3.1% ส่วนการลงทุนเอกชนจะขยายตัวได้ 2% ดีกว่าเดิมที่คาดโต 1.5% ด้านมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะหดตัวมากขึ้นเป็น 2% จากเดิมคาดหดตัว 1.8%

“ส่วนในไตรมาส 4 โมเมนตัมในเรื่องการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ และอีกอย่างจะมีเรื่องฐานที่ต่ำในปีที่แล้วด้วย ฉะนั้น การเติบโตทั้งปีที่ 2.5% ก็น่าจะใกล้เคียง”

ในปี 2567 สศช. คาดว่าจีดีพีจะโต 2.7-3.7% ต่อปี หรือค่ากลางประมาณ 3.2% โดยการบริโภคภาคเอกชนน่าจะโต 3.2% แต่การลงทุนภาครัฐน่าจะหดตัว 1.8% เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคาดว่างบฯ ปี 2567 จะออกได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 ก็จะต้องเร่งเตรียมการเบิกจ่าย พองบฯ ออกมาแล้วต้องเร่งทันที ด้านการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8%

“ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออก รวมถึงการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีของการลงทุนภาคเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว”

 

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567 ได้แก่

1. แรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ที่กว่างบฯ ปี 2567 จะออกได้ก็ประมาณเดือนเมษายน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ต้องเตรียมการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันการหารายได้ของรัฐบาลต้องพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี หรือค่าลดหย่อนต่างๆ กันอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถมีฐานะด้านการคลังดีขึ้น สำหรับรองรับความเสี่ยงในปีหน้า

2. หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงถึง 90.7% ของจีดีพี ยังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการเข้ามาดูแล ปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง ทั้งในส่วนธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

3. ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

และ 4. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ซึ่งจำเป็นต้องมีช่องว่างทางด้านการคลังที่เพียงพอ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าที่คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 2.7-3.7% หรือค่าเฉลี่ย 3.2% นั้น นายดนุชากล่าวว่า ยังไม่ได้คำนวณรวมมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาให้ออกมาชัดเจนก่อน

ถามว่าเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 5% หรือไม่นั้น เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เข้าใจว่าการเติบโต 5% เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งสำหรับการบริหารเศรษฐกิจของทางรัฐบาล

“การจะทำให้เศรษฐกิจโตไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายส่วน โดยเฉพาะด้านการส่งออก และการลงทุน ที่ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น”

ส่วนเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น ถ้าดูตั้งแต่หลังโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความผันผวนทั้งจากภายในและภายนอกมาโดยตลอด ซึ่งหลังโควิดคลี่คลายแล้ว ก็คิดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่านี้ แต่ก็มาเจอปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลกชะลอลงเร็วกว่าที่คาดไว้

“โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราต้องการทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคใหญ่และเกี่ยวพันกับการส่งออก” เลขาธิการ สศช.กล่าว

 

ขณะที่สำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มประกาศปรับลดประมาณการจีดีพีกันตามมาทันที อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประกาศปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% ต่อปี จากเดิม 3.0% เช่นเดียวกับวิจัยกรุงศรี ที่เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพีลงเช่นกัน จากเดิมคาดไว้ 2.8%

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า KKP จะปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโตได้ 2.8% ต่อปี หลังจากตัวเลข สศช.ออกมาโตต่ำแค่ 1.5% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ส่วนจีดีพีปีหน้า คงต้องพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีการแจกเงินดิจิทัลด้วย

ถึงจุดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากตัวเลขจีดีพีที่ออกมาต่ำนั้น ตนเป็นห่วงอย่างมาก โดยจีดีพีออกมาที่ 1.5% จากที่คิดว่าจะโตได้ถึง 2% ถือว่าเลวร้ายกว่าที่คิดไว้มาก

ซึ่งรัฐบาลจะต้องพยายามทำให้ตัวเลขดีขึ้น โดยเรื่องแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น จุดยืนของตนชัดเจนว่า “วิกฤตและจำเป็น”

ทั้งหมดนี้ คงต้องติดตามการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะมาตรการที่เป็น “เรือธง” อย่าง “แจกเงินดิจิทัล” ที่ยังต้องฝ่าด่านหินอีกหลายด่าน