
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
จวนเจียนจะครบหนึ่งเดือนแล้วที่กองทัพเมียนมาเผชิญการสู้รบโจมตีอย่างหนักจากหลายแนวรบพร้อมๆ กัน จนกล่าวได้ว่าเป็นการท้าทายอำนาจผู้ปกครองทหารเมียนมาครั้งใหญ่ที่สุดนับจากเหตุการณ์รัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อกว่า 2 ปีก่อนก็ว่าได้
หลังจากกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่ม ผนึกกำลังเป็นแนวร่วม “พันธมิตรสามภราดรภาพ” ประกอบด้วยกองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารภายใต้รหัสที่เรียกขานว่า “ปฏิบัติการ 1027” ซึ่งมีที่มาจากวันลงมือโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมารอบเมืองเล่าก์ก่าย เมืองเอกในเขตปกครองตนเองโกก้าง ในรัฐฉานของเมียนมาติดกับพรมแดนจีน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
จนกระตุ้นให้กองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เกิดความฮึกเหิมร่วมเปิดแนวรบโจมตีทหารเมียนมาด้วย
ซึ่งรวมถึงกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในรัฐคะยา ที่เข้าโจมตีเมืองหลักหลอยก่อ
และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นพลเรือนนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการรัฐประหารได้รวมตัวกันจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อมุ่งโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหาร ก็ได้ประกาศเข้าร่วมผนึกกำลังด้วย
นับจากปฏิบัติการ 1027 เปิดฉากขึ้นในวันนั้น กองทัพเมียนมาก็ได้เผชิญการรุกโจมตีอย่างดุเดือดจากกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั้งในรัฐฉาน รัฐยะไข่ รัฐชิน รัฐมอญ รัฐคะฉิ่น และรัฐกะเหรี่ยง
จนทำให้ชาวเมียนมาหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น บ้างอพยพหนีภัยสู้รบเข้าไปยังชายแดนจีนและชายแดนอินเดียที่อยู่ติดกันที่รัฐมิโซรัม
และดูเหมือนกองทัพเมียนมาจะพลาดพลั้งเสียทีให้กับแนวร่วมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยสูญเสียการควบคุมฐานที่มั่นและด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ปะทะ
และยังมีรายงานทหารเมียนมายอมจำนนหรือแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเพิ่มขึ้น
ปฏิบัติการ 1027 ถูกมองในวงกว้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อมุ่งยุติระบอบปกครองของอำนาจเผด็จการทหาร โดยที่แนวร่วมพันธมิตรสามภราดรภาพประกาศกร้าวว่าการผนึกกำลังเปิดแนวรบโจมตีกองทัพเมียนมาก็เพื่อปกป้องชีวิตพลเรือน รักษาพื้นที่มั่นของตนเอง และตอบโต้การถล่มโจมตีพวกตนของกองทัพเมียนมา
นอกจากนี้ ยังอ้างว่าเพื่อมุ่งขจัดพวกแก๊งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ที่มาลักลอบตั้งศูนย์ดำเนินงานตามแนวชายแดนเมียนมาติดกับจีน ซึ่งมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากเข้าร่วม ส่วนใหญ่ถูกล่อลวงมากลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
โดยในหมู่แรงงานต่างชาติเหล่านั้นมีคนจีนและคนไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศแล้วหลายร้อยคน
แต่ในความเห็นของนักสังเกตการณ์ด้านความขัดแย้งอย่าง อามารา ธีฮา จากสถาบันวิจัยสันติภาพออสโล มองว่าแรงผลักหลักใหญ่ของการเปิดแนวรบร่วมครั้งนี้ก็คือความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตแดน
โดยเขามองว่ากองกำลังกบฏชาติพันธุ์ต่างมีวาระสู้รบเป็นของตนเอง ตั้งแต่การยึดดินแดนควบคุม ไปจนถึงการขยายอิทธิพลในเส้นทางการค้า
ซึ่งในการทำสงครามสู้รบเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง ก็จำเป็นจะต้องสร้างความชอบธรรมทางการเมืองขึ้น
ความชอบธรรมที่เป็นยอมรับได้มากที่สุดในเมียนมาขณะนี้ก็คือ การมุ่งยุติการปกครองของเผด็จการทหาร
นักวิเคราะห์และนักการทูตบางคนยังให้ความเห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ปฏิบัติการ 1027 จะเกิดขึ้นโดยปราศจากการเห็นถึงผลประโยชน์ด้วยจากจีน
เพราะการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ที่หลอกลวงคนจีนให้เป็นเหยื่อจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ทางการจีนเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลทหารเมียนมาเร่งจัดการปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายนี้มาก่อนแล้ว
นั่นจึงอาจทำให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ไม่ได้เผชิญแรงกดดันจากจีนสักเท่าไรนัก ที่การสู้รบก็ทำให้จีนได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของชาวเมียนมาที่หนีภัยความรุนแรงไปด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาขอบเขตของการคุกคามท้าทายอำนาจปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมาว่าจะเป็นไปได้มากเท่าไร
แต่ที่ผ่านมาเมียนมาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอำนาจเผด็จทหารมานานกว่า 5 ทศวรรษ ได้ผ่านการรับมือปะทะสู้รบกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์มาหลากหลายรูปแบบ
ผสมผสานกับการดำเนินกลยุทธ์แบ่งแยกและปกครอง ที่ทำให้ระบอบอำนาจทหารเมียนมายังยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง
ปฏิบัติการ 1027 นี้ก็อาจจะถือเป็นบททดสอบใหญ่สำคัญอีกครั้งสำหรับคณะผู้ปกครองทหารเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย
ว่าจะรักษาความเป็นปึกแผ่นของประเทศไว้ได้อย่างที่ผ่านมาหรือไม่!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022