รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเท่านั้น ที่รับประกันความยุติธรรม เสรีภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ของผู้คนในระบบทุนนิยม

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าวิวาทะที่สำคัญระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญกับข้อถกเถียงเรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจระยะสั้น” กับ “นโยบายรัฐสวัสดิการเพื่อเปลี่ยนแปลงระยะยาว”

ซึ่งผมมีโอกาสเขียนเรื่องนี้หลายครั้งในทางวิชาการและการวิเคราะห์ความเห็นต่อเรื่องนี้ใน “คอลัมน์ฝนไม่ถึงดิน” ไม่ต่ำกว่าสามครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีจุดยืนสำคัญว่า สองนโยบายนี้สามารถไปด้วยกันได้ และให้หลีกเลี่ยงการกู้เงินเพราะเราสามารถดึงงบประมาณอื่นที่ไม่มีความจำเป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในการถกเถียงนี้ ได้มีฝ่ายที่สนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษกิจระยะสั้นได้บอกว่า “รัฐสวัสดิการ” เป็นการทำลายเสรีภาพของปัจเจกชน

ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง และไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งในทางนโยบาย และทางวิชาการ

ผมขอใช้พื้นที่บทความนี้อธิบายให้เห็นว่า หากเราต้องการ “สังคมที่มีเสรีภาพ” มันไม่ใช่แค่ทำให้มีการค้าเสรี หรือเสรีภาพในการจ่ายเงิน เสรีภาพในการลงทุน

แต่เรายังต้องการสังคมที่มีความ “ยุติธรรม” ในสิทธิพื้นฐานในชีวิต เพื่อทำให้มนุษย์สามารถมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ด้วย

และโลกนี้ก็ได้พิสูจน์มาอย่างต่อเนื่องแล้วว่า สังคมที่มีการดูแลสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชน คือสังคมที่ทำให้แต่ละคนมีทางเลือกในชีวิต และโอกาสการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ดีกว่าสังคมที่ปราศจากระบบสวัสดิการที่ดี

มันจึงห่างไกลกับการบอกว่ารัฐสวัสดิการทำลายเสรีภาพในการเลือก

 

เมื่อประมาณสามปีที่แล้วผมมีโอกาสทำงานวิจัยเพื่อเทียบโอกาสการเลื่อนลำดับชั้นโดยกำเนิดของผู้คนที่เกิดในประเทศที่แตกต่างกัน โดยเปรียบสหรัฐอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น และ นอร์เวย์

โดยผมมีข้อสมมุติว่า งบประมาณด้านสวัสดิการยิ่งเยอะยิ่งน่าจะมีผลต่อการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม

แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถ้าคนเกิดในครึ่งล่างของสังคม โอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมถือว่าต่ำที่สุด คนรวยมีโอกาสจองสถานะข้ามรุ่นมากกว่า

ขณะที่ญี่ปุ่นดีขึ้น และนอร์เวย์นับเป็นประเทศที่คนเกิดในครึ่งล่างของสังคมมีโอกาสมากกว่าในการเลื่อนลำดับชั้นมากกว่าประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทยเราอาจเห็นเด่นชัดว่าค่าใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการต่ำกว่าประเทศอื่น แต่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการจากรัฐในสัดส่วนที่สูง

แต่ทำไมการเลื่อนลำดับชั้นของคนในสังคม หรือเสรีภาพในการเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นไม่ดีเท่านอร์เวย์

 

หลักการที่สรุปได้เบื้องต้นคือ “ความเป็นมิตรของสวัสดิการ” หรือสวัสดิการที่มีนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายขนาดไหน มีความเสมอต้นเสมอปลาย สามารถวางแผนได้

กล่าวคือ เป็นสวัสดิการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในฐานะสิทธิพื้นฐาน มากกว่าหลักเกณฑ์ที่รัฐออกเป็นครั้งคราว

ในกรณีสหรัฐอเมริกา งบประมาณสวัสดิการส่วนมากเป็นสวัสดิการที่ผูกติดกับการสงเคราะห์ พิสูจน์ความจน และโครงการช่วยเหลือรายกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามแนวทางของรัฐ

ซึ่งแทนที่ว่างบประมาณเหล่านี้จะช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนที่สุด กลับกลายเป็นว่าได้กีดกันคนที่จนที่สุดออกจากระบบสวัสดิการ

เพราะไม่สามารถเข้าสู่กลไกการพิสูจน์ได้ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลและเวลา

งบประมาณหมดไปกับระบบราชการเพื่อการพิสูจน์ รวมถึงนโยบายสวัสดิการระยะสั้นเฉพาะกลุ่มต่างๆ

จึงไม่แปลกว่า สหรัฐอเมริกากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ห่างไกลจาก “ความฝันแบบอเมริกัน” ที่ทุกคนมีเสรีภาพในการเปลี่ยนสถานะของตน เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่รายได้สูงด้วยกัน

ด้วยเหตุผลว่า “สวัสดิการ” ไม่ได้เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า ไม่มีความแน่นอน อันทำให้คนไม่สามารถวางแผนชีวิตได้

 

ส่วนกรณีญี่ปุ่นนั้น สวัสดิการไปผูกกับกลุ่มอาชีพ และความสามารถในการสมทบผ่านระบบประกันสังคมของแต่ละคน อันเน้นไปที่กลุ่มคนทำงานประจำ

ซึ่งหากมองโดยทั่วไปแล้วน่าจะเป็นระบบที่กระตุ้นให้คนทำงานเพื่อให้ได้รับระบบสวัสดิการที่ดี และกระจายสวัสดิการสู่คนในครอบครัวผ่านการทำงานด้วยเช่นกัน

แต่ปัญหาคือการผูกติดสวัสดิการกับการทำงานที่ยาวนานต่อเนื่องในอาชีพหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วปัญหาสำคัญคือ เมื่อระบบสวัสดิการออกแบบมาในลักษณะนี้ก็ทำให้คนไม่สามารถเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ของตนได้อีกครั้ง

เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงในการเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ ทำให้เสรีภาพในการเลือกชีวิตลดน้อยลงตามลักษณะสวัสดิการ

ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างประเทศที่งบประมาณสวัสดิการไม่น้อย แต่กลับไม่สามารถทำให้คนมีเสรีภาพในชีวิตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

แม้นอร์เวย์ ที่ผมได้ศึกษามาจะมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่สูงเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

แต่หัวใจไม่ได้อยู่ที่เรื่องแค่ปริมาณเท่านั้น แต่อยู่ที่การออกแบบระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไม่ว่าอาชีพใด สถานะทางเศรษฐกิจแบบใดสามารถวางแผนชีวิตได้ เข้าถึงระบบสวัสดิการได้โดยง่าย ไม่กำหนดหลักเกณฑ์ยุ่งยากซับซ้อน

ลักษณะนี้ทำให้ระบบสวัสดิการเป็นมิตร และยุติธรรม คนเสียภาษีมาก ภาษีน้อยก็ได้เท่ากัน ทำให้คนธรรมดาที่เกิดมาฐานะไม่ดี สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้โดยง่าย ทำงานที่ดี

สุดท้ายก็มีรายได้สูงที่เสียภาษีกลับคืนมาสู่สังคมได้ไปพร้อมกัน

ระบบนี้ยังสามารถสร้างความรู้สึกความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ดีกว่าสองระบบแรก

 

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมาดูในบริบทสังคมไทย เราไม่ได้จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องงบประมาณสวัสดิการที่สูงถึงขนาดตั้งคำถามว่านำเงินมาจากไหนมากมาย

เราลองย้อนดูว่าหากเราเริ่มต้นปรับระบบสวัสดิการที่กระจายอยู่ตามอาชีพต่างๆ กลุ่มประชากรต่างๆ ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รู้สึก สัมผัสได้

แม้จะเริ่มจากเล็กน้อย แต่จะทำให้ผู้คนมีเสรีภาพในชีวิตมากขึ้นในสังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น รวมถึงการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ และในก้าวแรกไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายนัก

รัฐสวัสดิการไม่ได้น่ากลัวในการพรากเสรีภาพของผู้คน

แต่มันทำหน้าที่อีกด้านที่ทำให้สังคมเริ่มต้นอย่างยุติธรรม

แต่แน่นอนว่ามันย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้

มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด

และเราจำเป็นต้องต่อสู้ความคิดอย่างถึงที่สุดที่จะยืนยันว่ารัฐสวัสดิการคือเรื่องพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่พึงมี