ชอบได้แจก-ไม่อยากให้กู้

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ชอบได้แจก-ไม่อยากให้กู้

 

แม้เหตุผลอย่างเป็นทางการ รัฐมนตรี และทีมงานในปีกของพรรคเพื่อไทยต่างช่วยกันเต็มที่ในการอธิบายถึงความจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย “การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ด้วยข้อมูลที่ชักแถวกันมาชี้ให้เห็นว่า หากไม่เทเงิน “500,000 ล้านบาท” ลงไปด้วยวิธีนี้ การเยียวยา “วิกฤต” จะไม่ได้ผล

แต่เหตุผลที่รับรู้กันในทางการเมือง คือผลที่จะเกิดกับ “คะแนนนิยมที่มีต่อพรรคเพื่อไทย” นั้นสูงยิ่ง ไม่ว่านโยบายนี้จะจบในทางไหน

พรรคเพื่อไทยได้รับการยอมรับ และตรึงศรัทธาประชาชนไว้ด้วยความเชื่อที่ว่า “คิดดี ทำได้” หากเดินหน้า “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ได้สำเร็จ เท่ากับรักษาศรัทธานั้นไว้ได้อย่างเข้มแข็ง

แต่หากมีเหตุข้องสะดุด ติดขัดทำให้ไปไม่ได้ หรือเปลี่ยนแปลงไปจะสะเทือนต่อศรัทธาที่เคยมีไปในทางลบ

แน่นอนว่า “พรรคเพื่อไทย” ยุคเปลี่ยนผ่านจากคนรุ่นเก่า สู่การสร้างทีมคนรุ่นใหม่ ต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้ “ทีมใหม่” ต้องรับสภาพอย่างผลสะเทือนอย่างหลัง

แต่ถึงวันนี้โจทย์ดูจะไม่ง่ายสักเท่าไร เพราะเสียงคัดค้านกระจายประเด็นไปหลากหลาย และชี้นำความคิดผู้คนได้ไม่น้อย

 

จากผลสำรวจ “นิด้าโพล” เรื่อง “OK ไหมกับนายกฯ สรุปเอง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” คล้ายกับว่าเกิดความสับสนในความคิดของประชาชนอยู่ไม่น้อย

อยากได้เงินนั้น แน่นอน และดูจะไม่มีปัญหากับเงื่อนไขที่รัฐบาลตั้งขึ้นด้วย

ในคำถาม “เห็นด้วยหรือไม่ต่อหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 70,000 บาท และ/หรือมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 5 แสนบาท”

คำตอบของผู้มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ร้อยละ 44.94 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 26.67 ค่อนข้างเห็นด้วย, มีแค่ร้อยละ 16.16 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 11.66 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 0.57 ไม่ตอบ

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบหรือไม่ ร้อยละ 25.49 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 28.67 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 29.41 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 14.38 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 1.96 ไม่ตอบ

แต่กลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ที่เห็นด้วยมากมีแค่ร้อยละ 19.82, ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.51, ขณะที่ไม่เห็นด้วยเลยมีมากถึงร้อยละ 46.85, ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 19.82

 

จากคำตอบนี้ คงไม่ผิดหากจะสรุปว่า การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตอบมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่จะได้รับแจกหรือไม่ หากมีก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่คือผู้มีคุณสมบัติไม่ครบ

นั่นแปลว่าความคิดของคนส่วนใหญ่ถูกกำหนดด้วยความอยากได้รับแจก

ทว่า ทั้งที่อยากได้ แต่เมื่อถามถึงการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และใช้งบประมาณประจำปีอีก 100,000 ล้านบาทมาทำ

แม้แต่ผู้มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ร้อยละ 46.25 ยังตอบว่าไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 19.79 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ขณะมีร้อยละ 16.83 เท่านั้นที่ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 14.63 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 0.09 ไม่ตอบ

สำหรับที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบหรือไม่ ร้อยละ 58.16 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 19.61 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ขณะที่เพียงร้อยละ 8.50 เท่านั้นที่ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 10.46 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 3.27 ไม่ตอบ

ยิ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์มากถึงร้อยละ 81.98 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 7.20 ไม่ค่อยเห็นด้วย, มีแค่ร้อยละ 5.41 ที่ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 5.41 เห็นด้วยมาก

รวมความแล้ว เมื่อต้องกู้เงินมาแจก มากถึงร้อยละ 50.69 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 18.70 ไม่ค่อยเห็นด้วย สำหรับที่ค่อนข้างเห็นด้วยมีร้อยละ 14.89, เห็นด้วยมาก ร้อยละ 13.3, ร้อยละ 2.37 ไม่ตอบ

 

จากผลสำรวจนี้ สะท้อนว่า แม้จะอยากได้รับแจก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ละล้าละลังกับการเห็นดีเห็นงามกับ “การกู้มาแจก”

ดังนั้น ที่น่าห่วงคือการจัดการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจจะได้ผล แต่การได้คะแนนนิยมจากนโยบายนี้อาจจะไม่เป็นไปตามที่หวัง

ยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอธิบายด้วยหลายเหตุผล ขณะที่หนี้สินของประเทศที่เพิ่มขึ้นอธิบายว่าเกิดจากเหตุอื่นไม่ได้เลย

นั่นย่อมเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ว่าประเมินผลได้เสียจากนโยบายนี้อย่างไร