ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
หนังเรื่องล่าสุดของเดวิด ฟินเชอร์ ออกสตรีมทางเน็ตฟลิกซ์แล้วค่ะ
เดวิด ฟินเชอร์ เป็นผู้กำกับหนังที่แฟนหนังพันธุ์แท้คอยติดตามผลงาน
จากผู้กำกับฯ มิวสิกวิดีโอฝีมือดี มาเป็นผู้กำกับหนังแนวทริลเลอร์-ดราม่า ซึ่งทั้งเร้าใจระทึกขวัญและประณีตละเอียดในด้านงานสร้างสรรค์อย่างที่ใครๆ ล้วนชูนิ้วหัวแม่มือให้
นับตั้งแต่ Seven (1995), The Game (1997), Fight Club (1999), Panic Room (2002), Zodiac (2007), The Social Network (2010), The Girl With the Dragon Tattoo (2011) และ Gone Girl (2014)
The Killer สร้างจากนิยายภาพ (graphic novel) ของฝรั่งเศสในชื่อเดียวกัน
และโปสเตอร์ชื่อหนังเตะตาสะดุดใจด้วยตัวสะกดที่ชวนให้คิดต่อในด้านการสื่อความหมาย คือ ตัว i ในคำว่า Killer ล้มนอนตะแคงอยู่
ตัวเอกในเรื่องเป็นชายนิรนาม หรือจะพูดให้ถูกคือใช้ชื่อปลอมต่างๆ นานา เดินทางด้วยหนังสือเดินทางชื่อต่างๆ และใช้บัตรเครดิตในชื่อต่างๆ แบบไม่เคยซ้ำกันเลย
เขาคือ “มือสังหาร” ตามท้องเรื่อง
หนังเล่าเรื่องจากมุมมองและโลกทัศน์ของนักฆ่ามืออาชีพ (ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์) ที่อวดอ้าวสรรพคุณในอาชีพว่าผ่านชั่วโมงบินมาแล้ว 10,000 ช.ม.
งานของเขาต้องใจเย็น ตั้งเป้าหมายไว้ที่เหยื่อที่รับจ้างมาลอบสังหาร ใช้เวลาเฝ้าสังเกตความเป็นไปของสถานการณ์โดยรอบ รอจังหวะลงมือ
ทั้งหลายทั้งปวงคือต้องอยู่กับตัวเองและความน่าเบื่อหน่ายของการเฝ้ารอ
เขาหาที่มั่นซุ่มสังเกตการณ์ในห้องที่เคยเป็นพื้นที่ออฟฟิศของ WeWork ที่เลิกใช้งานไปแล้ว ตั้งสไนเปอร์เล็งไปที่ห้องสวีตของโรงแรมห้าดาวในปารีสบนอาคารฝั่งตรงข้าม ส่องกล้องมองดูความเป็นไปบนท้องถนนและประตูทางเข้าอาคาร
ระหว่างนั้นก็ปูเสื่อเล่นโยคะในท่าสุริยนมัสการ…ซึ่งตัวนักแสดงคือ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ คงต้องฝึกอยู่เป็นประจำแล้ว จึงแอ่นตัวโค้งหลังและก้มจับข้อเท้าได้สวยงามเกินชายฝรั่งชาติตะวันตกทั่วไป…ออกไปซื้อแมคโดนัลด์กินเพื่อให้ได้โปรตีนปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
ฟังเพลงของวงดนตรีร็อก The Smiths จากอังกฤษ เพื่อกลบเสียงในใจ
พร้อมไปกับวอยซ์โอเวอร์ของเขาที่พูดถึงปรัชญาและการดำเนินชีวิตอย่างมีระบบระเบียบของนักฆ่าอย่างเขา อาทิ อัตราการเกิดและการตายของผู้คนบนโลกในแต่ละวินาที ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจำนวนคนเกิดมีมากกว่าจำนวนคนตายหลายเท่า
ข้อสรุปของเขาก็คือ สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นแทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างหรือทำให้โลกบุบสลายเลย…ซึ่งเป็นตรรกะของมนุษย์ที่เอาแต่ได้และคอยหาเหตุผลให้ความชอบธรรมแก่การกระทำผิดของตัวเอง
เขายังบอกด้วยว่าในโลกสมัยนี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการที่ไม่มีผู้คนพบเห็นได้ที่ไหนเลย ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือทำตัวให้กลมกลืนจนไม่เป็นที่น่าสังเกต และเขาเลือกที่จะไปไหนมาไหนในปารีสโดยปลอมตัวให้เหมือนนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน…เพราะคนฝรั่งเศสโดยทั่วไปไม่ชอบนักท่องเที่ยวต่างชาติ
คาถาที่เขาเตือนตัวเองเป็นประจำในการปฏิบัติภารกิจของเขาคือ เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดได้ อย่าด้นกลอนสดหรือทำไปโดยไม่ได้ตระเตรียมการณ์ล่วงหน้า (“Anticipate; never improvise.”)
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสังหารครั้งนี้ล้มเหลวอย่างไม่ได้คาดคิดมาก่อน ด้วยจุดบอดของเหตุบังเอิญเพียงนิดเดียว
ซึ่งพลิกสถานการณ์ไปคนละทางเลย และคงเป็นคำอธิบายว่าทำไมตัว i ในชื่อหนังจึงล้มตะแคงกระเท่เร่
หนังแบ่งเรื่องราวเป็นหกบทต่อเนื่องกัน โดยไม่นับบทส่งท้าย คือ “ปารีส/เป้าสังหาร” “สาธารณรัฐโดมินิกัน/ที่ซ่อนตัว” “นิวออร์ลีนส์/ทนายความ” “ฟลอริดา/จอมโหด” “นิวยอร์ก/ผู้ชำนาญการ” และ “ชิคาโก/ลูกค้า”
พล็อตทั้งหมดคือ เมื่อนักฆ่าโดนตลบหลัง เขาจึงออกเรียกคืนจากผู้คนที่เกี่ยวข้อง จะว่าเป็นหนังล้างแค้นก็ได้ แต่ตัวเอกยังดูเหมือนปฏิบัติโดยไร้อารมณ์เหมือนเดิม และท่องคาถาในใจอย่างที่เคยทำมาตลอด คือใจเย็น มองการณ์ให้ทะลุปรุโปร่ง คาดการณ์ล่วงหน้า ไม่ด้นสด และหักห้ามความเห็นอกเห็นใจ
และเราจะได้เห็นว่าเขาถูกท้าทายหลายครั้งด้วยคาถาข้อสุดท้ายนั้นเอง
ถึงที่สุดของที่สุดแล้ว แม้แต่นักฆ่าเลือดเย็นที่สุดก็ยังหนีความเป็นมนุษย์ไปไม่พ้น
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะสนับสนุนแก่นสารสาระในด้านศีลธรรมของหนังเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเดวิด ฟินเชอร์ มีฝีมือและเล่าเรื่องได้อย่างน่าเพลิดเพลิน
องค์ประกอบของภาพ ดนตรี และฝีมือการแสดงแทบจะไม่มีที่ติ รวมทั้งการใช้มุขหน้าตายหลายหลากโดยไม่มีการยักคิ้วหลิ่วตาว่านี่เป็นมุขตลก ก็ทำได้อย่างไม่เคอะเขิน ด้วยการล้อเลียนวัฒนธรรมป๊อปสมัยใหม่ของอเมริกา
ชื่อปลอมนับสิบชื่อที่เขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในสถานที่ต่างๆ ที่ต้องยื่นบัตรประจำตัวให้ดูตามระเบียบ อาจฟังคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยได้ยินมาก่อนจน โดยเฉพาะสำหรับแฟนทีวีหลายคนที่คุ้นเคยกับรายการโชว์หรือซีรีส์ซิตคอมทางโทรทัศน์ เช่น แซม มาโลน จาก Cheers & Frasier, โรเบิร์ต ฮาร์ตลีย์ จาก The Bob Newhart Show, ลู แกรนต์ จาก The Mary Tyler Moore Show, เฟลิกซ์ อังเกอร์ และออสการ์ แมดิสัน จาก The Odd Couple, รูเบน คินเคด จาก The Partridge Family เป็นต้น
ฉากที่น่าจะโดนใจแฟนฟินเชอร์หลายคน คงจะเป็นช่วงของทิลดา สวินตัน…ซึ่งถูกตั้งฉายาชวนขันว่า “คิวทิป” หรือไม้พันสำลีที่คนไทยนิยมเรียกว่า “คอตตอนบัด” มากกว่า…เธอสูงผอมเป็นไม้เสียบและผมขาวโพลนเป็นสำลีพันไม้จริงๆ
แถมเรื่องนายพรานกับหมีที่เธอเล่า…ซึ่งเป็นโจ๊กขำขัน…ก็ยังมีประเด็นตรงกับเรื่องราวของนักฆ่าอาชีพอย่างเขาและเธออีกด้วย
น่าจะเป็นหนังสำหรับคนดูที่มีวุฒิภาวะและสามารถแยกแยะความดีความชั่วได้ แต่ไม่อยากแนะนำให้เยาวชนดูเลยค่ะ •
THE KILLER
กำกับการแสดง
David Fincher
แสดงนำ
Michael Fassbender
Tilda Swinton
Arliss Howard
Charles Parnelle
Kerry O’Malley
Sala Baker
Sophie Charlotte
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022