Ruark Audio รังสรรค์ขึ้นเพื่อเสียงเพลง

เป็นแบรนด์ที่ผมเริ่มเห็นตามหน้าสื่อแบบประปรายมาตั้งแต่ช่วงหลัง Y2K ไม่นาน และเห็นพูดถึงเชิงชื่นชมจากการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ก็สักประมาณช่วงกว่าสิบปีให้หลัง

รวมทั้งสังเกตเห็นว่าได้รับรางวัลโน่น นี่ นั่น อยู่เนืองๆ นับแต่ช่วงเดียวกันที่บอกว่าเห็นถี่ขึ้นนั้นเป็นต้นมา ก็ได้แต่สนใจเพราะไม่เคยสัมผัสตัวเป็นๆ ด้วยในบ้านเราไม่มีใครสั่งเข้ามา กอปรกับความสนใจที่ว่านั้นมันเป็นช่วงที่ผมเลิกเดินทางในความหมายของการตะลอนไปทำงานซะแล้ว

กระทั่งไม่นานวันที่ผ่านมา ได้ข่าวว่ามีผู้นำผลิตภัณฑ์ของ Ruark Audio เข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแล้ว ก็เลยถือโอกาสนำมาบอกกล่าวพร้อมเล่าสู่ให้รู้จักกันพอเป็นสังเขป

แรกที่เห็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้ ซึ่งในเวลานั้นใช้ชื่อว่า Vita Audio เข้าใจว่าเป็นบริษัทที่ทำสินค้าระบบเสียงจำพวกไลฟ์สไตล์แบบชิ้นเดียว ที่น่าสนใจก็ตรงที่โครงสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า ที่หน้าตามักจะออกมาในแนวย้อนยุคแบบ Retro Style

แต่ให้การทำงานที่ทันสมัย เห็นในรูปให้รู้สึกว่างานฝีมือประณีตดี ช่างเลือกหรือคัดสรรวัสดุต่างๆ มากอปรกันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียบหรูดูดีไม่น้อย

จากที่ติดตามมาแต่แรกๆ รู้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่นด้านวิทยุดิจิทัล หรือ DAB (Digital Audio Broadcasting) Radio เป็นพิเศษ

ซึ่งวิทยุดิจิทัลในบ้านเรานี่, ยังไม่มีการออกอากาศเป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างใดนะครับ เท่าที่ทราบมีการสาธิตและทดลองตามพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะๆ รวมทั้งมีบางบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังทำเรื่องนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการจัดประชุมทางด้านวิชาการ เผยแพร่ความรู้ รวมทั้งจัดสาธิตให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำไปใช้ในระบบต่างๆ อาทิ การขนส่งสาธารณะ การจราจร การเตือนภัยพิบัติ และสภาพอากาศ ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นไปในด้านเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ช่องสัญญาณที่ดีขึ้น เรียกว่า DAB+ Radio

หลังรู้ว่าแบรนด์นี้เข้ามาในบ้านเราแล้ว ก็ไปหาข้อมูลเพิ่มจากเท่าที่เคยทราบดังบอกข้างต้น จึงได้รู้ว่าเป็นบริษัทอังกฤษที่ก่อตั้งช่วงกลางทศวรรษ 80s และสินค้ายุคแรกๆ ทำออกมาก็มีเพียงอย่างเดียวคือลำโพง ภายใต้ชื่อ Ruark Acoustics

ผู้ก่อตั้งคือ Alan O’Rourke ที่เติบโตมากับการเล่นกีตาร์ และรายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ระบบเสียงไฮ-ไฟ เพราะพ่อของเขาอยู่ในอุตสาหกรรมทางด้านนี้ รวมทั้งทำงานอยู่กับบริษัทนำเข้ากีตาร์ด้วย

นั้นเองที่ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับอุปกรณ์อันยอดเยี่ยมต่างๆ มากมาย จึงรักและหลงใหลในเสียงดนตรีมาแต่อ้อนแต่ออก ถึงกับบอกทำนองว่าดนตรีเปรียบได้กับชีวิตและลมหายใจของตัวเขาเอง

และเมื่อมาตั้งบริษัทเครื่องเสียง เขาจึงบอกว่าดนตรีเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของแบรนด์มาแต่แรก

หลังช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษไม่นานปี Ruark Audio ได้หันมาทำระบบเสียงชิ้นเดียวแบบไลฟ์สไตล์เป็นครั้งแรก คือวิทยุดิจิทัลแบบตั้งโต๊ะรุ่น R1 แต่เพื่อป้องกันความสับสนทั้งกับร้านค้าและผู้บริโภค จึงใช้ชื่อแบรนด์ Vita Audio ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

และด้วยความยอดเยี่ยมของมันหนังสือพิมพ์ Sunday Telegraph ที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์ถึงกับให้นิยามว่าเปรียบได้ดั่ง The Aston Martin of DAB Radios นั่นเทียว

ช่วงที่วิทยุดิจิทัลเริ่มแพร่หลายในยุโรป เป็นเวลาเดียวกับที่เครื่องเล่นเพลงพกพาอย่าง Appe iPod กำลังเป็นที่นิยม วิทยุดิจิทัลรุ่นหลังๆ ที่ Vita Audio ทำออกมาจึงมีช่องเสียบให้สามารถวาง iPod เพื่อเล่นเพลงกับเครื่องเล่นวิทยุได้ด้วย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและพลังเสียงให้กับดนตรีจากอุปกรณ์พกพา ทำให้ในยุคนั้นเองที่เราได้เห็นเครื่องเล่นประเภทที่ว่ามีโฆษณาบอกว่าเป็น iPod/iPhone Friendly เต็มไปหมด

หลังจากใช้ชื่อ Vita Audio ประมาณห้าหกปี แบรนด์ Ruark Audio ก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี ค.ศ.2012 จนทุกวันนี้

ช่วงหลังๆ นอกจากผลิตวิทยุดิจิทัลตั้งโต๊ะแบบ DAB/DAB+ Radio แล้ว เครื่องบางรุ่นยังได้เพิ่มภาคการทำงานอื่นเข้ามาด้วย เพื่อให้มีความเป็น All-in-One หรือเป็น Music System มากขึ้น อาทิ การเพิ่มภาครับ FM Tuner ภาคการทำงานในส่วนของ CD Player

บางรุ่นมีการใส่ DAC : Digital-to-Analogue Converter พร้อมระบบไร้สายทั้ง Wi-Fi และ Bluetooth เพื่อรองรับการทำงานแบบสตรีมมิ่ง รวมทั้งผนวกการเข้าถึงผู้ให้บริการบางรายได้ในตัว ซึ่งนอกจากจะเอื้อความสะดวกในการใช้งานแล้ว ยังรองรับการเล่นเพลงที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

ช่วงเดือนก่อนเห็นมีรุ่นใหม่ออกมาในหน้าสื่อฝั่งยุโรป ให้รู้สึกต้องใจตั้งแต่แรกเห็นโครงสร้างหน้าตาในข่าว เห็นรายละเอียดพอประมาณแล้วก็เลยเข้าไปหาเรื่องราวเพิ่มเติม เลยทำให้ทราบตอนนั้นแหละครับ ว่าแบรนด์นี้เพิ่งเข้ามาบ้านเราเมื่อต้นเดือนที่แล้วนี่เอง เพียงแต่รุ่นที่เตะตาต้องใจผมยังไม่ได้เข้ามาด้วย น่าจะเป็นเพราะเพิ่งจะลงตลาดแถบยุโรปได้ไม่กี่วัน แต่อีกไม่นานวันก็คงเข้ามาเป็นแน่แท้ เพราะเห็นมีป้ายราคารอแปะเอาไว้แล้ว

เครื่องที่ว่า คือ Ruark R410 Integrated Music System ก็ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ

ภายใต้โครงสร้างภาพลักษณ์ที่แลดูย้อนยุคนั้น ภายในผนวกภาคการทำงานต่างๆ แบบร่วมสมัยที่เหมาะนักกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มักใช้ชีวิตอยู่กับการไถหน้าจอเป็นหลัก โดยระบบเสียงนั้นภาคขยายใช้แอมป์ Class-D ให้กำลังขับ 120Wrms (วัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวมที่ 30W/Ch ได้ 0.02%) ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 35Hz-22kHz

ลำโพงสองตัวอยู่ในตู้เฉพาะที่มุมเครื่องแต่ละด้าน ซ้าย/ขวา ทำงานในระบบ Bass Reflex แบบ 2 ทาง ทวีตเตอร์ขนาด 20 มิลลิเมตร มิด/เบส ไดรเวอร์ ขนาด 100 มิลลิเมตร มาพร้อมระบบเพิ่มประสิทธิภาพเสียงแบบ Stereo+3D ภาคโทน คอนโทรล ให้แยกปรับทุ้ม/แหลม

ภาควิทยุรองรับ DAB/DAB+, FM กับ RDS : Radio Data System (87.5-108MHz) ใช้งานแบบมัลติ-รูมได้ผ่าน Apple AirPlay, Google Cast ระบบไร้สายผ่าน Wi-Fi, Bluetooth 5.1 ซึ่งรองรับ aptX HD, SBC, AAC, BLE, A2DP รองรับอุปกรณ์ DLNA : Digital Living Network Alliance ผนวกบริการ Spotify Connect, Tidal Connect พร้อมรองรับการทำงานกับไฟล์เสียงความละเอียดสูง มีพอร์ต HDMI ARC/eARC, USB 2.0 Type-C, Ethernet มีช่องเสียบดิจิทัล อินพุต แบบ Optical พร้อมช่องเสียบสำหรับเครื่องเล่นซีดี (ผ่าน External USB CD Drive) และเครื่องเล่นแผ่นเสียง (รองรับหัวเข็ม MM : Moving Magnet) มี Line-Input แบบ Stereo RCA และมี Sub-Woofer Out ให้ด้วย

ที่แผงหน้าปัดเครื่องค่อนมาทางด้านซ้าย มีจอแสดงผล Colour TTF ที่นอกจากจะใช้เพื่อเข้าถึงการทำงานและรายละเอียดต่างๆ แล้ว ยังแสดงปกอัลบั้มของเพลงที่กำลังเล่นอยู่ได้ด้วย

มาพร้อมรีโมตคอนโทรล ทรงกลมลักษณะเดียวกับลูกบิดปุ่มปรับต่างๆ ที่อยู่บนฝาหลังด้านบนของเครื่อง

มิติโครงสร้างเครื่อง (กว้าง x สูง x ลึก) 560 x 150 x 290 มิลลิเมตร น้ำหนัก 9.5 กิโลกรัม

เห็นบางสื่อแถบยุโรปบอกว่าเป็นความย้อนยุคอันน่าทึ่งเพราะดูสวยงามทันสมัย

แลดูเป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีที่ให้คุณภาพเสียงยอดเยี่ยมมากด้วย

มาพร้อมระบบการทำงานอันยืดหยุ่นที่มีฟังก์ชั่นครบครันมาก

ให้น้ำเสียงที่หนักแน่นฟังดูน่าเชื่อถือมากจากทุกๆ แหล่งที่เปิดฟัง

แต่แอบเสียดายหน่อยก็ตรงที่หน้าจอเล็กไปนิด แค่ 4 นิ้วเท่านั้นเอง •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]