‘ดร.ลลิตา’ เล็กเชอร์ความรู้เบื้องต้น เกิดอะไรขึ้นที่ ‘รัฐฉานตอนเหนือ’?

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนจากรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่ง “ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์” จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของประเทศเมียนมา ได้มาฉายภาพให้เห็นถึงความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ

 

เรื่องนี้ปูพื้นฐานก่อนว่าเป็นเรื่องซับซ้อนมาก แล้วชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม บางทีเราจำได้ไม่หมดหรอก ขนาดเรานั่งอ่านหรือศึกษาหรือว่าเขียนบทความ ยังรู้สึก โอ้โห! ทำไมมันถึงมีตัวละครตัวแสดงเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงรบกันหลายกลุ่มขนาดนี้

แต่สั้นๆ อย่างได้ใจความ คือ ในเวลานี้ พื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาท กรณีศึกษาของเรา อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รัฐฉานมีขนาดใหญ่มาก คือเป็นรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่สุดของพม่า รัฐฉานในเอกสารของอังกฤษเขาจะแบ่งออกเป็นรัฐฉานทางตอนเหนือ แล้วก็รัฐฉานทางตอนใต้ แต่พื้นที่ที่เราพูดถึงในวันนี้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายแดนจีนในรัฐฉานตอนเหนือ

เมืองที่เราพูดถึงจะมีอยู่ประมาณ 4-5 เมือง ซึ่งคนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จัก คนไทยเราจะรู้จักเมืองเชียงตุง แสนหวี เมืองสีป่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ทางตอนใต้ จะอยู่ติดกับไทย จะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาโยงกับล้านนามากกว่า อันนี้เราจะคุ้นเคย

แต่ถ้าเป็นฉานเหนือแล้ว ชื่อเขาจะเป็นป๋างซาง เมืองป๊อก เมืองเล่าก์กาย ซึ่งคนไทยเรียกเล้าไก่ เมืองเหล่านี้เนื่องจากว่าเป็นเมืองชายแดนระหว่างรัฐฉาน-พม่า กับจีน ดังนั้น จะมีลักษณะเป็นเขตเศรษฐกิจ ก็ไม่เชิงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็เป็นเมืองที่เติบโตขึ้นมาจากการค้าและธุรกิจ ถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง

สิ่งสำคัญก็คือเมืองเหล่านี้เป็นทางผ่าน สมมุติว่ารถบรรทุกของจีนจะเข้ามาส่งของในพม่า หรือจะเข้ามาทางภาคเหนือของไทย ก็คือจะต้องผ่านพื้นที่ตรงนี้เป็นหน้าด่าน

เขามีการประมาณไว้ เอาแค่เฉพาะตัวเลขของปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนกับพม่ามีมูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประมาณหนึ่งในสาม (ของมูลค่าทั้งหมด) ผ่านช่องทางตรงนี้ มันเลยเป็นศูนย์รวมของผลประโยชน์ทั้งหลายของจีน อันนี้คือฝั่งของจีน

ฝั่งของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เขามีการรวมตัวกัน เป็นกองกำลังสามฝั่ง รวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เขาเรียกว่า “สามพันธมิตรภราดรภาพ” จะเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกคือกองกำลังของ “โกกั้ง” (สอง) มีกองทัพปลดปล่อย “ตะอาง” คนไทยอาจจะคุ้นชื่อว่า “ปะหล่อง” แล้วอีกอันก็คือกองทัพ “อาระกัน” อันนี้เราจะรู้จักกันค่อนข้างดี เพราะว่าในยุคหนึ่ง เวลามีข่าวเรื่องคนโรฮิงญา เราจะเคยได้ยินชื่อของกองทัพอาระกันมาอยู่บ้าง

หลายคนก็ตั้งข้อสังเกต แล้วอาระกันเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรในรัฐฉาน เพราะกองทัพอาระกันก็อยู่ในรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า แล้วมาเกี่ยวอะไรกับรัฐฉานทางตอนเหนือ

ผลประโยชน์ของจีนที่อยู่ในพื้นที่ฉานทางตอนเหนือ มีทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการที่เขาจะสร้างทางรถไฟ รัฐฉานตอนเหนือเป็นหนึ่งในพื้นที่ก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมมหาสมุทรอินเดีย อ่างเบงกอล เข้ากับจีนทางตอนใต้

มันไหลผ่านฉานตอนเหนือไปถึงรัฐอาระกัน กว้างใหญ่มากๆ เป็นเมกะโปรเจ็กต์ของจีนภายใต้แบรนด์ “One Belt One Road Initiative” (เส้นทางสายไหมใหม่)

แล้วยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกอัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ที่เขาเรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจจีนกับพม่า” ซึ่งเขามองว่ารัฐฉานทางตอนเหนือเป็นเหมือนประตูที่จะออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย

 

สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ เวลาเขา (กองกำลังชาติพันธุ์) มารวมกลุ่มกัน เขารวมกลุ่มกันเพื่อโจมตีกองทัพของ (รัฐบาล) พม่า ก็คือคณะรัฐประหารที่เขารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 คือ “มิน อ่อง ลาย”

กองกำลังเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลคู่ขนานเอ็นยูจี และกองกำลังฝั่งประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร เขาก็ฝึกทหารฝั่งประชาชน ให้อาวุธ ก็คือเป็นฝั่งเดียวกับพรรคเอ็นแอลดี (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ “ออง ซาน ซูจี”) อะไรแบบนี้ เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เขาเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าในเมืองสำคัญ 3-4 แห่งนี้แบบครั้งเดียว ก็คือภายในวันสองวัน เขาร่วมกันโจมตี จนทำให้มีทหารของพม่าเสียชีวิตไปเป็นจำนวนค่อนข้างมาก มากที่สุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ปฏิบัติการนี้เขาใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการ 1027” เป็นปฏิบัติการขนาดใหญ่ ทำให้ขวัญกำลังใจของคนในกองทัพพม่าที่เป็นกองกำลังอยู่ตรงนั้น ฝ่อเลย แล้วก็จะมีข่าวที่ออกมาว่า กองกำลังของพม่าถอดใจแล้วหนีเลย รู้สึกไม่สามารถต้านทานได้แล้ว

กองกำลังพวกนี้ไม่ใช่กองกำลังเก่าแก่ อย่างเราเป็นคนไทยเราจะรู้จักกองกำลังเคเอ็นยูของกะเหรี่ยง เราอาจจะรู้จักเคไอเอของคะฉิ่นบ้าง เราอาจจะรู้จักว้าแดง แต่กองกำลังเหล่านี้เพิ่งจะเติบโตขึ้นในช่วงเวลาไม่เกินสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ถามว่าเขามีเงินได้อย่างไร? เขาเข้ามามีอิทธิพลได้อย่างไร? ส่วนหนึ่งก็คือพลวัตของความขัดแย้งภายในพม่า ส่วนหนึ่งก็คือเศรษฐกิจชายแดนระหว่างจีนกับพม่า ที่ทำให้กองกำลัง ไม่ว่าจะเป็นว้าแดง โกกั้ง ปะหล่องหรือตะอาง เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของการค้า เราลองนึกถึงยุค “สามเหลี่ยมทองคำ” ในไทยเฟื่องฟู ก็จะมีการค้าทั้งของถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ตลาดมืด ยาเสพติด มีของทุกอย่าง แล้วเงินจากอะไรที่มันเป็นมืดๆ เทาๆ พวกนี้มันก็จะเข้ามาสมทบทุนในการซื้ออาวุธ หรืออะไรต่างๆ

ทำให้ผู้นำของกองกำลังเหล่านี้มีสถานะเป็น “ขุนศึก” สมัยหนึ่ง เราอาจจะรู้จัก “ขุนส่า” รู้จัก “เจ้ายอดศึก” ก็จะเป็นในลักษณะนั้น

 

เนื่องจากว่าในพม่านับตั้งแต่รัฐประหารมา เขาไม่มีรัฐบาลปกครองอย่างจริงจัง แล้วด้วยความที่ข้าราชการต่างๆ สไตรก์ (ประท้วงหยุดงาน) เขามีการทำ “ขบวนการอารยะขัดขืน” ก็คือว่าหยุดทำงานไปประมาณ 3-4 แสนคน ทำให้ระบบราชการของพม่าเรียกว่าหยุดนิ่งก็ได้

พอหยุดนิ่ง คนที่ทำงานเป็นครู เป็นทหาร เป็นแพทย์ เป็นพยาบาลก็ไม่ได้มีอยู่ในระบบมากมาย ทำให้ระบบราชการของพม่าในปัจจุบันค่อนข้างที่จะอ่อนแอมากๆ แล้วด้วยสภาพในปัจจุบันที่มีการสู้รบทุกที่เลย ไม่ใช่พื้นที่หนึ่งรบกันตลอดมา เสมอมาและเสมอไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะรบตรงนี้ช่วงหนึ่ง แล้วก็ย้ายมารบตรงนี้อีกช่วงหนึ่ง จะเป็นแบบหลายๆ จุด

เพราะเราต้องลองนึกถึงสภาพความเป็นจริงว่า การสู้รบมันใช้ทรัพยากรมหาศาล มีเรื่องของอาวุธ มีเรื่องของกำลังพล เรื่องของเสบียง ของพวกนี้มันหมด พอทรัพยากรหมด มันก็ต้องย้าย

แต่กรณีของ (กองกำลังชาติพันธุ์) สามกลุ่มในรัฐฉานทางตอนเหนือ ตอนนี้คือกองทัพของพม่าถอดใจ เขาออกมาพูดเลยว่าไม่สามารถจะต้านทานแรงของกองกำลังทั้งสามกลุ่มนี้ได้อีกต่อไปในพื้นที่สำคัญ 3-4 เมือง