วัฒนธรรม ‘แยกขยะ’ ญี่ปุ่น (1)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ให้ความรู้สึกต่างกับครั้งก่อนๆ ตรงที่เดินทางมุ่งหน้าเข้าเที่ยวป่า เลาะภูเขาไปตามเมืองเล็กๆ ดูบรรยากาศในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี

ระหว่างแวะข้างทางเห็นชาวญี่ปุ่นเก็บแยกขยะชนิดต่างๆ ก่อนทิ้งลงในถังที่ตั้งเป็นแนวยาว ทำให้นึกถึงเมืองไทยเมื่อไหร่จะเข้าสู่วัฒนธรรมเก็บแยกขยะเช่นญี่ปุ่น

ฟูจิคาวากูจิโกะเป็นเมืองเป้าหมายแรกใช้เวลาขับรถจากสนามบินฮาเนดะไม่ถึง 2 ชั่วโมง มีทั้งป่าทะเลสาบล้อมรอบ มองเห็นภูเขาไฟฟูจิชัดเจน

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ต้นโมมิจิ หรือเมเปิล เปลี่ยนเป็นสีแดงเต็มที่ ผู้บริหารเมืองนี้จึงจัดเทศกาลชมใบโมมิจิ ในยามค่ำคืนประดับไฟให้ดูงดงาม บรรยากาศโรแมนติก

นักท่องเที่ยวแห่ไปดูใบไม้เปลี่ยนสีที่อุโมงค์ใบไม้แดงเป็นจำนวนมาก และข้างๆ จุดท่องเที่ยวนั้น มีซุ้มร้านอาหารปิ้งย่างบะหมี่ญี่ปุ่นให้เลือกกิน

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณนั้นไม่มีถังขยะให้ทิ้ง

คนที่ซื้อกินต้องนำถ้วยชามและขยะกลับไปคืนให้ร้านค้าเพื่อนำไปแยกขยะอีกรอบ

นี่เป็นข้อแตกต่างจากบ้านเรา มีงานเทศกาลที่ไหนเห็นขยะขวดพลาสติกเกลื่อนกลาด โยนความรับผิดชอบให้กับคนจัดงานเก็บกวาดเอาเอง

 

เมื่อเข้าไปชมสวนป่าระหว่างทางของทะเลสาบคาวากุชิโกะ แทบไม่มีขยะให้เห็นเช่นกันทั้งๆ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องแวะชมใบไม้เปลี่ยนสีและดูภูเขาไฟฟูจิที่ตั้งตระหง่าน

ออกจากเมืองฟูจิคาวากูจิโกะ มุ่งหน้าไปเมืองคารุอิซาวะ จังหวัดนากะโนะ เมืองนี้มีบึงเล็กๆ ชื่อ “คุโมบะ” ล้อมรอบไปด้วยต้นบีซซึ่งใบเขียวเปลี่ยนเป็นเหลืองงามสะพรั่งและต้นเมเปิลที่ใบเปลี่ยนเป็นแดงเข้ม

ใครเดินรอบๆ บึงคุโมบะนอกจากสัมผัสกับธรรมชาติอันงดงามแล้วยังได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด นักท่องเที่ยวแห่มาเที่ยวจุดนี้กันมากมายแต่ไม่มีขยะสักชิ้นให้เห็นทั้งบนทางเดินและในบึงที่น้ำใสสะอาด

ออกจากคารุอิซาวะ มุ่งหน้าไปเมืองนิกโก ตั้งใจไปดูใบไม้เปลี่ยนสีที่ศาลเจ้านิกโกโทโชกุซึ่งเป็นมรดกโลก วัดแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่อายุหลายร้อยปี

ระหว่างไปนิกโกแวะพักริมทาง มีทั้งร้านอาหาร ห้องน้ำสาธารณะซึ่งสะอาดมากมีอุปกรณ์ครบครัน เป็นระบบเซ็นเซอร์ แบบกดปุ่มอัตโนมัติ มีกระดาษทิชชู่ให้ใช้ฟรีๆ

ประตูทางเข้าห้องน้ำบริเวณที่พักริมทาง มีถังขยะทำด้วยสเตนเลสอย่างดีเรียงเป็นแถวนับได้ 9 ถัง แต่ละถังมีรูปประกอบ เช่น ถังใส่ถาดอาหารพลาสติก พลาสติกห่ออาหาร หรือแร็ป ถังใส่ขยะประเภทโฟมหุ้มผลไม้ ถังขยะใส่ถ้วยบะหมี่

ถังสำหรับใส่ขวดพลาสติกจะให้คนทิ้งแยกฝาขวดออกก่อนและแยกทิ้งขวดลงในถังขยะ ส่วนฝาขวดจะแยกทิ้งในตะแกรงที่แขวนหน้าถังขยะต่างหาก

ชาวญี่ปุ่นจำเป็นต้องรู้จักวิธีแยกขยะก่อนทิ้งลงถังแต่ละชนิด ถ้าไม่ได้สอนและไม่ได้ฝึกทำตั้งแต่เด็กๆ ก็ยากที่จะรับรู้เข้าใจและซึมซับสำนึกจิตสาธารณะเช่นนี้

 

ความจริงแล้ว ย้อนไปดูในอดีตญี่ปุ่นไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากเท่าไหร่ เพราะหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้น เร่งฟื้นฟูประเทศในทุกวิถีทาง

ทศวรรษ 1950 การพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มเห็นผล จากการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเคมี ไฟฟ้า ฟิสิกส์ ชีววิทยา หรือเกษตรกรรม นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคนได้รับรางวัลโนเบล และมีการนำความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้มาจดลิขสิทธิ์ต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ จนประสบความสำเร็จ

ช่วงทศวรรษ 1960 โรงงานอุตสาหกรรผุดบานเป็นดอกเห็ด ผู้คนจากชนบทแห่เข้ามาทำงานในเมือง สภาพในเมืองเป็นไปอย่างโกลาหล เพราะโรงงานไม่ได้ใส่ใจกับการปล่อยน้ำเสีย ควันพิษทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะล้นเมือง ควันพิษดำโขมง

เจ้าของโรงงานเอาขยะมาเททิ้งในบ่อขยะจนเกิดไฟไหม้ใหญ่ โรงงานผลิตอะซีทอลดีไฮด์ (Acetaldeyde) สำหรับใช้ในการทำพลาสติกและวัสดุอื่นๆ ปล่อยสารปรอทลงในทะเล สะสมในสัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย เมื่อคนจับไปกิน สารปรอททำลายสมอง ตับ และเด็กแรกคลอดพิการ จนได้ชื่อว่าโรคมินามะตะ

ส่วนโรงงานเหมืองที่เมืองนิงาตะ จังหวัดโทะยะมะ เทสารแคดเมียมและโลหะหนักลงในแม่น้ำ ชาวบ้านนำน้ำไปดื่มกิน สารพิษทำลายตับไต เกิดอาการเจ็บจนร้อง “อิไต อิไต” ออกมาดังๆ ต่อมาผู้คนจึงเรียกโรคนี้ว่า “อิไต อิไต”

ความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวญี่ปุ่นมั่งคั่งร่ำรวย พากันจับจ่ายซื้อของใช้เต็มบ้านทั้งทีวี วิทยุ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น มีรถยนต์วิ่งแล่นกันเต็มถนน เกิดปัญหาขยะล้นเมือง เฉพาะขยะอุตสาหกรรม มีมากถึงวันละ 1.1 ล้านตัน ส่วนมลพิษทางอากาศ น้ำเน่าเสีย มีปัญหาทั่วประเทศญี่ปุ่น

สิ่งแวดล้อมเป็นพิษในญี่ปุ่นเมื่อ 70 ปีก่อนมีสภาพเลวร้ายกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของไทยในเวลานี้

 

แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือ การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของญี่ปุ่นกลับมาสู่ภาวะปกติและได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นสานต่อนโยบายการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลก่อนๆ วางไว้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปอย่างมีขั้นตอน เป็นระบบและเกิดผลลัพธ์ชัดเจน

ดูได้จากหลังเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 รัฐบาลญี่ปุ่นปัดฝุ่นเอากฎหมายการรักษาความสะอาดสาธารณะ (Public Cleansing Law) มาใช้อย่างเข้มข้นมีทั้งกำหนดวิธีการเก็บขยะ พื้นที่ทิ้งขยะ ประเภทขยะ จำแนกเป็นขยะอุตสาหกรรม ขยะครัวเรือน

จากนั้นกำหนดกระบวนการเผาขยะ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และปกป้องสุขภาพร่างกายของผู้คน

มาในช่วงทศวรรษ 1970 กำหนดมาตรฐานกระบวนการทิ้งขยะในที่สาธารณะ ตรงไหนจะเป็นเขตทิ้งขยะอุตสาหกรรม ตรงไหนเป็นเขตทิ้งขยะครัวเรือน รวมถึงการหาเงินอุดหนุนโรงงานแปรรูปขยะ เทคโนโลยีเผาขยะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แต่ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม ขยะอันตรายยังคงมีอยู่ เมื่อปี 2516 มีเหตุใหญ่เกิดกลางกรุงโตเกียว เมื่อเทศบาลมหานครโตเกียวจัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเขตเมืองและสร้างทางรถไฟใต้ดิน ปรากฏว่าระหว่างก่อสร้างพบสารพิษ เฮ็กซาวาเลนต์ โครเมียม (hexavalent chromium) ปริมาณมหาศาลฝังกลบในที่ดิน

เทศบาลมหานครโตเกียวยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกับบริษัทที่ฝังกลบสารพิษตามหลักการที่เรียกว่า ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือรับผิดชอบหรือพีพีพี (Polluter Pays Principle) จนประสบผลสำเร็จ ทุกวันนี้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสวนสาธารณะ

 

หลักการพีพีพีรัฐบาลญี่ปุ่นใช้บังคับมา 50 ปีแล้วได้ผลชัด

แต่บ้านเราหลักการนี้เพิ่งจะบังคับใช้อย่างสมบูรณ์แบบเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน

ยังไม่รู้ว่าสำเร็จแค่ไหน

โดยเฉพาะที่โกดังขยะพิษที่ราชบุรีและพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องฟ้องร้องกันอุตลุด •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]