ชี้ตัวผู้ต้องหา ให้แม่นยำขึ้นได้ด้วย AI

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ชี้ตัวผู้ต้องหา

ให้แม่นยำขึ้นได้ด้วย AI

 

เรื่องสนุกๆ ของการอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี AI เฟื่องฟูอย่างในตอนนี้ก็คือการได้เห็นกรณีใช้งาน AI ในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า AI จะสามารถเข้ามาช่วยทำให้ที่ทำอยู่เดิมมันดีขึ้นได้

หนึ่งในนั้นก็คือการใช้ช่วยชี้ตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ

คอหนังแนวอาชญากรรมน่าจะคุ้นเคยกับฉากที่ตำรวจให้บรรดาผู้ต้องสงสัยยืนเรียงเป็นแถวหน้ากระดานแล้วให้พยานหรือผู้เสียหายที่ยืนอยู่อีกห้องชี้ตัวคนที่คิดว่าเป็นผู้กระทำผิดมาจากอีกด้านของกระจก

กระบวนการที่เรียกว่า police lineup นี้มีขึ้นเพื่อให้พยานได้ยืนยันตัวตนของผู้กระทำผิดและใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล โดยตำรวจจะนำตัวผู้ต้องสงสัยมาปะปนกับตัวละครเสริมคนอื่นๆ ที่มีรูปร่าง ความสูง หรือสีผิวใกล้เคียงกับผู้ต้องสงสัย นำมายืนเรียงแถวกันแล้วให้พยานชี้ตัว

นอกจากการนำคนมายืนเรียงกันให้พยานเลือกแล้ว ตำรวจก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะให้พยานเลือกตัวผู้ต้องสงสัยได้ อย่างเช่น การให้ดูภาพถ่ายหรือวิดีโอ เป็นต้น

แม้เราจะได้เห็นฉากการยืนเรียงกันของผู้ต้องสงสัยในภาพยนตร์อยู่บ่อยๆ แต่ BBC บอกว่าในความเป็นจริงตำรวจทุกวันนี้แทบจะไม่ใช้วิธีนี้อีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้ตำรวจมักจะให้พยานเลือกจากภาพถ่ายของผู้ต้องสงสัยมากกว่า ซึ่งข้อจำกัดของวิธีนี้ก็คือพยานจะได้ดูจากภาพถ่ายในมุมที่มีอยู่อย่างจำกัดเท่านั้น

ภาพถ่ายของผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจรวบรวมมามักจะเป็นภาพถ่ายที่สะเปะสะปะ มีตั้งแต่ภาพจากใบขับขี่ ไปจนถึงภาพของผู้ต้องหาในคุกซึ่งไม่ได้ช่วยกระตุ้นความจำของพยานได้ดีสักเท่าไหร่

ตรงนี้แหละค่ะที่ AI สามารถเข้ามาช่วยได้

นักวิจัยจาก University of Birmingham คิดค้นพัฒนาระบบแบบใหม่ที่ใช้โมเดล 3 มิติมาช่วยทำให้พยานสามารถหมุนดูภาพผู้ต้องสงสัยได้จากหลากหลายมุม จะหมุนซ้าย หมุนขวา หมุนกลับมาตรงกลาง หมุนกี่ครั้งก็ได้ตามต้องการ แถมการหมุนยังสมจริงชนิดที่กล้ามเนื้อทุกส่วนบนใบหน้าก็หมุนตามอย่างเป็นธรรมชาติด้วย

ระบบนี้ทำงานโดยการเปลี่ยนวิดีโอให้กลายเป็นภาพ 3 มิติที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ พยานสามารถคลิก ลาก หมุน เพื่อเปลี่ยนมุมมองได้ตามต้องการ และดูได้แม้กระทั่งจากมุมบนหรือมุมล่าง

ทีมนักวิจัยใช้ฐานข้อมูลวิดีโอของตำรวจประกอบเข้ากับงานวิจัยด้านความจำและเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าในการพัฒนาระบบนี้เพื่อเพิ่มโอกาสให้พยานได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

นักวิจัยอ้างถึงคดี Malkinson ที่เกิดขึ้นในปี 2003 ชายชื่อ แอนดรูว์ มัลคินสัน ถูกตัดสินให้มีความผิดในคดีข่มขืนหลังจากที่เหยื่อชี้ตัวเขาจากการยืนเรียงแถวเพียงเพราะเขามีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับผู้กระทำความผิดตัวจริง

กรณีการชี้ตัวผิดแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเทคโนโลยีอย่าง AI อาจจะช่วยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้น้อยลงและคืนความยุติธรรมให้สังคมได้

ในขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังอยู่ในช่วงพูดคุยหารือกับตำรวจทั้งในสหรัฐและอังกฤษก่อนที่จะเริ่มทดลองใช้ระบบจริงๆ ซึ่งพวกเขาบอกว่านับเป็นโอกาสอันดีมากที่ตำรวจจะได้อัพเกรดเครื่องมือเทคโนโลยีที่ดีขึ้น

เพราะการชี้ตัวด้วยภาพถ่ายน่าจะทำกันมาเป็นร้อยปีแล้วแต่ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นเลย

 

อีกหนึ่งอย่างที่สามารถปรับปรุงเพื่อเพิ่มโอกาสให้พยานระบุตัวคนร้ายได้แม่นยำขึ้นก็คือการทำให้ภาพถ่ายสามารถแสดงสีหน้าและอารมณ์ที่หลากหลายได้แทนที่จะมีแค่ภาพที่ทำหน้านิ่งเฉย แต่การจะถ่ายภาพผู้ต้องสงสัยที่แสดงสีหน้าต่างๆ อย่างการยิ้ม หัวเราะ หรือโมโหฉุนเฉียวก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปบังคับได้ง่ายๆ (สีหน้าฉุนเฉียวนี่อาจจะถ่ายได้ง่ายกว่าแบบอื่นๆ อยู่หน่อย)

ทีมนักวิจัยบอกว่า AI จะเข้ามาช่วยตรงนี้แหละค่ะ

ทุกวันนี้เราก็ได้เห็น AI ช่วยเปลี่ยนภาพถ่ายของเราจากหน้าบึ้งให้เป็นหน้ายิ้มได้แล้วอย่างสมจริง ดังนั้น AI จึงน่าจะสามารถช่วยปรับเปลี่ยนสีหน้าอารมณ์ของภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยได้

ไปถึงขั้นสุดคือการให้ AI ช่วยสร้างบริบทแวดล้อมขึ้นมาใหม่เพื่อกระตุ้นความทรงจำให้กับพยานที่เห็นเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เพื่อตกแต่งภาพถ่ายของตัวเองให้เปลี่ยนจากหน้าบึ้งเป็นหน้ายิ้ม กับการใช้ AI เพื่อชี้ชะตาของใครสักคนหนึ่งว่าจะถูกตัดสินให้มีความผิดหรือไม่ ระดับความซีเรียสต่างกันอย่างลิบลับ

หากจะใช้ AI มาช่วยกระตุ้นความจำเพื่อให้พยานชี้ตัวคนร้ายได้ไม่ผิดก็จะต้องศึกษาและทดลองจนไม่เหลือช่องว่างให้กับความผิดพลาด พร้อมๆ ไปกับการต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบความจำของมนุษย์อย่างใกล้ชิดด้วย

 

เรื่องนี้ทำให้ประหวัดถึงพล็อตของภาพยนตร์ไซ-ไฟชื่อดังเรื่อง Minority Report ที่ตำรวจแห่งโลกอนาคตใช้เทคโนโลยีเพื่อทำนายว่าใครมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมและส่งเจ้าหน้าที่บุกไปจับกุมก่อนที่คนๆ นั้นจะมีโอกาสได้ลงมือตามคำทำนายจริงๆ

จะว่าเป็นเรื่องที่มาจากจินตนาการล้วนๆ ในตอนนั้นก็อาจจะใช่

แต่ในตอนนี้ก็เริ่มมีเค้าความเป็นจริงขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะการจะทำนายว่าใครมีโอกาสจะก่ออาชญากรรมนั้นไม่ได้เกินความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของ AI แต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือเราจะฝึก AI อย่างไรให้เป็นกลางและไม่จับผู้บริสุทธิ์ยัดเข้าคุกเข้าตะราง

มิเช่นนั้นก็วนกลับมาจุดเดิม