ย้อนรอบ 10 ปีแจก ‘แท็บเล็ต’ ถึงคราวปัดฝุ่นโน้ตบุ๊กยุค ‘บิ๊กอุ้ม’

เป็นที่จับตาอีกครั้ง สำหรับนโยบายแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย ลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา…

เดินหน้าแจก 1 ครู 1 แท็บเล็ต และ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต กว่า 2 เดือนผ่านไป…

ล่าสุด ครูพี่เอ “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” เสมา 2 ประกาศกลางที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ที่จังหวัดน่าน ว่าแนวโน้มจะเปลี่ยนมาเป็น 1 ครู 1 แล็บท็อป หรือโน้ตบุ๊ก และ 1 นักเรียน 1 แล็บท็อปแทน

ให้เหตุผลเรื่องประโยชน์ในการใช้งานของทั้งครูและเด็ก เบื้องต้น จะเป็นการเช่าเครื่องโน้ตบุ๊ก ที่ต้องมาพร้อมกับคู่สัญญาอินเตอร์เน็ตไวไฟให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

โดยเสมา 2 ตอบอย่างมั่นใจว่า เรื่องนี้นายกฯ คงไม่ติดใจ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

 

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. ขยายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า เรื่องนี้ บิ๊กอุ้มสั่งให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ Anywhere Anytime พิจารณาเรื่องการแจกแท็บเล็ต โดยแบ่งเป็นคณะทำงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับคอนเทนต์ และคณะทำงานที่ดูแลเรื่องฮาร์ดแวร์

และแน่นอนแล้วว่า ปี 2567 ยังไม่มีงบประมาณที่จะไปจัดสรรอุปกรณ์ได้ แต่จะเริ่มพัฒนาเริ่มคอนเทนต์ ที่จะต้องเหมาะสมกับผู้เรียนในทุกช่วงวัย และทุกระดับการเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า เรียนรู้ปานกลาง เรียนรู้เร็ว หรือแม้กระทั่งเด็กอัจฉริยะ ก็จะสามารถมาศึกษาได้ เพราะต้องการลดความเหลื่อล้ำ ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา คนในเมืองกับเด็กชายขอบ ก็สามารถศึกษาข้อมูลที่เท่ากัน

“ในปี 2568 จะเป็นปีที่จะพิจารณางบประมาณในการจัดหาฮาร์ดแวร์ ซึ่งตามนโยบายจะเป็นการจัดหาแท็บเล็ต แต่ตอนนี้มีการพูดคุยถึงข้อดี ข้อเสียของทั้งแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก ว่าจะใช้แบบไหนดี ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองอย่างมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ซึ่งถ้าเป็นแท็บเล็ต เด็กก็จะพกพาง่าย แต่ข้อเสียคือ อายุการใช้งานสั้น กรณีที่เป็นโน้ตบุ๊ก สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งสองรูปแบบจะต้องเป็นระบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์การใช้งาน และความคุ้มค่ากับงบประมาณ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนจากแท็บเล็ต มาเป็นโน้ตบุ๊ก

เป้าหมายจะเริ่มนำร่อง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพของ ศธ.และอาจจะพิจารณากลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ไปด้วย แต่ต้องดูงบประมาณ ซึ่งเบื้องต้น โครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลา 5 ปี ใช้งบประมาณนำร่องอยู่ที่ 3-4 พันล้านบาท

 

ฟังเสียงครูน้อย สะท้อนข้อดีข้อเสียกันบ้าง โดย นายทศพล ไชยอ้าย หรือครูเบน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน บอกว่า เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนจากแจกแท็บเล็ต มาเป็นโน้ตบุ๊ก เพราะครูและนักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า

ส่วนการแจกก็อยากให้เริ่มจาก ม.ปลาย เพื่อประโยชน์ในการใช้กับการศึกษาจต่อ ขณะที่ ม.ต้น อาจจะยังไม่มีความจำเป็น อีกทั้งวุฒิภาวะของเด็กที่ยังไม่มากพอ อาจนำโน้ตบุ๊กที่ได้ไปใช้ในทางไม่เหมาะสม เช่น เล่นเกม หรือเข้าเว็บไซต์ที่อันตราย เป็นต้น

ครูเบนยังบอกด้วยว่า หาก ศธ.จะแจกโน้ตบุ๊กให้กับนักเรียนและครูแล้ว ก็อยากให้ปล่อยอิสระในเรื่องการเรียนการสอน หากเน้นใส่เนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มาให้ครูและเด็กใช้ในการเรียนการสอน ก็ไม่ต่างกับการเรียนในหนังสือเรียน ที่ไม่มีความยืดหยุ่น

ด้าน นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนจากแท็บเล็ต มาเป็นโน้ตบุ๊ก เป็นเรื่องที่ดี เพราะครูและนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

แต่สิ่งที่อยากให้มีความชัดเจน คือ การแจกต้องเป็นไปด้วยความเสมอภาค คำนึงถึงความเท่าเทียม โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนภูเขาสูง เกาะแก่ง ที่ไฟฟ้าหรืออินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการดังกล่าวอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

รวมถึงอยากให้ดูสเป๊กเครื่องที่เหมาะสม เพราะเด็กยุคนี้ส่วนใหญ่ผู้ปกครองซื้อโน้ตบุ๊กให้ใช้อยู่แล้ว ดังนั้น หากเลือกเครื่องที่สเป๊กต่ำหรือสเป๊กไม่ดีมาให้เด็ก เด็กย่อมจะรู้ และสุดท้ายก็จะไม่ใช้งาน เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง

“ส่วนใหญ่ครูและนักเรียน โดยเฉพาะชั้น ม.ปลาย เกือบทุกคนมีโน้ตบุ๊กหรือใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนกันอยู่แล้ว ดังนั้น หากจะเลือกซื้อแจก ก็อยากให้เลือกซื้อสเป๊กที่สูงๆ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานจริง และหากเป็นไปได้ก็อยากให้เริ่มแจกตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย หรือ ป.4-6 เพราะเด็กใช้คอมพิวเตอร์ในการหาข้อมูลในการเรียนอยู่แล้ว และหากยังกังวลเรื่องวุฒิภาวะของเด็ก ก็ควรจัดอบรมครูก่อนใช้งาน เพราะต้องยอมรับว่าครูบางกลุ่มอาจจะยังใช้งานโน้ตบุ๊กไม่ค่อยคล่องเท่าที่ควร รวมถึงจะได้ดูแลให้เด็กใช้ประโยชน์จากโน้ตบุ๊กได้สูงสุด” นายณรินทร์กล่าว

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือ หากให้เด็กใช้โน้ตบุ๊กในการเรียน อาจส่งผลให้ค่าไฟในโรงเรียนต่างๆ สูงขึ้น เพราะจะมีเรื่องการชาร์จไฟ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ภาครัฐควรจะเตรียมมาตรการดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย

 

หลากหลายความเห็นล้วนเป็นสิ่งที่ ศธ.ในฐานะกระทรวงขับเคลื่อนนโยบายต้องนำไปขบคิดวางแผนการเนินงาน

ซึ่งหากย้อนกลับไป การแจกโน้ตบุ๊กไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดโครงการ “One laptop per child (OLPC)” หรือ 1 นักเรียน (ประถมศึกษา) 1 โน้ตบุ๊ก ซึ่งขณะนั้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน สัญญาณอินเตอร์เน็ต อีกทั้งอาจเป็นเพราะแจกให้กับเด็กอายุน้อยเกินไป

จนมาถึงโครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet PC per Child)” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ดูเหมือนจะซ้ำรอยปัญหาเดิม โดยในยุคนั้นเดินหน้าแจกชั้น ป.1 และ ม.1 ในช่วงปี 2555 เกิดปัญหาการบริหารจัดการ เช่น การจัดส่งไปยังโรงเรียนล่าช้ากว่ากำหนด แท็บเล็ตมีปัญหาพังหรือเสีย โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเล็ตในพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ตลอดจนศูนย์ซ่อมก็มีไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด

ต่อเนื่องมาถึงปี 2556 บริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้กระทั่งเกิดรัฐประหาร มีปัญหาเรื่องฮั้วประมูล กระทั่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา สั่งยุติโครงการไปในปี 2557

ดังนั้น หาก ศธ.จะปัดฝุ่นมาแจกโน้ตบุ๊กอีกครั้งในปี 2568 สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ คงเป็นเรื่องการทุจริต “บิ๊กอุ้ม” จะต้องลงมาคุมด้วยตัวเอง เพราะเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย หากรั่วไหลไปที่ใด อาจจะส่งผลเสียได้ในอนาคต… •

 

| การศึกษา