ทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 กับผลงานศิลปะอันเปี่ยมคุณภาพไม่น้อยหน้าระดับสากล (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอเล่าถึงนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี กันต่อ กับผลงานที่จัดแสดงบนพื้นที่แสดงงานชั้นสอง ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มต้นด้วยผลงานของ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ในโครงการ วัฏจักรของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง (A Continuous Cycle of Existence) กับงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากการต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยๆ ของเจษฎา

ระหว่างการเดินทาง เขาได้มีโอกาสได้พบเห็นพืชกาฝาก ที่ถูกมองว่าเป็นวัชพืชที่เบียดเบียนเกาะกินพืชชนิดอื่นเพื่ออยู่รอด

เขาจึงทำการเฝ้าสังเกต หรือแม้แต่ทดลองใช้เวลาปลูกพืชกาฝาก เพื่อศึกษาวัฏจักรชีวิตของพืชชนิดนี้ โดยเน้นไปที่พืชกาฝากที่มีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจและให้คุณประโยชน์ ที่พบได้ในตัวเมืองและรอบนอกเมืองเชียงใหม่

ทั้งต้นฝอยทอง, กาฝากมะม่วง, กาฝากสกุลโพ, โทรย้อยใบแหลม, แตงกวาเบอร์, กระโถนพระฤๅษี, กาฝากตีนปู และขนุนดิน ซึ่งกาฝากเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ อีกด้วย

เจษฎายังบังเอิญค้นพบว่ากาฝากแต่ละชนิดต่างมีพืชเจ้าบ้าน (Host) ที่เลือกเติบโตงอกเงยอยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลาย ทั้งชุมชนไทใหญ่, กะเหรี่ยง, ลัวะ ฯลฯ

เจษฎาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ทั้งพืชกาฝากที่เข้ามาแอบอิงอาศัยและได้รับประโยชน์จากพืชเจ้าบ้านผู้เสียประโยชน์

โดยเขาตั้งคำถามว่า กาฝากนั้นส่งผลกระทบอย่างไรกับเจ้าบ้าน

มันจะอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน หรือทำลายล้างเจ้าบ้านแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลงและสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในต้นไม้ต่างๆ

หรือการเชื่อมโยงไปถึงประเด็นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสังคม ที่มีความเชื่อ เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแตกต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมของชาวพม่า บทเพลงพื้นเมืองของล้านนา ผ้าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยง ล้านนา และลัวะ หรือข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ต่างๆ

ผลงานในโครงการ A Continuous Cycle of Existence โดย เจษฎา ตั้งตระกูล

อย่างผลงานวิดีโอจัดวางที่เจษฎาเฝ้าสังเกตกาฝากต้นโพธิ์ที่เกาะอยู่บนต้นกระบกเป็นเวลาหกปี จนค้นพบว่าต้นกาฝากสามารถอยู่ร่วมกันกับต้นไม้เจ้าบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายล้างเจ้าบ้านที่มันอาศัยอยู่

ภาพถ่ายหลักฐานที่ศิลปินบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2566 ถูกนำเสนอเป็นภาพเคลื่อนไหว หากภาพบนจอถูกซ้อนด้วยลายเส้นสีขาวที่ล้อไปกับลายทอของผ้าพื้นเมืองที่พาดบนราวบันไดทางขึ้นห้องแสดงงาน เพื่อบังแสงสว่างไม่ให้รบกวนจอ แต่ก็บดบังไม่ให้เราเห็นวิดีโอได้ชัดเจน

ก็ไม่รู้ว่าเป็นแนวคิดอันเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นความยียวนของศิลปินกันแน่?

เจษฎายังนำข้อมูลหรือวัตถุดิบจากการวิจัยและลงพื้นที่ในแต่ละครั้งสำหรับงานแต่ละชิ้น นับตั้งแต่ชิ้นแรก สอดแทรกในผลงานชิ้นถัดไปอย่างต่อเนื่อง ราวกับเป็นกาฝากที่เข้าไปเกาะกับเจ้าบ้านใหม่

เพื่อตั้งคำถามว่า ข้อมูลหรือวัตถุดิบจากผลงานแต่ละชิ้นจะอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนแนบชิดกับผลงานชิ้นถัดไป และพัฒนาต่อยอดข้ามสายพันธุ์ วิวัฒนาการขึ้นเพื่อสร้างเนื้อหาใหม่ได้หรือไม่

เขายังนำข้อมูลและวัตถุดิบสำหรับงานชิ้นสุดท้ายไปสอดแทรกไว้ในงานชิ้นแรก เพื่อทำให้ผลงานทุกชิ้นมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งหมด ราวกับไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์หนึ่งในเชียงใหม่ ที่เจษฎาเปรียบเป็นเหมือนกล้องวงจรปิดที่ปกป้องรักษาเมือง และพระพุทธรูปอีกองค์ที่อยู่ภายในโพรงของกาฝากต้นไทรที่เกาะบนต้นสัก เจษฎาค้นหาพิกัดมุมมองจากสายตาพระพุทธรูปทั้งสององค์ และนำมุมมองจากพุทธรูปทั้งสองมาทับซ้อนกันเช่นเดียวกับการซ้อนภาพถ่าย (Double Exposure)

หรือผลงานจิตรกรรมที่เกิดจากการซ้อนทับตัวหนังสือจากข้อมูลต่างๆ ที่เขาค้นคว้าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน

หรืองานจิตรกรรมในรูปของข้อเขียนที่เกิดจากการทับซ้อนกันระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ทั้งเรื่องจริงจากข้อมูลที่ศิลลปินค้นคว้าวิจัยมา และเรื่องแต่งที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนานปรัมปราของท้องถิ่นที่เขาเดินทางลงพื้นที่ค้นหาต้นกาฝาก

หรือผลงานจิตรกรรมตัวหนังสือที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับต้นแตงกวาเบอร์ ที่ล้อลักษณะคล้ายเลข 0 ของผลแตงกวาเบอร์ ด้วยการทำให้คำลำดับที่ 0 ของแต่ละประโยคหายไป (โดยนับจาก 0-9) เนื้อหาในข้อความจึงแหว่งวิ่น ไม่ปะติดปะต่อกัน

ผลงานในโครงการ A Continuous Cycle of Existence โดย เจษฎา ตั้งตระกูล

ส่วนผลงานที่เป็นตัวแทนของกาฝากตีนปู ที่ศิลปินค้นหาไม่พบ ก็ถูกตีความให้เป็นร่างกายที่มองไม่เห็นอย่าง วิญญาณ ภูตผี ด้วยการสร้างงานประติมากรรมศาลเพียงตารูปทรงคล้ายบ้านของกลุ่มชนชาติพันธุ์ทางเหนือ ให้วิญญาณที่สถิตในหอศิลป์เข้าไปพักอาศัย ราวกับไปเที่ยวตากอากาศ

ท้ายที่สุด จำนวนกาฝากทั้ง 8 ชนิดและเจ้าบ้านจากพื้นที่ 8 แห่ง ที่ถูกรวบรวมมา รวมถึงขนาดของผลงานแต่ละชิ้นในโครงการนี้ที่จงใจลงท้ายด้วยเลข 8 ซึ่งเมื่อพลิกนอนก็จะดูคล้ายกับสัญลักษณ์อินฟินิตี้ (Infinity) (?) ที่เป็นภาพแทนของพืชกาฝาก ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ งอกเงย เติบโต ตายไป และเกิดขึ้นใหม่ เป็นวัฏจักรที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

สภาวะของความเป็นอื่นของพืชกาฝากในผลงานของเจษฎายังสะท้อนถึงสถานภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบที่รัฐไม่ให้ความสำคัญ ไม่ยอมรับเป็นพลเมือง กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ถูกขับไสไล่ส่งไม่ต่างอะไรกับกาฝากนั่นเอง

ผลงานในโครงการ Memory and Forgetting โดย อติ กองสุข

ตามมาด้วยผลงานของ อติ กองสุข ในโครงการ Memory and Forgetting กับงานประติมากรรมจัดวางที่สร้างขึ้นจากเศษวัสดุเก็บตกเหลือทิ้งจากหน้าที่การงานของเขา ด้วยความที่อติมีตําแหน่งประติมากรผู้ทําหน้าที่สร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ

ในกระบวนการสร้างอนุสาวรีย์ ประติมากรต้องทำการปั้นดินขึ้นรูปเป็นต้นแบบตามแบบของอนุสาวรีย์ที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะทำการพอกปูนปลาสเตอร์ครอบลงไปบนรูปปั้นเพื่อทำแม่พิมพ์ และทำการแกะแม่พิมพ์ปูนออก ให้เหลือพื้นที่ว่างกลับข้าง (Negative Space) ภายในแม่พิมพ์ เพื่อใช้ในการเทพิมพ์หล่ออนุสาวรีย์เป็นโลหะสำริด

ในขั้นตอนการแกะแม่พิมพ์ปูนนี้เอง ที่ประติมากรต้องควักชิ้นส่วนดินจากรูปปั้นต้นแบบที่ติดอยู่บนแม่พิมพ์ออก

และนำดินเหล่านี้ไปทิ้งไว้ในถังแช่ดิน เพื่อนำดินกลับไปใช้ใหม่ในงานครั้งต่อไป

อติเก็บชิ้นส่วนดินเหลือทิ้งจากการสร้างอนุสาวรีย์เหล่านี้มาสร้างใหม่เป็นผลงานประติมากรรมจัดวางที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์

ราวกับต้องการจะกลับค่า ย้อนรอยกระบวนการสร้างอนุสาวรีย์ก็ไม่ปาน

ผลงานในโครงการ Memory and Forgetting โดย อติ กองสุข

จากรูปปั้นต้นแบบอนุสาวรีย์ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมและสมบูรณ์แบบ มาสู่เศษชิ้นส่วนของรูปปั้นอันกระจัดกระจาย แหว่งวิ่น และมีลักษณะอันคลุมเคลือ

ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าดินเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสามัญชนที่เป็นเหมือนเศษชิ้นส่วนอันเว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์แบบ ที่หลุดออกมาจากแม่พิมพ์อนุสาวรีย์อันสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ

เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่อง “โลกของแบบ” ของเพลโต นั่นเอง

ในทางกลับกัน เศษชิ้นส่วนอันเว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงการดำรงอยู่ของแรงงานสามัญชนที่มองไม่เห็น ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างอนุสาวรีย์อันสมบูรณ์แบบ, อนุสรณ์สถานอันอลังการ หรือแม้แต่รัฐชาติอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร ที่ต่างก็ไม่ได้รับการจดจำหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ต่างกับกษัตริย์หรือผู้นำ ที่รัฐสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงและเทิดทูนบูชา

เช่นเดียวกับผลงานอีกสองส่วนในโครงการนี้อย่าง แผ่นไม้กระดานที่ถูกฉลุเป็นช่องว่าง เพื่อใช้เป็นหน้าตัดในการกำหนดและวัดสัดส่วนของรูปปั้นต้นแบบของอนุสาวรีย์ ที่นอกจากจะถูกใช้ต่างแท่นวางผลงานประติมากรรมจัดวางจากเศษชิ้นส่วนดินเหลือทิ้งแล้ว ยังถูกนำมาจัดแสดงในฐานะงานศิลปะจากวัสดุเก็บตก (Found object) อีกด้วย

หรือผลงานส่วนสุดท้ายในรูปของสิ่งละอันพันละน้อยที่หลงเหลือจาการกระบวนการ อย่างชิ้นส่วนของแม่พิมพ์ที่ถูกถอดพิมพ์ หรือเศษปูนปลาสเตอร์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากแม่พิมพ์ที่ถูกทุบทิ้งในการหล่ออนุสาวรีย์

เช่นเดียวกับผลงานในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าในอิตาลีอย่าง อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) ผู้หยิบเอาวัสดุไร้คุณค่าไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นมาทำงานศิลปะ เพื่อต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันของรัฐ

การหยิบเอาวัสดุเก็บตกเหลือทิ้งมาสร้างเป็นผลงานในโครงการนี้ของอติ ก็แสดงนัยยะในการวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์ชาตินิยมที่มุ่งเน้นในการบันทึกจดจำแต่เรื่องราวของชนชั้นนำผู้ยิ่งใหญ่ หากละเลยหลงลืมและมองข้ามเรื่องราวหรือการมีอยู่ของสามัญชนคนตัวเล็กตัวน้อย

การหยิบเอาเศษดินเหลือทิ้งจากการสร้างอนุสาวรีย์มาเปลี่ยนเป็นงานศิลปะร่วมสมัยและจัดแสดงในหอศิลป์ของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางของอำนาจในอดีตของเขา ก็ไม่ต่างอะไรกับรื้อฟื้นความทรงจำถึงการมีอยู่ของผู้คนเหล่านี้ที่เคยถูกหลงลืมไปในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั่นเอง

 

นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-11 พฤศจิกายน 2566 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 น.-18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) •

ขอบคุณข้อมูลจากบทความ Baannoorg Exhibition review: EP#3 I Ati Kongsuk โดย Baan Noorg Collaborative Arts & Culture https://shorturl.at/aczKV

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์