คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : รามนะมหาฤษี กับการพินิจความหมายของ “ตัวตนแท้”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อินเดียไม่ได้มี “ฤษี” (ครูทางภาษาบางท่านว่าที่จริง ควรเขียนเช่นนี้ตามอย่างภาษาแขก) แต่เฉพาะในสมัยโบราณ แต่มีจนถึงปัจจุบัน

คำเรียก ฤษี ในอินเดียใช้เรียกนักบวชประเภทสละโลกโดยทั่วๆ ไป ซึ่งที่จริง ไม่ค่อยนิยมใช้เท่ากับคำอื่น อย่าง สาธุ สันยาสี ฯลฯ ผิดกับเราซึ่งมักปรากฏคำนี้ในวรรณคดีเสมอ

มีฤษีประเภทหนึ่งเรียกว่า “อวธูต” โดยรากศัพท์แปลว่า ถูกทำให้เขย่า หรือสั่นไหว

แต่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงนักบวชที่ละทิ้งความชอบ-ชัง สิ่งอันเป็นทวิภาพทั้งหลาย

และละทิ้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม ซึ่งคล้ายกับ “นักบวชบ้า” อันมีอยู่ในประเพณีต่างๆ ของศาสนาจากอินเดีย

ถ้าในประเพณีทิเบต เราอาจเรียกคนประเภทนี้ว่าผู้ที่เข้าถึง “ปัญญาญาณบ้า” (Crazy Wisdom) เช่น มหาโยคีดรุปะ คุนเลแห่งภูฏาน หรือมหาสิทธาเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช อันลือชื่อในจริยาอันยากที่เราจะเข้าใจ เช่น เสพสุรานารีเป็นนิตย์

ท่านเหล่านี้ไม่ได้ถือเอาหลักความประพฤติตามขนบสังคมว่านักบวชต้องประพฤติเรียบร้อย ทว่าการครอบครองปัญญาญาณบ้านี้เป็นสิ่งที่ปรากฏในสายธรรมของมหาสิทธาชาวอินเดียมาตั้งแต่โบราณ เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ล้วนต้องออกจากสถานภาพอันสูงส่งของนักบวชไปสู่สภาพชีวิตที่อาจเรียกได้ว่ากลับตาลปัตร เพื่อจะเรียนรู้และเข้าถึงความจริงสูงสุดในรูปแบบที่ต่างออกไป

ผมคงต้องใช้เวลาเรียบเรียงเรื่องพวกนี้ก่อนจะนำเสนออย่างละเอียดแก่ท่านผู้อ่าน เพื่อจะได้ไม่ตกนรกเพราะทำให้คนเข้าใจผิด หรือไม่เกิดกระแสความนิยมอะไรแปลกๆ ขึ้นมา

 

กล่าวถึงนักบวชอวธูตในอินเดีย แม้โดยภูมิหลังอาจเป็นฮินดู แต่ท่านเหล่านี้ถือว่าตนพ้นจากกฎเกณฑ์หรือศาสนาอะไรทั้งหมด ท่านจึงไม่ได้เป็นของศาสนาใดหรือของใคร

ข้อที่ว่าท่านไม่ประพฤติตามขนบสังคม เรื่องเด่นสุดคือท่านมักเปลือยกายหรืออย่างมากก็มี “เกาปิน” ผ้าเตี่ยวผืนเดียวนุ่งไว้ติดตัว มักอาศัยในป่าช้าหรือชายป่า

อวธูตองค์สำคัญที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือท่านสวามี สมรถะ อกลโกฏ ซึ่งนิยมนับถือมากในแคว้นมหาราษฎร์ ไปทางไหนก็จะเห็นรูปท่านติดอยู่ ว่ากันว่าท่านสืบสายธรรมมาจากท่านคุรุทัตตเตรยะ อวธูตที่ได้ชื่อว่าเป็นอวตารของตรีมูรติ

ส่วนอวธูตร่วมสมัยกับเรา ซึ่งผมจะพูดถึงในคราวนี้ คือท่าน “รามนะมหาฤษี” ซึ่งศิษย์เรียกด้วยความเคารพว่า “ภควัน รามนะมหาฤษี” (Bhagavan Ramana MahaRishi)

 

ภควัน, ภควาน หมายถึงผู้มีโชค ปกติใช้เรียก “พระเป็นเจ้า” เราชาวพุทธ นำมาเรียกพระพุทธะด้วย แต่ทางฮินดูนั้นไม่ค่อยปรากฏใช้กับคนธรรมดา

การที่สานุศิษย์เรียกรามนะว่า ภควัน เพราะพวกเขาถือว่า รามนะมหาฤษี ได้เข้าถึงภาวะพิเศษ คือบรรลุสัจธรรม สมควรเรียกด้วยคำยกย่องสูงสุด

พูดอีกแบบ คนเข้าถึงพระเจ้าย่อมไม่มีสภาวะที่แตกต่างจากพระเจ้า เรียกว่าพระเจ้าก็ถูกแล้ว คติในเวทานตะฝ่ายฮินดูเป็นเช่นนี้

รามนะเกิดในปี ค.ศ.1950 ในเมืองมธุไร อินเดียภาคใต้ ชีวิตเหมือนเด็กๆ ทั่วไปในยุคนั้น พ่อแม่ส่งเรียนโรงเรียนดีๆ เรียนภาษาอังกฤษ จบแล้วจะได้ทำงานรับราชการเป็นเจ้าคนนายคน

วันหนึ่ง เมื่อรามนะอายุได้สิบหกปี จู่ๆ ท่านก็มีประสบการณ์ของความกลัวตายอย่างประหลาด ท่านเล่าไว้ในภายหลังว่า ท่านสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณผิดปกติ ทว่าท่านรู้สึกว่าความตายใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

ไม่นานนักท่านรู้สึกว่าความตายได้มาถึงแล้ว จึงทิ้งตัวลงนอน ไม่ขยับแขนขาหรือพูด ในคราวนั้น จิตใจของท่านตื่นขึ้น เมื่อท่านถามกับตนเองว่า “เรากำลังตาย” นี่หมายความว่าอะไร อะไรกันแน่ที่ตาย ทว่าท่านรู้สึกได้ถึงพลังของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนแท้” หรืออาตมัน อันไม่อาจตายได้ ท่านจึงหายเป็นปกติและหมดเยื่อใยในสิ่งต่างๆ ทางโลก

จากนั้นรามนะหนีออกจากบ้านไปอาศัยเถื่อนถ้ำยังภูเขาอรุณาจเลศวร ภูเขาที่ท่านรักดุจคุรุ ซาบซึ้งดื่มด่ำกับอาตมันที่ท่านประสบยาวนานนับสิบปี จึงได้เริ่มมีศิษย์ผู้แสวงหาความจริงไปพูดคุย และได้ก่อตั้งอาศรมที่เชิงเขาอรุณาจเลศวรนั้น

 

รามนะเข้าสู่มหาสมาธิ (การตาย) หรือความหลุดพ้นสุดท้าย (วิเทหมุกติ) เมื่ออายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี นับเป็นคุรุอินเดียที่มีศิษย์ชาวตะวันตกมากที่สุดท่านหนึ่งตราบจนปัจจุบัน

สิ่งที่รามนะสอนนั้นเรียบง่าย ทว่าลึกซึ้ง รามนะเห็นว่า เราควรพากเพียรเพื่อแสวงหา “ตัวตนแท้จริง” ซึ่งในสันสกฤตเราอาจเรียกว่าอาตมันหรืออะไรก็ตามแต่ และนั่นคือที่พักพิงของจิตใจเรา

ตัวตนดังกล่าวเป็นคนละสิ่งกับ “อัตตา”(ego) หรือ “อหังการ” คือการยึดมั่นในตัวตน ทว่าเป็นประสบการณ์ฉับพลันของความจริงที่ไม่ผ่านความคิด เมื่อ “I” หรือ “ตัวฉัน” อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นหายไป “I” หรือตัวฉันที่แท้จึงจะผุดขึ้นเอง

รามนะแนะนำว่า ให้เราเริ่มจากการตั้งต้นที่คำถามว่า “เราคือใคร” และใช้กระบวนการ “วิจาระ” (self-enquiry) หรือการตรึกตรองสืบค้น โดยมองย้อนกลับเข้าไปสู่ “หัวใจ” ณ ที่ความคิดเกี่ยวกับตัวตนผุดขึ้น เพ่งพินิจต้นตอของมันกระทั่งพบว่า การยึดมั่นเกี่ยวกับตัวตนของเราไม่ใช่ประสบการณ์หรือการดำรงอยู่ที่แท้จริง

รามนะใช้ถ้อยคำเดียวกับอุปนิษัทว่า เราคือ “สิ่งนั้น” (I am THAT) หมายความว่า เรากับสัจธรรม “หนึ่งนั้น (The One)” เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อค้นพบการดำรงอยู่ที่แท้แล้ว เมื่อนั่นความยึดมั่นก็หมดลง จึงปราศจากทั้งวิชชาและอวิชชา บรรลุสู่การตื่นรู้อันเกษม

รามนะเน้นย้ำว่า ตัวตนแท้นี่แหละคือสิ่งที่เรามักเรียกว่าพระเจ้า แต่การเห็นภาพนิมิตต่างๆ ของเทพหรือพระเจ้า โดยปราศจากการเข้าถึงตัวตนแท้ ย่อมเป็นความลวงทางจิต

ที่สำคัญคือ ประสบการณ์ดังกล่าวของรามนะ เป็นประสบการณ์ตรง บางท่านพิเคราะห์ว่าคล้ายประสบการณ์ “จิตเดิมแท้” ของพุทธศาสนานิกายเซน หรือประสบการณ์ “ซกเชน” ของพุทธศาสนาแบบทิเบต

ผมจึงสนใจว่าแม้จะต่างศาสนาและวัฒนธรรมก็น่าจะมีอะไรร่วมกันอยู่เมื่อในเชิงประสบการณ์ อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นศาสนาวัฒนธรรมไหนก็ต่างเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น

 

แม้รามนะจะเป็นอวธูต แต่เขาไม่เคยได้รับการบวชจากใคร ไม่มีใครเป็นคุรุ ไม่ตั้งผู้สืบทอด ประสบการณ์ของท่านแม้จะตรงกับคัมภีร์ทางเวทานตะของฮินดูโดยมาก แต่ก็ไม่ได้เอามารับรองประสบการณ์ของตน

นอกจากนี้ แม้ว่าจะได้รับความเคารพอย่างสูง แต่รามนะใช้ชีวิตอย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยน ทานอาหารอย่างเดียวกับศิษย์ กินอยู่หลับนอนอย่างเดียวกัน มีความเมตตาต่อทุกผู้คนและสรรพสัตว์ตลอดจนใช้ภาษาง่ายๆ ในการสื่อสาร

ผมเห็นว่า รามนะมหาฤษียังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรานัก และด้วยความรู้สึกบางอย่างเมื่อได้เห็นภาพถ่ายบางภาพของท่าน ยามมองลึกไปในแววตาของรามนะมหาฤษี ซึ่งอธิบายไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร (หรือผมอาจมโนไปคนเดียวก็ได้)

ผมจึงแปลงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของรามนะมหาฤษี ชื่อ “สี่สิบโศลกพินิจสัจจะ” ต้นฉบับเดิมรามนะเขียนขึ้นในภาษาทมิฬ ด้วยคำร้องขอของศิษย์ ท่านจึงได้สรุปคำสอนของท่านเองในรูปแบบโศลกสี่สิบโศลก และศิษย์ชาวตะวันตกแปลเป็นภาษาต่างๆ อย่างแพร่หลาย

งานเล็กๆ ชิ้นนี้ได้รับความเห็นชอบจากมิตรสหาย วิจักขณ์ พานิช จึงกรุณานำไปตีพิมพ์ในชื่อ “อาตมโพธะ : สี่สิบโศลกพินิจสัจจะของรามนะมหาฤษี” เมื่อไม่นานนี้

จึงได้ปรากฏของรามนะมหาฤษีในบรรณพิภพไทยเสียที

ท่านใดสนใจเรียนรู้ประสบการณ์คุรุภารตะ และมีหัวใจเปิดกว้าง โปรดติดตาม