พนมเปญไทม์ไลน์ (2) สีหนุเหลืออะไร?

อภิญญา ตะวันออก
King of Cambodia Norodom Sihanouk, 25, reviews troops in 1947 in his Phonm Penh palace. Prince Sihanouk, Samdech Preah, born 31 October 1922, was elected King in April 1941. In 1955, he abdicated in favour of his father, Norodom Suramarit, to avoid the limitations of his role as constitutional monarch and thus to play more direct role in politics and government. The Sihanouk years of 1954-70 brought the restoration of limited constitutiadilonal rights to Cambodians, and were also characterized by Sihanouk's efforts to achieve stability of his country. In foreign policy, he stey opposing USA in Viet Nam. (Photo by AFP)

สําหรับชาวยุค “สังคมเรียจ” พนมเปญเปลี่ยนไปมาก จนยากจะรำลึกถึงสมัยปีสังคมนิยม หรือสีหนุราช ผู้ทรงสร้างความทรงจำอะไรไว้มากมาย หมายจะให้เป็นถาวรวัตถุแห่งความทรงจำตลอด “ห้าทศวรรษ” ที่ผ่านมา

ทรงเป็นเสมือนสถาปนิกนักสร้างที่ล้ำนำสมัย แต่แล้วเกือบทั้งหมดที่ทำไว้ แทบไม่เหลืออะไรให้จดจำ?

เรามาเริ่มกันจากใจกลางกรุงพนมเปญ จนออกไปรอบนอกของเส้นทางสู่สนามบินโปเชนตง

พลัน แนวสถาปัตยกรรมแบบสกุลโมลีวัณณ์ ก็ปรากฏด้วยจำนวนอาคารชุดที่พักของสำนัก “คุรุศิลป์” ซึ่งถือเป็นบุคลากรสำคัญของชาติ และนั่นทำให้รัฐได้สร้างที่พักไว้ชานเมืองแก่ครูบาอาจารย์สมัยเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ

อพาร์ตเมนต์ทันสมัยแห่งนี้ มีขนาด 4 ชั้น ลักษณะโอ่โถงและกว้างขวาง ซึ่งฉันเคยสำรวจมาแล้วตอนไปเยี่ยมเยียน ดร.ลอง เสียม

แม้จะปลูกสร้างมานานแล้ว แต่สภาพห้องหับ ทิศทางลมการถ่ายเท ยังคงน่าพักอาศัย ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ารัฐได้โละขายทิ้งไปหมดหรือยัง?

และถนนโปเชนตงนี่แหละ ยังมีวิทยาลัยฝึกหัดครู (Teachers’ Training College) อีกแห่ง ปลูกสร้างโดยฝรั่งเศสเริ่มจากปี 1969 ปัจจุบัน ที่นี่คือศูนย์ภาษาต่างประเทศของมหาวิทยาพนมเปญ สถาบันที่สร้างนักคิด นักเขียนและนักการศึกษาจำนวนมาก

นี่คือ กลุ่มอาคารการศึกษา ที่ทำให้พนมเปญกลายเป็นนครเฉิดฉาย มีผังเมืองวิไลที่ใครต่างพากันจดจำ

อาทิ ในปี ค.ศ.1958 เคยมีอาคาร 3 ชั้นของเอกชนคือนายพลโง ฮู สร้างไว้ให้ยูซิส (United States Information Service) มาเช่าเป็นสำนักงาน และโรงพยาบาลเด็กแห่งแรกของพนมเปญ “กันฐบุปผา” (1959) สถานพยาบาลที่เหล่าอาสาสมัครนักการแพทย์นานาชาติพากันเทใจบูรณะ

อาทิ ดร.บีต ริชเนอร์ ผู้ชุบชีวิตศูนย์ช่วยเหลือเด็กเล็กที่เจ็บป่วยและยากไร้แห่งนี้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

กันฐบุปผาได้กลายเป็นแรงดึงดูดของบรรดาชนชั้นอีลิตที่ปรารถนาจะหาทุนบริจาค รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมการเสพงานแสดงชั้นสูงทั้งดนตรีและศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งธรรมเนียมนี้เหมือนจะทำไว้โดยเจ้าหญิงนโรดม รัตนาเทวี และมารดาเจ้าหญิงนโรดม มารีรณฤทธิ์ พระเจ้าหลานและสุนิสาในอดีตพระบรมรัตนโกศซึ่งเสด็จสวรรคตไปเมื่อ 11 ปีก่อน

และต่อมาระยะหนึ่ง โลกจุมเตียวฮุน มานา บุตรีสมเด็จฮุน เซน ก็ดำเนินรอยตาม

ราวปี ค.ศ.1960 นั้นเอง รัฐบาลนโรดมสีหนุถือกำเนิดองค์การโทรศัพท์ ณ ไปรษณีย์กลางที่โอ่อ่าและสร้างโดยรัฐบาลฝรั่งเศสอินโดจีน

พระบาทสีหนุ ก็ไม่น้อยหน้า ทรงวางระบบโทรศัพท์ให้บริการจำนวน 2,000 คู่สายในปี 1960 นับเป็นครั้งแรกที่พนมเปญมีความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคม

แต่ที่เชิดหน้าชูตากรุงพนมเปญ กลับกลายเป็นโรงภาพยนตร์!

โรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาอย่างโอฬาริกในปี 1964 คือ “แคปปิตอล” ที่ถูกเขมรแดงทำลายว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่ารังเกียจ ทว่า เมื่อองค์สีหนุและเจ้าของทรัพย์สินได้กลับมายังประเทศนี้อีกครั้ง แคปปิตอลก็ถูกไฟไหม้ แม้จะได้รับการบูรณาการอย่างไร ทว่าปัจจุบัน ไม่หลงเหลืออะไรในความโอฬารแห่งอดีตอีกเลย

จะมีก็แต่อาคารสภารัฐมนตรีบนถนนโปเชนตง (1962) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ เขตตวลโกก (1966) และกระทรวงการคลังแห่งใหม่บนถนนโปเชนตง กรุงพนมเปญ (1967) และโครงการก่อสร้างอาคารสภาสมัชชาแห่งชาติ (1969)

ล้วนแต่เป็นงานสร้างที่หมายจะพัฒนาเขตพนมเปญทไม ศูนย์ราชการแห่งใหม่ในทศวรรษที่’60 บริเวณรอยต่อของสนามบินโปเชนตงและตากะสัง ซึ่งปัจจุบันเป็นกองงานพาสปอร์ตและตรวจคนเข้าเมือง

ทีนี้เรามาดูงานสร้างในเขตหัวเมืองกันบ้าง ในห้วง 60 ปีก่อน ขณะที่กำปงโสมหรือสีหนุวิลล์ ยังเป็นแค่หัวเมืองชายทะเล และในปี 1962 นั้น เพิ่งจะสร้างโบสถ์โรมันคาทอลิกแห่งใหม่ที่สวยงาม ทว่า ไม่มีให้เห็นแล้วในวันนี้

ปัจจุบันสีหนุวิลล์เต็มไปด้วยตึกร้างนับพันแห่งๆ ที่เข้าข่ายได้ชื่อว่าตึกผี! อาเคียโขมด!

และสีหนุวิลล์ก็กลายเป็นเมืองแห่งตึกรามที่สร้างไม่สำเร็จจำนวนนับพันนับหมื่นยูนิต!

เช่นกัน ข้ามไปที่เมืองเสียมเรียบ ในปี 1963 เสียมเรียบเพิ่งจะมีแอร์พอร์ตแห่งใหม่ ไม่นานนักก็ถูกเขมรแดงถล่มทำลาย

ปัจจุบัน เสียมเรียบมีสนามบินแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ ในปีนี้ เป็นที่กล่าวขวัญในความโอ่โถงทันสมัย รวมทั้งบริษัทจัดการดูแลที่มาจากปักกิ่ง

ในปี 1966 เอกชนชาวฝรั่งเศสได้สร้างโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งที่สีหนุวิลล์ ชื่อ SKD ในปีถัดมา รัฐบาลสีหนุราชก็ได้ไปสร้างสำนักงานธนาคารแห่งชาติขึ้นที่นี่ ไม่เท่านั้น รัฐยังสร้างอพาร์ตเมนต์ที่พักขนาด 24 ห้อง โมเดลแบบเดียวกับที่กรุงพนมเปญ (1967-1968) นัยว่าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการไปทำงานที่นั่น

สำหรับจังหวัดพระตะบอง ก็สร้างโรงงานทำกะปอเจาขึ้นที่ตำบลโดนเตียว (1967)

ก่อนหน้านั้น ทรงโปรดให้สร้างบ้านพักตากอากาศที่เมืองกราสส์ของฝรั่งเศสเพื่อเป็นเรือนรับรองของประมุขแห่งรัฐ/1962 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการสร้างสถานทูตกัมพูชาประจำนครไซ่ง่อนของเวียดนามใต้

ไม่เพียงเท่านั้น

บรรดาเอกอุดมนักการเมืองสมัยนั้นซึ่งเทียบกับยุคนี้คือระดับออกญา ยังสร้างวิลล่าสมัยใหม่ที่ดึงดูดใจชาวเขมรถึงความโอ่อ่านั้น เช่น วิลล่าของเอกอุดมเทพฮุนซึ่งทุบทิ้งไปแล้ว วิลล่า ดร.เส็ง โสพน ย่านถนนบลูเลอวาร์ดนโรดม ปัจจุบันคืออาคารการบิน และวิลล่าสมเด็จเป็ญนุจ (1966)

อาคารเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกยึดไปในระบอบเฮงสัมริน (1979-1991)

สําหรับสิ่งปลูกสร้างวิลล่าหรือพระตำหนักต่างๆ ของสมาชิกในราชสำนัก อาทิ พระตำหนักส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระสุรมฤตกระมหากษัตริย์, ตำหนักพระองค์เจ้าหญิงรัศมีโสภนา (1965) บนถนนโสธีรส ริมแม่น้ำจัตุรมุขแห่งกรุงพนมเปญ (1962)

ส่วนวิลล่าหรือบ้านพักส่วนตัวของนายวัณณ์ โมลีวัณณ์ ที่สร้างในปี 1966 ปัจจุบันแม้จะได้คืนจากรัฐบาลฮุน เซน ที่ยึดไว้ยืดเยื้อ และทำให้วิลล่าแห่งนี้คับแคบ พื้นที่เล็กเรียวไปมาก ซึ่งอดีตเป็นสำนักงานโมลีวัณณ์สถาปนิก

ปัจจุบันสมาชิกตระกูลวัณณ์ได้เปิดให้เป็นแหล่งศึกษาสถาปัตยกรรมยุคสีหนุราช ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญต่อกัมพูชายุคหนึ่ง

ท่านวัณณ์ โมลีวัณณ์ ซึ่งลาโลกไปแล้ว ยังมีเรือนไม้ชาเลย์หัวเมืองตากอากาศที่คีรีรมย์ (1962) ปัจจุบันถูกทุบทิ้งทำลายไปแล้ว และเรือนไม้สุดท้ายคือบ้านเขมรหนึ่งห้องนอนที่เรียบง่ายสำหรับตนเองเป็นเรือนตาย

นี่คือโปรเจ็กต์สุดท้ายของอดีตสถาปนิกกัมพูชาแห่งทศวรรษที่’60 ซึ่งเป็นยุคที่เขาได้สร้างผลงานยิ่งใหญ่ไว้มากมาย รวมทั้งโปรเจ็กต์ที่ต้องล้มไปกลางคันอีกจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเหล่านั้น เป็นไปตามประสงค์ของผู้อำนวยการคือสมเด็จนโรดม สีหนุ แต่ไม่สำเร็จ

อาทิ โครงการพัฒนาอาคารรอบๆ สปอร์ตคอมเพล็กซ์/โอลิมปิกสเตเดี้ยมจากพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ แบ่งเป็นไซต์งานต่างๆ รอบๆ บริเวณโอบล้อมเขื่อนขนาดใหญ่ใจกลางกรุงที่บรรจุมนุษย์ราวแปดหมื่นคน

โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณเขตบาสัก อันเชื่อมต่อนโรดมบลูเลอวาร์ด จากอนุสาวรีย์วิเมียนเอกราชไปจนจรดปากแม่น้ำจัตุรมุข (1959-1964)

และเป็นได้แค่กัมพูชายุคสีหนุราช และพนมเปญในฝันตามระบอบ “สังคมเรียจ” ที่มีความหมาย 2 คำรบ กล่าวคือ ระบอบกษัตริย์ (ที่) ราษฎรนิยม ทว่า แม้จะมากมายไปด้วยวัตถุสิ่งปลูกสร้างโอฬาริก แต่เพียง 15 ปีแห่งการก่อสร้าง (1955-1970) ระบอบดังกล่าวกลับล่มสลายโดยง่าย

ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาของการนำพาประเทศ พระองค์เจ้ากลับพยายามจะทำลายว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” แห่งการปกครองทางการเมือง ซึ่งเป็นจุดอ่อนเดียวที่พระองค์ทรงหลีกเลี่ยง

และ “จุดอ่อน” นี้เองที่กลายเป็นบทเรียนแก่ราชวงศ์นโรดม อย่างหาที่สุดมิได้!