14 ตุลาฯ กับทหาร (จบ) การเมืองใหม่ในกองทัพ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (จบ)

การเมืองใหม่ในกองทัพ

 

“ผลประการสำคัญที่สุด [ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ] ต่อสถาบันทหารก็คือ ทหารได้กลับคืนเข้าสู่กรมกองทั้งหมด ขณะนั้นศักยภาพและศักดิ์ศรีของทหารตกอยู่ในสภาพต่ำสุด ทหารใน กทม. จะต้องแต่งชุดพลเรือนมาที่ทำงานนานนับเดือน เห็นทีจะต้องปรับปรุงและทบทวนพฤติกรรมของตัวเองใหม่ทั้งหมด”

พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์

 

หากย้อนกลับไปสู่พิจารณาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว เราอาจจะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับกองทัพอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะการต่อสู้ครั้งนี้คือการโค่นล้มรัฐบาลทหาร ฉะนั้น กองทัพทั้งในความเป็นสถาบันและตัวบุคคลจึงเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากข้อเขียนของ พ.ท.รณชัย ที่นำมากล่าวในข้างต้น (จากหนังสือ ยุทธการยึดเมือง, 2529) ซึ่งคนในรุ่นหลังอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่า เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้นายทหารไม่สามารถใส่เครื่องแบบในที่สาธารณะได้ และต้องใช้ชุดพลเรือนไปทำงาน

ดังนั้น ในบทนี้จะทดลองสำรวจผลของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่เกิดกับสถาบันทหาร เพราะสิ่งที่กองทัพต้องเผชิญในครั้งนั้น เป็นเรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่คณะนายทหารไทยไม่เคยประสบมาก่อน… ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างแน่นอนที่ การลุกขึ้นสู้ของนิสิต นักศึกษา ประชาชนจะสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานได้

หากพิจารณาในภาพรวมถึงการมาของสถานการณ์ชุดใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จะเห็นได้ว่า กองทัพพบกับ “โจทย์ใหม่” ทั้งการเมืองและการทหาร ดังนี้

 

1) การปรับรื้อโครงสร้างอำนาจในกองทัพ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การสิ้นสุดของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร นั้น ไม่ใช่เพียงการสิ้นสุดของรัฐบาลในแบบปกติ หากมีนัยถึงการจบลงของ “ระบอบทหาร” ชุดใหญ่ที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 แล้ว ดังนั้น การผูกขาดอำนาจในกองทัพของกลุ่มผู้นำทหาร หรือในความหมายทางการเมืองคือ “กลุ่มถนอม-ประภาส จารุเสถียร” ได้สิ้นสภาพไป อีกนัยหนึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือการปิดฉากของ “ผู้นำทหารเก่า” ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน การสิ้นสุดอำนาจเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายภายในกองทัพที่ “ผู้นำทหารใหม่” จะต้องสร้างเอกภาพและการควบคุมกองทัพให้ได้

ในความเป็นจริงแล้ว “ผู้นำทหารใหม่” ที่เป็นผู้คุมอำนาจในกองทัพ แม้จะไม่ใช่พวกที่อยู่ในกลุ่มอำนาจเดิม แต่โดยเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว พวกเขาก็คือส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำทหาร ที่เกิดความขัดแย้งภายในมาก่อนปี 2516 การเกิดสภาวะการ “ปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจ” (power shift) จึงเป็นเสมือนกับการเปิด “ศักราชใหม่” ของกองทัพ แต่ก็มิได้หมายความว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะสิ้นสภาพในกองทัพไปทั้งหมด ดังนั้น การเปลี่ยนขั้วอำนาจเช่นนี้ พันโทรณชัยกล่าวไว้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า

“แม้ว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ตาม ก็ยังไม่สามารถขจัดอิทธิพลของกลุ่มจอมพลถนอมและจอมพลประภาสเดิมลงไปให้หมดได้ แค่ประคองตัว…”

 

2) ความเปลี่ยนแปลงของสถานะทางการเมืองของทหาร

ต้องยอมรับว่าสถานะทางการเมืองของสถาบันกองทัพตกต่ำลง ไม่ใช่เพียงเพราะการเผชิญกับการต่อต้านของมวลชนขนาดใหญ่บนถนน หากแต่เป็นผลสืบเนื่องของความไม่พอใจที่ก่อตัวมาจากการไม่ตอบรับกับการมีอำนาจของรัฐบาลทหาร ที่เห็นชัดจากปัญหาการรัฐประหาร 2514 “กฎหมายโบดำ 299” ในปี 2515 การต่ออายุให้กลุ่มตัวเองของผู้นำทหาร จนถึงกรณีทุ่งใหญ่ในต้นปี 2516 รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำลงตามไปกับรัฐบาลทหาร และเมื่อต้องประสบกับความพ่ายแพ้บนถนนราชดำเนินด้วยแล้ว สถานะทางการเมืองของกองทัพก็ถือว่าตกต่ำสุด จนอาจประเมินได้ว่าสถานะของกองทัพหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ตกต่ำลงถึงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภาวะดังกล่าวทำให้นายทหารหลายส่วนไม่พอใจต่อปัญหานี้ และมองว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการ “ทำลายศักดิ์ศรีของทหาร” จนทำให้เกิดกระแสในกองทัพที่จะจัดการชุมนุมประท้วงของกลุ่มทหาร แต่ก็ถูกห้ามปรามจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในขณะนั้น เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบานปลาย และอาจเกิดผลกระทบใหญ่ตามมา จึงทำให้ความคิดในการจัดการชุมนุมของกลุ่มทหารต้องยุติไป

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นคำตอบอย่างดีว่า กองทัพหลัง 14 ตุลาฯ กำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมใหม่ ที่บทบาทและอำนาจของกองทัพจะไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป

 

3) การจัดวางบทบาทของกองทัพหลังความเปลี่ยนแปลง

การมาของสภาพแวดล้อมทางการเมืองใหม่ของสังคมไทย ทำให้ผู้นำทหารต้องคิดในการวาง “ที่ทาง” ใหม่ (หรือในความหมายของ “political position”) ว่า กองทัพจะอยู่ในที่ตรงไหนในสังคมการเมือง เพราะสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังความเปลี่ยนแปลงนี้คือ การต่อสู้ทางการเมืองในยุคหลัง 14 ตุลาฯ ที่ถูกผสานเข้ากับปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ ผู้นำกองทัพจึงต้องจัดที่ทาง ซึ่งในด้านหนึ่ง เราอาจตอบได้ง่ายว่า อย่างไรเสียกองทัพจะต้องยืนในปีกอนุรักษนิยม และยิ่งกระแสฝ่ายซ้ายแรงขึ้นเท่าใด กองทัพด้วยความกลัวเป็นพื้นฐาน จะยิ่งสะวิงขวามากเท่านั้น

แต่ปัญหาคือ เมื่อกองทัพสะวิงขวาสุด จะเป็นโอกาสให้ผู้นำทหารตัดสินใจยึดอำนาจหรือไม่ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลทหารแบบเก่า หรือกองทัพจะเป็นเพียงเครื่องมือของปีกขวาจัด ที่ต้องการยึดอำนาจ เพื่อตั้งรัฐบาลขวาจัดที่ไม่ใช่รัฐบาลทหาร

สุดท้ายแล้วในปี 2519 ผู้นำทหารเลือกแบบหลัง อันส่งผลให้รัฐประหาร 2519 เป็นการยึดอำนาจที่ต่างไปจากเดิม โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นหัวหน้า

 

4) การกำเนิดของกลุ่มนายทหารระดับกลาง

การขยับตัวในทางการเมืองของนายทหารระดับกลางเป็นผลผลิตโดยตรงของ 14 ตุลาฯ หรืออีกนัยหนึ่ง 14 ตุลาฯ ทำหน้าที่เป็น “ผู้เปิดประตูบานใหญ่” ของกองทัพ ที่ทำให้นายทหารระดับเดินเข้ามาโลดแล่นในเวทีการเมือง และถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญชุดหนึ่งของปัญหาทหารกับการเมืองไทยในยุคหลัง 14 ตุลาฯ ว่าที่จริงแล้ว ประตูบานนี้ถูกปิดล็อกไว้อย่างแน่นหนาด้วยอำนาจของนายทหารระดับสูง และเมื่อเปิดออกได้แล้ว ก็เปลี่ยนโฉมหน้าของทหารกับการเมืองไทยในอีกแบบ

สภาวะเช่นนี้ทำให้เราอาจเรียกยุคหลัง 14 ตุลาฯ ในบริบททหารว่าเป็น “ยุคทองของนายทหารระดับกลาง” และจบตามไปกับการพ่ายแพ้การรัฐประหารของกลุ่มยังเติร์กในปี 2528 เพราะหลังจากนั้นแล้ว กองทัพไทยกลับสู่สภาวะรวมศูนย์อีกครั้ง และไม่มีช่องว่างให้ทหารระดับกลางกลับสู่เวทีการเมืองได้อีก

 

5) การต่อสู้ทางความคิดภายในกองทัพ

การเปลี่ยนแปลงของการเมืองในระดับชาติส่งผลต่อการต่อสู้ทางความคิดในมิติของความพยายามในการนิยาม “ทหารอาชีพ” ดังที่ พ.ท.รณชัยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ทหารได้รับจากการผ่านสมรภูมิแต่ละแห่งไม่ว่าที่ใดก็ตามคือ ประสบการณ์ มันเป็นบทพิสูจน์คุณค่าของการเป็นทหารนักรบ สิ่งเหล่านี้จะติดตัวไปตราบเท่าที่รับราชการจนถึงสิ้นอายุขัย การยอมรับของสังคมทหารคือ ท่านเคยผ่านสนามรบมาแล้วหรือยัง?”

การนิยามความเป็นทหารในลักษณะเช่นนี้ปะทะกับกระแสในกองทัพอีกส่วนของ “ทหารการเมือง” ที่เกิดขึ้นในหมู่นายทหารระดับบน ที่ยังต้องการเข้าไปมีบทบาททางการเมือง ดังนั้น หลัง 14 ตุลาฯ จึงเห็นการตั้งคำถามของนายทหารระดับกลางต่อบทบาทของผู้บังคับบัญชาระดับบน และเป็นกระแสในกองทัพอย่างไม่น่าเชื่อ

 

6) แรงต่อต้านจากขบวนการทางสังคม

การเติบโตของขบวนการทางสังคม (social movements) ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายในสังคม และเห็นได้ถึงบทบาทไม่ใช่เพียงขบวนนิสิตนักศึกษาเท่านั้น หากยังเห็นถึงขบวนการชาวนา และขบวนการกรรมกร ซึ่งขบวนเหล่านี้มีลักษณะเอียงซ้ายอีกด้วย กองทัพในสภาวะเช่นนี้จึงไม่ใช่ตัวแสดงหลักทางการเมืองตัวเดียวอีกต่อไป และต้องเผชิญกับ “แรงเสียดทาน” หรือกล่าวในภาพรวมได้ว่า กระแสหลัง 14 ตุลาฯ ส่วนหนึ่งเป็นกระแส “ต่อต้านเสนานิยม” (anti-militarism) แม้จะมีนัยของการเป็น “กระแสฝ่ายซ้าย” ที่ขยายตัวอย่างมากในหมู่นิสิตนักศึกษาในยุคนั้น และมองกองทัพด้วยความหวาดระแวง

แต่ในอีกด้านก็ละเลยไม่ได้กับ “กระแสเสรีนิยม” ที่ขับเคลื่อนในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนไทยมาก่อน 14 ตุลาฯ ซึ่งกระแสชุดนี้มากับการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมของโลกตะวันตกในยุคสงครามเวียดนาม หรือในอีกมุมคือ “กระแสต่อต้านสงคราม” ที่ไหลมาจากโลกตะวันตก และในกระแสนี้มี “ลัทธิเสนานิยม” หรือในความหมายที่เป็นรูปธรรมคือ “กระแสต่อต้านทหาร” เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะในมิติของอุดมการณ์เสรีนิยมจะไม่ตอบรับกับบทบาททหารในสังคม ซึ่งในอีกส่วนก็สอดรับอย่างดีกับอุดมการณ์สังคมนิยม ที่ก็ไม่ตอบรับกับบทบาททหารเช่นกัน

 

7) ความท้าทายจากปัญหาสงครามในบ้าน

ปัญหาความท้าทายอีกส่วนมาจากการขยายตัวของสงครามภายในของไทย ดังจะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นั้น ไม่ใช่เพียงเห็นถึงการขยายตัวของกระแสฝ่ายซ้ายในเมืองเท่านั้น หากในอีกด้านสงครามในชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะขบวนนิสิตนักศึกษาดูจะมีทิศทางไปในแบบที่เป็น “แนวร่วม” กับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในชนบท เช่น การเข้าไป “เปิดโปง” ปฏิบัติการใช้กำลังในแบบสุดโต่ง

ดังเช่น กรณีถังแดง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ปฏิบัติการของฝ่ายทหารถูกนำมาเปิดเผย และขยายผลบนหน้าสื่อ ซึ่งทำให้กองทัพตกเป็น “ฝ่ายรับ” ในทางการเมือง

 

8) สถานการณ์สงครามใกล้บ้าน

สถานการณ์สงครามในอินโดจีน โดยเฉพาะในเวียดนามนั้น ดูจะไม่เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำไทยคาดหวัง ดังจะเห็นได้จากการประกาศลดภาระทางทหารของสหรัฐในเวียดนาม หรือ “Nixon Doctrine” ในเดือนกรกฎาคม 2512 การเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 และตามมาด้วยข้อตกลงสันติภาพปารีส ในเดือนมกราคม 2516 ซึ่งเป็นสัญญาณของการถอนตัวออกของสหรัฐจากสงครามเวียดนาม

ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นปัญหาความมั่นคงใหญ่ที่ผู้นำทหารไทย รวมทั้งผู้นำปีกขวามองว่า ไทยกำลังถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างโดดเดี่ยว เพราะสหรัฐอาจไม่แบกรับพันธกรณีในการป้องกันทางทหารได้ในแบบเดิม

อีกทั้งยังมีความหมายว่าสหรัฐกำลังจะแพ้สงครามในเวียดนาม ซึ่งทัศนะด้านความมั่นคงเช่นนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำหนดอนาคตการเมืองไทยในยุคหลัง 14 ตุลาฯ อย่างมาก!