ล้มทฤษฎี ‘มนุษย์ใช้สมองเพียงแค่ 10%’ | จักรกฤษณ์ สิริริน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

จากข่าวคราวเมื่อปี ค.ศ.1992 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบโครงกระดูก “ต้นตระกูลมนุษย์” เก่าแก่ถึง 4.4 ล้านปี ในประเทศ “เอธิโอเปีย” ซึ่งถือว่า “เก่าแก่ที่สุด” เท่าที่เคยพบมา

เป็นสิ่งมีชีวิต Species ใหม่ใน “ตระกูลคน” โดยให้ชื่อว่า Ardipithecus Ramidus ชื่อเล่น Ardi เพศหญิง มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม สูงราว 1.2 เมตร

ก่อนหน้า Ardi สิ่งมีชีวิต “ตระกูลมนุษย์” ที่เก่าแก่ที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Lucy ซึ่งจัดเป็น Australopithecus Afarensis อายุ 3.2 ล้านปี ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1974 ใน “เอธิโอเปีย” เช่นเดียวกัน อยู่ห่างจากบริเวณที่พบ Ardi ออกไปทางตอนเหนือราว 72 กิโลเมตร

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์วิวัฒนาการจาก “ต้นกำเนิดคนเดินสองขา” ตระกูล Homo อันประกอบไปด้วย Sapiens, Erectus, Neanderthal

ทำให้ประวัติศาสตร์โลกในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการนำชื่อ Lucy มาใช้ในหลายกรรมหลายวาระในฐานะ “ต้นแบบมนุษย์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์เรื่อง “Lucy ลูซี่ สวยพิฆาต” ที่มีการเปรียบเทียบ Lucy กับนางเอกของเรื่อง ที่สมองปราดเปรื่องจากอุบัติเหตุ ทำให้เธอได้รับสารเคมีกระตุ้นสมองให้สามารถ “ใช้ประสิทธิภาพสมองได้ 100%”

ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบัน Max Planck ประเทศเยอรมนี ร่วมกับสถาบันโมเลกุล-คลินิกจักษุวิทยา Basel และสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ได้เปิดเผยว่า กระบวนการใช้งานสมองของมนุษย์นั้น มีความแตกต่างจาก Primate อื่นๆ เช่น วงศ์ลิงใหญ่ อย่าง ชิมแปนซี อุรังอุตัง กอริลลา แม้จะมีบรรพบุรุษร่วมกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎี “มนุษย์ใช้สมองเพียงแค่ 10%” อันโด่งดัง ซึ่งมีที่มาจาก Lowell Thomas นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ได้เขียนคำนิยมในหนังสือ How to Win Friends and Influence People ของ Dale Carnegie เมื่อปี ค.ศ.1936

 

“ศาสตราจารย์ ดร. William James แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้เป็นเสมือนบิดาของแวดวงวิชาการจิตวิทยาอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า คนทั่วไปสามารถจะพัฒนา และใช้ระดับสติปัญญาของตนเองได้เพียง 10% ของศักยภาพที่มีอยู่ทั้งหมด”

นับตั้งแต่นั้นมา ไม่น่าเชื่อว่าเพียงประโยคสั้นๆ ในคำนิยมดังกล่าว ได้กลายเป็น “ความเชื่อ” ในเชิง “เกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์” ที่เผยแพร่กันแบบปากต่อปาก แพร่หลายไปทั่วโลก จากรุ่นสู่รุ่น

และไม่น่าเชื่อว่า ในเวลาต่อๆ มา ผู้คนจำนวนมากต่างพากัน “เชื่อเป็นอย่างมาก” เสียด้วยว่า “มนุษย์ใช้สมองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยใช้งานเพียง 10% จากความสามารถทั้งหมดของสมอง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง แม้แต่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจำนวนมาก ได้นำแนวคิดนี้ไปขยายเป็น Plot เรื่อง หรือเส้นเรื่องหลักของหนังเลยทีเดียว อาทิ ภาพยนตร์แนว Sci-fi เรื่อง “Lucy ลูซี่ สวยพิฆาต”

ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตวิทยา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบิดาแห่งวงการจิตวิทยาอเมริกัน ได้หมายความตามคำพูดที่ว่าหรือไม่

แต่สิ่งที่จริงแท้และแน่นอนก็คือ คำกล่าวอ้างที่ว่า “มนุษย์ใช้งานสมองเพียง 10% ในแต่ละวัน” นั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิงในทางวิทยาศาสตร์

 

ดร. Julie Fratantoni นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา จากศูนย์เพื่อสุขภาพสมองแห่งมหาวิทยาลัย Texas วิทยาเขต Dallas สหรัฐอเมริกา บอกว่าความเชื่อเรื่องมนุษย์ใช้งานสมองเพียง 10% นั้น “เป็นมายาคติที่น่าขัน”

“แม้ว่าสมองของคนเราจะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ซึ่งมีภารกิจที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สมองจะทำงานผ่านเครือข่ายหลายรูปแบบ ที่ประสานเชื่อมโยงสมองหลายส่วนเข้าด้วยกัน”

อาทิ เครือข่ายการทำงานอัตโนมัติเมื่อร่างกายพักผ่อน หรือ Default Mode Network (DMN) ที่มักกระโดดมาช่วยประมวลผลเกี่ยวกับความคิด และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”

ดร. Julie Fratantoni สรุป

 

เช่นเดียวกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงวิวัฒนาการ แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Live Science ว่า “มนุษย์เราใช้งานสมองทั้งหมดเสมอ และใช้ทุกส่วนที่มีอยู่”

“ที่พูดๆ กันว่าคนเราใช้สมองเพียง 10% นั้น เป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย และคลุมเครือเป็นอย่างมาก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กระชุ่น

“เพราะไม่รู้ว่า 10% ที่ว่านั้น เป็น 10% ของอะไร หมายถึง 10% ของพลังงานจากกระบวนการ Metabolism หรือ 10% ของความเคลื่อนไหวทางสัญญาณไฟฟ้าในสมอง หรือ 10% ของระดับออกซิเจนในสมอง”

“10% ของอะไรกันแน่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

“เมื่อมีนักศึกษาถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ในชั้นเรียน ฉันมักจะตอบว่า คนที่ใช้งานสมองเพียง 10% ส่วนใหญ่คือคนหมดสติ และผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจพยุงชีพอยู่เท่านั้น”

“สมองคนเราก็เหมือนกับหัวใจ ที่ต่างก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้ยามเราหลับ เซลล์ประสาทในสมองก็ยังต้องทำงาน เพื่อยิงกระแสประสาทจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

“โดยร่างกายจะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นคำสั่งให้เซลล์ประสาทจำต้องมีความเคลื่อนไหวทางไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆ เสมอ แม้แต่ในตอนที่เราหลับสนิท ทั้งนี้ ก็เพื่อบำรุงรักษาเซลล์ประสาทให้คงสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และยังคงทำงานได้ดี”

 

แต่หากเราอยากทราบว่ามนุษย์เรามีการใช้งานสมองมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลานั้น มันไม่ใช่เรื่องยากเลย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน เราสามารถรู้ได้ว่ามนุษย์เรามีการใช้งานสมองมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ผ่านการ “สแกนสมอง”

เพราะการ “สแกนสมอง” ด้วยเครื่อง fMRI หรือ functional Magnetic Resonance Imaging นั้น สามารถแสดงภาพความเคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลงของกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ขณะที่มีสิ่งกระตุ้นเร้าได้อย่างชัดเจน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

“จากเครื่อง fMRI เราสามารถเห็นได้ว่าเลือดวิ่งวนตลอดเวลาในสมอง ถ้าสมองส่วนไหนมีเลือดไปเลี้ยงมาก นั่นคือสมองส่วนที่กำลังมีการเผาผลาญ และใช้พลังงานมากกว่าสมองส่วนอื่น เนื่องจากกำลังทำหน้าที่ประมวลผลเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังจดจ่อ หรือใช้ความคิดอย่างหนักอยู่ในขณะนั้น”

“อย่างไรก็ดี สมองบางส่วนอาจใช้พลังงานหรือทรัพยากรต่างๆ ของร่างกายลดลง หากว่าเรามีทักษะและความชำนาญบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสมองส่วนนั้นดีอยู่แล้ว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

แน่นอนว่าสมองส่วนที่เราใช้บ่อยจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเซลล์ประสาทแผ่ขยายตัวออกไปเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่นๆ มากขึ้น โดยจะมีการสร้างหลอดเลือดในบริเวณดังกล่าวเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานที่มากเป็นพิเศษ

“ส่งผลให้การทำงานของสมองส่วนดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง และสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง จนอาจดูเหมือนว่าไม่ค่อยเคลื่อนไหว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว

 

และว่า คำกล่าวอ้างที่ว่า “มนุษย์ใช้งานสมองเพียง 10%” นั้น นอกจากจะไม่ถูกต้องในทางชีววิทยาแล้ว ยังเป็นแนวคิดที่ขาดความเข้าใจถึงธรรมชาติการทำงานของสมองอย่างมากอีกด้วย

“ข้อนี้พิสูจน์ได้จากการที่ผู้ป่วยที่สมองบางส่วนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ต่างก็สามารถฟื้นฟูทักษะ และสมรรถนะต่างๆ ให้กลับคืนมาได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht กล่าว และว่า

“เนื่องจากสมองส่วนอื่นที่เหลือ ได้ปรับตัวเพื่อเข้ามารับหน้าที่อื่นๆ แทนนั่นเอง”

“อย่าลืมว่าสมองคนเรามีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทได้เสมอ ทำให้เราสามารถใช้งานด้วยประสิทธิภาพที่เต็ม 100% ได้”

ด้วยองค์ประกอบของเครือข่ายภายในสมองอันแสนมหัศจรรย์นั่นเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Erin Hecht ทิ้งท้าย