ผลสอบจเรตำรวจคาใจ ปชช. ‘ปม’ สติ๊กเกอร์ส่วยเคลียร์ทาง? หนังคนละม้วนจากคำ ‘เศรษฐา’

จบแบบมีคำถามในสายตาประชาชน กรณีผลสอบจเรตำรวจระบุว่ารถบรรทุกดินติดหลุมท่อร้อยสายไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่พบมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์บรรทุกน้ำหนักเกิน 37.45 ตัน จากกฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 25 ตัน บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1

เหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้เที่ยงวันที่ 8 พฤศจิกายน รถบรรทุกดินโคลนวิ่งมาตามถนนสุขุมวิท ขาเข้า ช่องทางที่ 2 นับจากซ้ายมือ เมื่อขับมาถึงบริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 ฝาครอบหลุมท่อร้อยสายไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง ขนาดใหญ่เกิดทรุดตัวลง 2 แผ่น แล้วได้ 2 กระดกขึ้น เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์และรถแท็กซี่กระเด็นลอยขึ้นและตกลงมาบนพื้นถนน ทำให้รถทั้ง 2 คันได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ ส่งผลการจราจรติดขัดวินาศสันตะโรกว่า 10 ชั่วโมง

ปรากฎมีคนเห็นสติ๊กเกอร์รูปดาวตรงกลางตัว B บนพื้นสีเขียว ติดอยู่หน้ารถบรรทุกดิน

กลายเป็นประเด็นใหญ่โตในสังคมโซเชียลวิจารณ์กันว่าเป็นสติ๊กเกอร์เคลียร์ทางใช่หรือไม่

เพราะหากเป็นส่วยสติ๊กเกอร์ นั่นหมายความว่า ส่วยรถบรรทุกมีจริงในเขตเมืองหลวง

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์จนกลบกระแสแถลงผลงานรัฐบาล 60 วัน

 

ต่อมาตำรวจ สน.พระโขนง ได้ดำเนินคดี นายศักดิ์มงคล ทาสะโก โชเฟอร์ ความผิดฐาน “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” และนายวุฒิภัทร จันทรินทรากร หรือเสี่ยบิ๊ก เจ้าของรถ ถูกกล่าวหาว่า “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” โดยในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ

“เสี่ยบิ๊ก” แจกแจงสติ๊กเกอร์หน้ารถว่า ตัวอักษร B มาจากชื่อบิ๊กชื่อเล่นของตัวเอง สีเขียวมาจากเกิดวันพุธ และรูปดาว เพราะอยากเป็นดาวรุ่ง พร้อมระบุว่าไม่ใช่ป้ายเคลียร์ หรือป้ายส่วยใดๆ ติดไว้เพื่อเวลาไปเอาดินในสถานที่ต่างๆ จะได้รู้ว่าเป็นรถใคร ตัวเองมีรถบรรทุกทั้งหมด 3 คัน ติดสัญลักษณ์นี้ทั้งหมด

แต่เมื่อไปดูคำให้สัมภาษณ์นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตอนหนึ่งระบุว่า ได้ลองส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ ไปให้อาจารย์ที่ทำวิจัยดู พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรทุกเกิน เพราะจากข้อมูลระบุว่า รถทะเบียนนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าบรรทุกน้ำหนัก 61 ตัน แต่ย้ำว่านี่เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ ยังไม่ได้สรุปว่า รถคันนี้น้ำหนักเกิน

ขณะที่นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่เคยได้รับร้องเรียนกรณีรถบรรทุกดินน้ำหนักเกินในกรุงเทพฯ เพราะดูแลทางหลวง แต่สติ๊กเกอร์ในลักษณะนี้ เห็นบ่อยครั้ง สัญลักษณ์การเคลียร์เส้นทางเป็นรายบริษัท ที่ผู้ประกอบการใช้เคลียร์ สน.ท้องที่ ให้รถบรรทุกวิ่งระหว่างไซต์งานก่อสร้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เข้าออก กทม.ตลอด 24 ชั่วโมง น้ำหนักเกินกว่า 25 ตัน และผ่านพื้นที่ใด สน.นั้นต้องทราบ

ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนแต่กลับไม่ถูกนำมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

 

ประเด็นนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ห่วงใยเป็นอย่างมากก่อนขึ้นเครื่องไปประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน ได้เรียกนายตำรวจที่เกี่ยวข้องสั่งการที่สนามบินสุวรรณภูมิ อาทิ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.

ผบช.ก.เปิดเผยว่า นายกฯ สั่งการแนวทางแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนายกฯ มีนโยบายจริงจังปราบเรื่องนี้ให้หมดไป ได้หารือร่วมกันระหว่างตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจทางหลวง ตำรวจนครบาล และกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม รวมถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ผลการหารือทุกภาคส่วนจะตรวจจับจริงจัง กรมทางหลวงมีด่านชั่งน้ำหนัก 100 กว่าจุดทั่วประเทศ แต่มีปัญหาการหนีไม่ยอมเข้าด่าน จึงพูดคุยกันว่ากรมทางหลวงจะเติมเต็ม หากพบรถบรรทุกไม่เข้าด่านจะแจ้งตำรวจทางหลวงให้สกัดจับ

พล.ต.ท.จิรภพ ระบุหากประชาชนท่านใดเห็นรถน้ำหนักเกินให้แจ้งเบาะแสที่กรมทางหลวงหรือตำรวจทางหลวง จะได้จับกุม คิดว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกินลดลงไปแล้ว 80% เหลือ 20% ต้องมาไล่จับกัน และยังหารือการแก้กฎหมายให้หนักขึ้น ให้เกรงกลัวการกระทำความผิด เป็นแนวทางที่นายกฯ สั่งการ เชื่อว่าจะได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ อาจไม่ 100%

“วันนี้เหมือนแมวไล่จับหนู แต่ยืนยันอธิบดีกรมทางหลวงและตำรวจทางหลวงดำเนินการกันอย่างเต็มที่ ขณะที่ตำรวจนครบาลได้กำชับตำรวจจราจรให้ตรวจตรารถในกรุงเทพฯ ร่วมกับ กทม. เรื่องนี้เราจะดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องเงียบแล้วหยุด แต่จะทำตลอดไปให้จบที่รุ่นเรา” พล.ต.ท.จิรภพกล่าว

 

ต่อมา นายกฯ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปถึงส่วยรถบรรทุกอีกครั้งสอดคล้อง ผบช.ก.ว่า “เรื่องส่วยและส่วยทางหลวงที่ดำเนินการไปแล้ว ได้คุยผู้บัญชาการสอบสวนกลางทราบว่าที่จริงหายไปแล้วประมาณ 80% แต่ยังมีบางส่วนที่เหลืออยู่บ้าง ในกรุงเทพฯ ยอมรับว่ายังมีอยู่บ้าง แต่เนื่องด้วยด่านชั่งน้ำหนักในกรุงเทพฯ มีน้อย ต้องมีการจัดการกันไป ต้องมีการชั่งน้ำหนักซึ่งได้กำชับไปแล้ว”

นายกฯ ระบุว่า จะมีการพูดคุยกัน โดยจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างสายด่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดการกันไป

ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องดีขึ้นแน่นอน นอกจากนั้น ต้องปรับเรื่องกฎกติกาหลายอย่าง ทั้งอัตราการปรับให้สูงขึ้นจากปกติที่มีขีดจำกัดว่าจะจำกัดได้เท่าไร ต้องไปพิจารณากฎหมายให้ปรับได้เยอะขึ้น ถ้ามีการบรรทุกน้ำหนักเกิน หรืออาจไปถึงขนาดต้องยึดรถไว้ก่อน ต้องเพิ่มมาตรการคาดโทษตรงนี้ เชื่อว่ารถที่บรรทุกน้ำหนักเกินก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

จับคำพูดนายกฯ เศรษฐากับผลสอบจเรตำรวจ หนังคนละม้วนกัน