พรหมลิขิตกับประเด็นท้วงติง เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

พรหมลิขิตกับประเด็นท้วงติง

เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

 

นาทีนี้คงไม่มีละครโทรทัศน์เรื่องไหนมาแรงเกินไปกว่า “พรหมลิขิต” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อีกแล้ว

หลังจากที่ผ่านการออกอากาศมาได้ 11 ตอน จนถึงขณะนี้ละครทำเรตติ้งทั่วประเทศสูงสุดไปถึง 7.6 มียอดรับชมใน True ID TV สูงสุด 319,201 และทาง 3+ อยู่ที่ 758,500

ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว

แต่ระหว่างที่กระแสความนิยมของละครกำลังพุ่งฉิวติดลมบนอยู่นี้ก็มีเสียงทักท้วงจากแฟนละครสองประเด็นซึ่งน่าสนใจมาก ทั้งสองประเด็นเป็นเสียงท้วงติงเรื่องความถูกต้องทางวิชาการในละคร

โดยเรื่องแรกเกี่ยวกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จากการที่เกศสุรางค์ในร่างของการะเกดพูดถึงทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์

แต่ความจริงแล้วทฤษฎีสัมพันธภาพไม่มี มีแต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ

ส่วนเรื่องที่สองคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของชาวจีนในละครที่ไม่ตรงกับยุคสมัย และยังไม่ประณีตสวยงามเท่าที่ควรในบางจุด

 

ประเด็นที่หนึ่งปรากฏอยู่ในตอนที่ 7 เป็นบทสนทนาระหว่างเกศสุรางค์ที่อยู่ในร่างของการะเกดกล่าวกับพุดตานว่า “ฉันเคยรู้เรื่องการเบี่ยงเบนของเวลา รู้เรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ หนูรู้จักมั้ย ทฤษฎีนี้แหละที่บอกว่ามิติต่างๆ เป็นเอกเทศต่อกัน ฉันคงอธิบายให้เข้าใจมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะฉันก็รู้แค่นี้เหมือนกัน เราอาจไม่รู้เหตุผลในเชิงวิชาการ หรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ รู้แค่ว่าเราสองคนมาที่นี่… อยุธยา …ถึงแม้ว่าจะมาในคนละรูปแบบกัน แต่เราเป็นคนในโลกสามร้อยกว่าปีข้างหน้าเหมือนกัน”

บทสนทนาข้างต้นนั้นมาจากบทละครโทรทัศน์โดยศัลยา สุขะนิวัตติ์ ซึ่งข้อความต้นทางตามบทประพันธ์ของรอมแพงเขียนเอาไว้ว่า

“อืม… น่าจะมาคนละวิธีกัน น้าอยู่ที่นี่มายี่สิบกว่าปีแล้วจ้ะ และกลับไปไม่ได้แน่นอน เอ… ทำไมเวลาไม่เท่ากัน สงสัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนของเวลา หรืออาจจะเป็นคล้ายทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ที่มิติต่างๆ เป็นเอกเทศต่อกันแน่ๆ เลย”

จะเห็นได้ว่าถ้อยคำตามต้นฉบับนั้นแตกต่างกับในบทละคร แม้ดูเหมือนคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควรก็ตาม แต่ถ้อยคำของรอมแพงรัดกุมกว่า เพราะใช้คำว่า “หรืออาจจะเป็นคล้ายทฤษฎี…” โดยไม่ได้ระบุชัดๆ ว่าทฤษฎีบอกเอาไว้อย่างไร

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ทั้งบทประพันธ์และบทละครเหมือนกันเป๊ะๆ ก็คือคำว่า “ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์” ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อละครออกฉายก็กลายมาเป็นปัญหาจนได้

 

คงไม่มีผู้ชมคนเดียวที่สะดุดกับบทสนทนานี้ แต่ผู้ที่จุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่สาธารณชนก็คือเฟซบุ๊กเพจ The Principia ซึ่งเป็นเพจที่สื่อสารเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์

โดยทางเพจแย้งว่า “ไม่มีทฤษฎีสัมพันธภาพ ทฤษฎีที่คุณหญิงการะเกดรู้จักในพรหมลิขิต EP.7 ควรจะเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพ”

เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าที่คนทั่วไปคิด เพราะคำว่า “สัมพัทธ์” ซึ่งอ่านว่า สำ-พัด กับคำว่า “สัมพันธ์” ซึ่งอ่านว่า สำ-พัน นั้นมีความหมายแตกต่างกัน และความแตกต่างนี้มีผลต่อแก่นสารสาระสำคัญของทฤษฎี ตามลิงก์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=380428811004979&set=a.189380836776445

ความหมายของสัมพัทธ์ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่าคือ “ที่เปรียบเทียบกัน เช่น ความเร็วสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์”

ส่วนสัมพันธ์คือ “ผูกพัน เกี่ยวข้อง เช่น เขากับฉันสัมพันธ์กันฉันญาติ ข้อความข้างหลังไม่สัมพันธ์กับข้อความข้างหน้า”

และ “การแยกความออกเป็นประโยคๆ หรือส่วนต่างๆ ของประโยค แล้วบอกการเกี่ยวข้องของประโยคและคำต่างๆ ในประโยคนั้นๆ” ตามลิงก์ https://dictionary.orst.go.th/

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในขณะที่สัมพันธ์หมายถึงลักษณะของการเกี่ยวข้องกันระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือสิ่งอื่นๆ แต่สัมพัทธ์หมายถึงลักษณะบางประการที่สิ่งหนึ่งมีหรือเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่าต้องมี “กรอบอ้างอิง” (frame of reference) ในการมอง คำตอบหรือคำอธิบายเรื่องธรรมชาติแบบทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้นจึงไม่ได้มีคำตอบที่หยุดนิ่งตายตัว แต่เปลี่ยนแปร “ขึ้นกับ” จุดอ้างอิงของการวัดหรือประเมินค่า

 

ลําพังเพียงการเปิดพจนานุกรมดูความหมายก็อาจไม่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น เผลอๆ อาจยิ่งงงไปกันใหญ่ ทางที่ดีคือให้เข้าใจว่าทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ถอดความมาจากภาษาอังกฤษคนละคำกัน รวมทั้งทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องเวลาหรือกาล (time) กับเทศะหรืออวกาศ (space) ด้วย จึงจะเข้าใจ คำว่าสัมพันธ์นั้นมาจากคำว่า relate ถ้าความสัมพันธ์ก็คือ relation ส่วนคำว่าสัมพัทธ์มาจากคำว่า relative

ถ้าสัมพัทธภาพก็คือ relativity ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์และปรัชญามีนิยามเฉพาะ อันเป็นแนวคิดตรงข้ามกับ “สัมบูรณ์” (absolute) ทั้งนี้ เนื่องจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์มาทีหลังทฤษฎีของนิวตัน ซึ่งแนวคิดแบบนิวตันมองเรื่องแรงและเวลาแบบสัมบูรณ์ ในขณะที่ไอน์สไตน์มองแบบสัมพัทธ์

การะเกดพูดถึงทฤษฎีสัมพันธภาพ แต่อันที่จริงแล้วคืออ้างถึง “ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์” (Theory of Relativity) นั่นเอง แต่เขียนผิด เนื่องจากเข้าใจผิดเรื่องชื่อ รวมทั้งอาจไม่ได้เข้าใจความหมายของแนวคิดนี้มากนัก

รอมแพงยอมรับในเรื่องนี้หลังจากที่นวนิยายวางแผงและมีผู้ท้วงติงเข้ามา ดังนั้น จึงทำการแก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องในนิยายฉบับอีบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อบทประพันธ์นี้ถูกส่งต่อไปถึงมือผู้จัดละคร และคนเขียนบทละคร ถ้อยคำดังกล่าวยังคงเป็นของเดิมที่ไม่ได้แก้ไข คำศัพท์ที่ผิดนี้จึงเดินทางมาสู่ปากของตัวละครในที่สุด

แม้คำดังกล่าวจะผ่านหูผ่านตาผู้คนมามากมายทั้งผู้จัดละคร คนเขียนบท ผู้กำกับฯ รวมทั้งนักแสดงก็ตาม แต่เนื่องจากผู้คนในสังคมไทยมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ไม่น่าจะมีใครรู้เลยว่าชื่อทฤษฎีนี้ถูกหรือไม่ คำนี้จึงถูกส่งผ่านบุคลากรในกองถ่ายจำนวนมาก กระทั่งหลุดรอดออกมาในโทรทัศน์ได้เพราะไม่มีใครเข้าใจทฤษฎีนี้นั่นเอง

การที่การะเกดพูดกับพุดตานว่า “ทฤษฎีนี้แหละที่บอกว่ามิติต่างๆ เป็นเอกเทศต่อกัน” ก็สะท้อนให้เห็นเป็นนัยอยู่แล้วว่าผู้เขียนบทละครเองก็คงไม่เข้าใจทฤษฎีเท่าใดนัก จึงได้เขียนคำอธิบายออกมาเป็นอะไรที่งุนงงเช่นนี้

นอกจากนั้น คำว่าทฤษฎีสัมพันธภาพก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสังคมไทย ทั้งจากคนที่มีชื่อเสียง รวมทั้งจากบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์เอง จึงทำให้เกิดความสับสนจนไม่ทราบว่าผิดหรือถูก

 

หลายคนคิดว่านี่เป็นแค่ละครโทรทัศน์ซึ่งมุ่งหมายสร้างความผ่อนคลายและบันเทิง จึงไม่ควรคิดมากเรื่องถ้อยคำทางวิชาการ แม้ว่าละครถูกสร้างขึ้นตามจุดประสงค์ด้านความบันเทิงก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเลยความถูกต้องทางวิชาการไปด้วย

สองอย่างนี้สามารถทำควบคู่ไปพร้อมกันได้โดยไม่ขัดแย้งกัน คือทำละครให้สนุก ในขณะเดียวกันเมื่อใดก็ตามที่อ้างอิงความรู้หรือทฤษฎีก็ต้องไม่ผิด หากไม่แน่ใจไม่อ้างเลยก็ยังได้ เนื่องจากไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่อง

อีกทั้งละครก็อาศัยเรื่องแฟนตาซีเหนือธรรมชาติ อย่างเช่น “มนต์กฤษณะกาลี” มาเป็นคำอธิบายการข้ามภพข้ามชาติข้ามเวลาตั้งแต่เรื่องบุพเพสันนิวาสแล้ว เมื่อใช้เรื่องเหนือธรรมชาติมาเป็นคำอธิบายก็ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มาอธิบายอีก

แต่หากจะใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแนวเรื่องจากแฟนตาซีไปสู่ไซไฟเมื่อใด เมื่อนั้นก็จำเป็นต้องอธิบายโดยอิงกับทฤษฎีที่ถูกต้องให้ได้

การที่ละครมีอานุภาพสูงมากในสังคมจึงมีพลังและศักยภาพในการแพร่กระจายความเข้าใจให้ผู้คนได้มหาศาล ยิ่งละครได้รับความนิยมมากก็ยิ่งมีคนรับชมมาก ละครจึงมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างสูง หากข้อมูลความรู้ผิดก็จะสร้างความเข้าใจผิดได้มากกว่าสิ่งใดๆ

ในทางตรงข้ามหากเป็นข้อมูลความรู้ที่ถูก ละครย่อมช่วยเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกได้ในวงกว้างอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะฉะนั้น สื่อบันเทิงจึงยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ซึ่งการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ชมทางบ้านก็ไม่ได้เป็นการลดทอนคุณค่าของละครแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ใช่อคติ จ้องจับผิด จุกจิกหยุมหยิม หรือไม่ปล่อยวาง แต่เป็นการช่วยเชียร์หรือเอาใจใส่ในรายละเอียดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการบันเทิงไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต บรรยากาศช่วยกันดู ช่วยกันติ ช่วยกันชมเช่นนี้นอกจากจะไม่ได้ทำให้ความบันเทิงน้อยลงแล้ว ยังเพิ่มความสนุกสนานในการรับชมได้อีกด้วย

 

สุดท้ายนี้ แม้จะมีเสียงท้วงติงเรื่องทฤษฎีของไอน์สไตน์ในพรหมลิขิตอยู่บ้างก็ตาม

แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วละครเรื่องนี้ก็ยังนับเป็นงานที่มีคุณภาพสูงมาก

ทั้งความสนุกสนานกลมกล่อมครบรส

มีมาตรฐานสูงเทียบเท่าระดับสากลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำ ฉาก การแสดง การเล่าเรื่อง บท ซีจี เสื้อผ้า หน้า ผม

รวมทั้งความลุ่มลึกในทางประวัติศาสตร์และศิลปะ สมกับที่ผู้ประพันธ์จบการศึกษามาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมทั้งสามารถเผยแพร่ไปสู่นานาชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นละครไทยที่สามารถกวาดเรตติ้งถล่มทลาย และสร้างได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยผลิตมา