“ศาลรัฐธรรมนูญ” ด่านสุดท้าย “พ.ร.บ.กู้เงิน” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

 

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ด่านสุดท้าย “พ.ร.บ.กู้เงิน”

 

ในที่สุด นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ล้อเริ่มหมุนแล้ว เมื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเดินหน้าเต็มสูบ ลั่นกลองรบเรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

เนื้อหาโดยสรุป รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่รวมมูลค่า 6 แสนล้านบาท ผ่านโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 5 แสนล้านบาท กับอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ

โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อย เดิมประกาศจะแจก 1 หมื่นให้แบบถ้วนหน้ากับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ตัดยอดผู้เข้าเกณฑ์เหลือ 50 ล้านคน จาก 56 ล้านคน ติดเพดาน มีเงินเดือนน้อยกว่า 7 หมื่นบาท หรือเงินฝากทุกบัญชีรวมกันน้อยกว่า 5 แสนบาท สามารถใช้จ่ายได้ในระดับอำเภอที่มีทะเบียนบ้านอยู่ ในช่วงเวลา 6 เดือน

มีข้อห้าม 5 ประการ 1.ไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ 2.ไม่สามารถซื้อของที่เป็นอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ เบียร์ พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชา 3.ไม่สามารถซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด เพลน พลอย ทองคำ อัญมณี 4.ไม่สามารถชำระหนี้ ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ 5.ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าเทอม ค่าเล่าเรียนได้

ย้ำอีกครั้ง “ดิจิทัลวอลเล็ต สามารถใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น” จะแจกผ่านแอพพ์เป๋าตัง โดยมีระบบบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง โดยร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

“นายกฯ นิด” ระบุว่า “ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเจริญเติบโตเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขการเติบโตที่น้อยมาก และโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอดแทบจะทุกปี”

สรุป นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน “หนึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน “สอง” วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

ซึ่งปรากฏว่า หลังแถลงข่าว เสียงสะท้อนพรึบ ก่อตัวรวดเร็วมากที่สุดคือ “แหล่งที่มาของเงิน” ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ทุกเม็ด “ที่นายกฯ ระบุว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออก พ.ร.บ.จะโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา”

“งานแนวร่วม” ชุมนุมสามัคคีดาหน้าออกมารุมสับกันสนั่นโซเซียล ทั้งหลักเกณฑ์คนได้รับสิทธิ เงื่อนไขการซื้อสินค้า แต่ที่ถูกนำมาเยาะเย้ยถากถางมากที่สุด คือออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” ไม่ตรงปก ตอนหาเสียงแกนนำพรรคเพื่อไทยพูดจาปราศรัยเป็นต่อยหอย คุยโม้โอ้อวดสารพัด “ไม่กู้ ไม่ก่อหนี้” สุดท้าย “ตับแก” อีกตามเคย

พลิกบทจากผู้ร้ายอยู่หรัดๆ เมื่อวันวาน เป็น “นางเอก” ไปโดยปริยาย คือ “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์มองข้ามช็อต สรุปว่า “สุดท้ายแล้วต้องกู้เงินมาแจก ย้อนกลับไปใช้เป๋าตัง ซ้ำร้ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยซักคนเดียว”

เพราะทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เมื่อปี 2556

“คุณไหม” ปูดประมาณว่า รู้อะไรมั้ย หรือเป็นการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต หากมีบรรดานักร้อง หรือผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็อ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญในการปัดตก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม “ศาลรัฐธรรมนูญ” ดูเหมือนจะเป็น “ด่านสุดท้าย” การออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” วงเงิน 500,000 ล้านบาท ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอีกหลายขยัก ขั้นตอนแรก คือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่ทางอนุกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องส่งความเห็นให้พิจารณา เมื่อแล้วเสร็จให้ส่งคำตอบกลับมา ซึ่งยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง อยู่ระหว่างปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย

กรณีที่ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” เคาะเห็นชอบ รัฐบาลจะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการออก พ.ร.บ.ของรัฐสภา เริ่มต้นต้องได้รับความเห็นชอบจาก “สภาผู้แทนราษฎร” ก่อน จำนวน 3 วาระ คือ รับหลักการ-แปรญัตติ-ลงมติให้ความเห็นชอบ

ฐานเสียงของรัฐบาล “เศรษฐา 1” มีอยู่ 314 เสียง ประกอบด้วยเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ ชาติพัฒนากล้าและพรรคขนาดเล็ก แต่ “นายกฯ นิด” ประกาศข้ามทวีปว่า ผ่านแน่ 320 เสียง

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากแล้ว จากนั้นส่งเรื่องให้ “วุฒิสภา” พิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 3 วาระเช่นเดียวกับสภาล่าง ตามกรอบ 60 วัน

กรณีที่ “ส.ว.ชุดนี้” ซึ่งเชื่อขนมกินล่วงหน้าได้ว่า “ส่วนใหญ่จะไม่เห็นชอบ” ก็ให้ส่งคืนกลับสภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที และเมื่อส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากเสียงส่วนใหญ่ยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง “ให้ถือว่าร่างนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”

ดังนั้น “พ.ร.บ.กู้เงิน” วงเงิน 500,000 ล้านบาท “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ไม่มีสิทธิ์จะตกม้าตายเป็นผีเน่าในขั้นตอนของ “รัฐสภา” เพราะ “วุฒิสภา” ไม่มีสิทธิ์เตะสกัด

สุดท้ายแล้ว ต้องพึ่งบริการ “ศาลรัฐธรรมนูญ” อยู่ดี