เศรษฐกิจการเมือง ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (2) เสี้ยวประวัติศาสตร์ (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

เศรษฐกิจการเมือง

ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (2)

 

เสี้ยวประวัติศาสตร์ (ต่อ)

โดยหลังจากที่พวกแมนจูยึดครองจีนได้แล้ว ก็ได้บีบให้เมียนมาส่งตัวจักรพรรดิจีนองค์นั้นมาสำเร็จโทษ และเมียนมาก็ยอมปฏิบัติตามนั้น

การส่งตัวจักรพรรดิครั้งนั้นเมียนมามิได้ส่งบรรดาข้าราชบริพารนับพันคนไปด้วย โดยชนชาติฮั่นหรือจีนเหล่านี้ยังคงอาศัยอยู่ในเมียนมานับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนเวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปี ชนชาติฮั่นเหล่านี้ก็สืบสายกระจายจนเป็นกลุ่มชนชาติที่มีอิทธิพลขึ้นมาในเมียนมา

(ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)

 

– เมียนมา หากจะกล่าวในเชิงประสบการณ์แล้ว เมียนมาก็ไม่ต่างกับจีนในแง่ที่ต้องขัดแย้งกับชนชาติต่างๆ ในรัฐของตน แต่ที่แตกต่างก็คือ เมียนมาไม่สามารถจัดการได้ดีเท่าจีน

สาเหตุประการหนึ่งก็เพราะว่า จำนวนประชากรแต่ละชนชาติในเมียนมามีอัตราส่วนที่แตกต่างกันไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมียนมาจึงเป็นรัฐที่เผชิญกับสงครามระหว่างชนชาติต่างๆ อยู่เสมอ โดยผลของสงครามในแต่ละระยะจะมีชนชาติที่ชนะเปลี่ยนหน้ากันไป

นอกจากปัญหาภายในแล้ว กับภายนอกเมียนมาก็ยังมีความขัดแย้งกับชนชาติสยามและชนชาติจีนอีกด้วย โดยปมความขัดแย้งหนึ่งที่มีกับสยามจนดูเหมือนจะดำรงมาตลอดก็คือ ปัญหาอันเนื่องมาจากการที่ชนชาติต่างๆ ในเมียนมามักหนีมาหลบภัยภายในประเทศของตนเข้ามายังสยามอยู่เสมอ

จนทุกวันนี้ปมความขัดแย้งนี้ก็ยังไม่หมดไป

ส่วนความขัดแย้งกับจีนมักจะเป็นปมปัญหาสามเส้าระหว่างจีน ไทยใหญ่ และเมียนมา โดยกรณีจีนนั้นมักมีชนชาติไตในจีนเข้ามาผสมโรงด้วย

 

– ลาว แม้ว่าลาวจะมีประวัติศาสตร์ที่ดูเรียบง่าย แต่จุดโดดเด่นก็คือ ลาวเป็นรัฐเก่าแก่ที่ประกอบไปด้วยชนชาติต่างๆ หลายชนชาติ อีกทั้งยังเป็นชนชาติเดียวกับที่มีในเมียนมาและในจีน สิ่งที่ดูจะเป็นประสบการณ์ไม่สู้ดีสำหรับลาวก็คือ การที่ต้องเผชิญหน้ากับสยามมาโดยตลอด

หลายช่วงหลายสมัยที่ลาวต้องขึ้นต่อสยาม และครั้นเมื่อหลุดจากมือของสยามก็ตกไปอยู่ในมือของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสอีกยาวนาน

จุดโดดเด่นประการหนึ่งของลาวในที่นี้ก็คือ ลาวเป็นรัฐที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านผ่ากลางรัฐของตนด้วยเส้นทางที่ยาวเหยียด และก็ด้วยเหตุนั้น ประวัติศาสตร์ลาวในด้านหนึ่งจึงผูกพันกับแม่น้ำโขงอย่างแนบแน่นไปด้วย

ตัวอย่างสะท้อนความผูกพันเรื่องหนึ่งที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งก็คือ การที่ชนชาติลาวมีทัศนคติต่อแม่น้ำโขงที่ดูออกจะเป็น “สากล” อยู่ไม่น้อย

เช่น ลาวจะไม่รู้ (หรือไม่สนใจ) ว่าปลาที่ตนจับกินจากแม่น้ำโขงนั้นคือปลาอะไร แต่จะตอบเป็นคำตอบเดียวกันหมดว่าเป็น “ปลาน้ำของ” (คือปลาจากแม่น้ำโขง) เป็นต้น

ดังนั้น ที่ว่ามีความเป็น “สากล” จึงอยู่ตรงที่ลาวไม่ได้คิดถึงทรัพยากรในแม่น้ำโขงในลักษณะของการ “แยกส่วน” และเมื่อทุกคนต่างเป็นเจ้าของปลาเท่ากัน ปลาในสายตาของลาวจึงเป็น “องค์รวม” ที่ไม่ควรถูกแยกเป็นชื่อเฉพาะไปด้วย

 

– กัมพูชา เป็นรัฐที่เคยทรงอิทธิพลสูงยิ่งเมื่อกว่าพันปีก่อน จนครอบครองดินแดนหลายส่วนในสุวรรณภูมิเอาไว้ได้ แต่ครั้นเวลาผ่านไป รัฐที่เคยขึ้นต่อก็กลับกล้าแข็งขึ้นมาท้าทายอำนาจจนสามารถรบชนะกัมพูชาได้

รัฐเหล่านี้ได้นำเอาความคิดทางการเมืองตลอดจนภาษาของกัมพูชามาใช้สืบแทน และกัมพูชาก็ตกเป็นเมืองขึ้นบ้างในบางครั้ง รัฐที่แข็งข้อขึ้นมารัฐหนึ่งก็คือ สยาม

ความสำคัญของกัมพูชาในด้านหนึ่งจึงอยู่ตรงความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรม ที่ตนรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะอารยธรรมทางการเมือง

และเมื่ออารยธรรมนี้ต้องสะท้อนตัวตนออกมาเป็นรูปธรรมในฐานะอุดมการณ์เทวราช สิ่งหนึ่งที่เกิดความสำคัญขึ้นมาจึงคือ ตนเลซาบหรือทะเลสาบของกัมพูชาที่มีบทบาทในการหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ที่ว่า และหล่อเลี้ยงชนชาติเขมรในทางเศรษฐกิจ

โดยเป็นที่รู้กันว่า ทะเลสาบแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ก็เพราะได้รับการเชื่อมต่อจากแม่น้ำโขงอีกโสดหนึ่ง จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ชนชาติเขมรดำรงชีวิตอยู่มาได้นานนับพันปีก็เพราะแม่น้ำโขงนี้เอง

 

– เวียดนาม ประวัติศาสตร์ของเวียดนามเป็นประวัติศาสตร์ที่มีประสบการณ์ไม่สู้ดีกับจีน เพราะเวลาส่วนใหญ่ของเวียดนามคือ การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน ดังนั้น เวียดนามจึงรับเอาวัฒนธรรมมาจากจีนไม่น้อย

แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็มีอิทธิพลเหนือชนชาติต่างๆ ในรัฐของตนด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านอย่างสยามและกัมพูชาอีกด้วยในบางครั้ง โดยเฉพาะกัมพูชานั้นความขัดแย้งดูเหมือนจะเรื้อรังอยู่พอสมควร

เพราะมันได้ส่งผลกระทบแม้เมื่อดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว

เหตุฉะนั้น ประวัติศาสตร์ของเวียดนามจึงสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านแบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม ที่ทำให้เวียดนามมีสำนึกที่ค่อนข้างไวเมื่อรู้สึกว่าอิสรภาพของตนถูกกระทบจนพร้อมที่จะตอบโต้ทันที

ตลอดประวัติศาสตร์เช่นนั้นของเวียดนาม ทำให้เวียดนามดำรงตนอยู่ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างพิเศษ โดยเฉพาะซีกตะวันออกที่ตั้งติดกับทะเลเป็นแนวยาวเหยียด กับทางภาคใต้ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านออกสู่ทะเล

 

– ไทย แต่เดิมนั้นชาวต่างชาติรู้จักไทยว่าสยาม แม้จะมีหลักฐานว่ามีชนชาติต่างๆ อาศัยอยู่ในไทยมานานนับพันปีแล้วก็ตาม แต่ไทยก็มิใช่รัฐมหาอำนาจในลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่แรกเริ่ม อีกทั้งยังอยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะกัมพูชาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

กระนั้นก็ตาม ไทยก็สามารถตั้งตนแข็งแรงจนกลายเป็นรัฐที่ทรงอิทธิพลรัฐหนึ่งขึ้นมาจนได้เมื่อประมาณ 700 ปีก่อน อิทธิพลที่ว่านี้สะท้อนชัดในกรณีที่มีต่อลาวและกัมพูชา ส่วนในกรณีเมียนมาหากไทยไม่มีฐานะเสมอกันก็ตกอยู่ในฐานะรอง

แต่ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ ตลอดเวลาดังกล่าวไทยมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความรุ่งเรืองนี้มีที่มาจากการค้ากับต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะกับจีน ดังนั้น ศูนย์กลางอำนาจรัฐของไทยจึงค่อนข้างห่างไกลกับชนชาติต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาของตน

ชนชาติเหล่านี้ก็คือ ชนชาติที่ดำรงชีวิตอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย โดยแม่น้ำสายนี้ได้ไหลผ่านไทยในฐานะเส้นแบ่งเขตแดนกับลาวอยู่สองช่วง ส่วนทางตะวันตกและลงมาทางใต้มีชนชาติที่อยู่ตามชายแดนไทย-เมียนมา เรื่อยมาจนถึงภาคใต้ที่เป็นชนชาติมาเลย์