‘นครพระกฤษณ์’ ในจารึกวัดศรีชุม คือ เมืองละโว้ ทวารวดี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในศิลาจารึกวัดศรีชุม ซึ่งพบที่วัดศรีชุม (อันเป็นที่มาของชื่อจารึกหลักนี้) จ.สุโขทัย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า

“…ลางแห่งที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย ตรธานเป็นป่าเป็นดง สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า ที่ตนเข้าไปเลิกให้กระทำพระมหาธาตุหลวงคืน พระมหาธาตุด้วยสูงเก้าสิบห้าวาไม่ เหลือพระธาตุหลวงไซร้ สองอ้อมสามอ้อม พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้แล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณ พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล สถิตเคริ่งกลางนครพระกฤษณ์…”

ข้อความข้างต้นแปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ได้ใจความว่า ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งในจารึกหลักนี้เรียกว่า “พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า” (หรือที่ในเอกสารจำพวกตำนานต่างๆ เช่น ตำนานพระปฐมเจดีย์ หรือพระราชพงศาวดารเหนือเรียก “มหาเถรไลยลาย” หรือ “มหาเถรไหล่ลาย”) ได้เดินทางไปยังเมืองที่มีชื่อว่า “นครพระกฤษณ์” อันเป็นเมืองที่มี “พระมหาธาตุหลวง” ซึ่งเป็นที่ “ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย” ประดิษฐานอยู่

ที่นครพระกฤษณ์แห่งนี้ มหาเถรศรีศรัทธาได้กระทำการบูรณะ “พระมหาธาตุหลวง” ซึ่งท่านอ้างว่า ขณะนั้น “ตรธานเป็นป่าเป็นดง” ด้วยการ “ก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา” และ “สทายปูน” ทำให้พระมหาธาตุหลวงซึ่งแต่เดิม “สูงเก้าสิบห้าวา” กลายเป็น “พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา” เป็นอัน “แล้วบริบวรณ” คือบูรณะสำเร็จนั่นเอง

แน่นอนว่า มหาเถรศรีศรัทธาคนนี้ก็คือคนที่สั่งให้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ขึ้นมานั่นแหละนะครับ ข้อความในจารึกหลักเดียวกันนี้นะครับ ไม่อย่างนั้นจารึกหลักนี้จะเล่าถึงคุณความดีของมหาเถรผู้นี้ไปทำไมกัน?

 

มหาเถรศรีศรัทธายังอ้างไว้ในจารึกวัดศรีชุมหลักเดียวกันนี้อีกด้วยว่า ตัวท่านเองนั้นเป็นหลานของ “พ่อขุนผาเมือง” แห่งเมืองราด (คือเมืองโคราชเก่า ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ซึ่งในจารึกหลักเดิมนี้ยังอ้างต่อไปด้วยว่า พ่อขุนผาเมืองเป็นราชบุตรเขยของ “ผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ” (หมายถึงกษัตริย์เมืองนครธม ใน จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา) และได้รับพระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรีมาพร้อมกับพระชายา คือพระนางสุขรเทวี ผู้เป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองนครธมด้วย

เป็นจารึกวัดศรีชุมอีกเช่นกันที่ได้อ้างต่อไปว่า พ่อขุนผาเมืองนั้นได้ปราบขอมสบาดโขลญลำพง แล้วเข้าครอบครองเมืองสุโขทัย ก่อนที่จะยกเมืองสุโขทัยให้พระสหายคือ “พ่อขุนบางกลางหาว” ปกครองพร้อมมอบชื่อที่กษัตริย์นครธมมอบให้แก่พระองค์คือ “ศรีอินทร์บดินทราทิตย์” ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว (ว่ากันว่าคือ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง ตามที่อ้างในจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ในคราวเดียวกันนั้นเอง

จากข้อมูลทั้งหมดที่อ้างเอาไว้ในจารึกวัดศรีชุมนี้ เราจึงพอจะทำความรู้จักกับ “มหาเถรศรีศรัทธา” ได้ว่า มหาเถรผู้นี้ เดิมเป็นเจ้าชายในราชวงศ์สำคัญในยุคนั้น ที่มีความเกี่ยวดองกับทั้งเชื้อสายของวงศ์เขมร (เมืองราด) และวงศ์ของคนที่พูดภาษาตระกูลไทย คือวงศ์สุโขทัย โดยในจารึกวัดศรีชุมยังระบุด้วยว่า มหาเถรองค์นี้เกิดที่เมืองสระหลวงสองแคว คือพิษณุโลก อันเป็นเมืองสำคัญในวงศ์สุโขทัย

และถ้าจะเป็นอย่างนั้นแล้ว “นครพระกฤษณ์” คือเมืองไหน? แล้วทำไมมหาเถรศรีศรัทธาท่านจึงต้องไปบูรณธ “พระมหาธาตุหลวง” ที่เมืองแห่งนั้นด้วย?

 

เอาเข้าจริงแล้ว ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชิ้นต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จารึกวัดศรีชุมหลักดี หลักเดิมนี้ สามารถขมวดรวมให้เราทราบด้วยว่า มหาเถรศรีศรัทธาต้องออกบวชที่ศรีลังกา เพื่อลบล้างความผิดบางอย่าง ก่อนที่จะกลายเป็นพระสังฆราชแห่งลังกา แล้วกลับมาสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาโบราณหลายแห่ง โดย “พระมหาธาตุหลวง” แห่ง “นครพระกฤษณ์” ก็เป็นหนึ่งในจำนวนวัดวาโบราณ ซึ่งก็คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในสำคัญในยุคสมัยของท่านนั่นเอง

คำว่า “นครพระกฤษณ์” แปลตรงตัวว่า “เมืองของพระกฤษณะ” อวตารปางสำคัญของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระนารายณ์

ปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์นั้นก็ล้วนแล้วแต่ระบุต้องตรงกันว่า เมืองของ “พระกฤษณะ” นั้น มีชื่อว่า “ทวารกา” หรือที่บ่อยครั้งก็เรียกกันว่า “ทวารวดี”

ชื่อ “ทวารวดี” นี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ชัดเจนว่า คนพื้นเมืองในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ของประเทศไทยปัจจุบันนั้น ได้นำเอาชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ (เพราะเป็นเมืองที่อวตารสำคัญของเทพเจ้าปกครองอยู่) นี้มาใช้เป็นชื่อบ้านเมืองของตนเอง เมื่อหลัง พ.ศ.1000 เป็นต้นมา

โดยแต่เดิมมีนักอ่านจารึกคนสำคัญอย่าง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ได้เสนอไว้เมื่อ พ.ศ.2506 ว่า ชื่อทวารวดีที่ปรากฏเป็นหลักฐานพบในไทยจำนวนหนึ่งนี้ ควรจะหมายถึง “เมืองนครชัยศรี” คือ “เมืองนครปฐมโบราณ”

 

ที่เซเดส์เสนออย่างนี้ก็เป็นเพราะเมื่อ พ.ศ.2486 ได้มีการขุดพบเหรียญเงินสองเหรียญ ในโถขนาดเล็ก ที่บริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร โดยเหรัยญเงินทั้งสองเหรียญนี้ มีข้อความระบุในเหรียญว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” ซึ่งแปลความได้ว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี”

ดังนั้น ท่านจึงชี้ชัดลงไปเลยว่า “ทวารวดี” ควรจะอยู่ที่ “นครปฐม” อันเป็นสถานที่พบเหรียญเงินทั้งสองเหรียญที่ว่า

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการ ที่มีอำนาจในเรื่องของงานทางด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีอย่างกรมศิลปากร และหน่วยการศึกษาอย่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งก็คือสองหน่วยงานที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการศึกษา และการสร้างองค์ความรู้ทางด้านโบราณคดี (ซึ่งย่อมรวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ วัฒนธรรม หรือบ้านเมืองที่ในหลักฐานเก่าเรียกว่า ทวารวดี) กระแสหลักของประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น จึงมักจะอธิบายกันว่า “นครพระกฤษณ์” ในจารึกวัดศรีชุมนั้นก็คือ “นครปฐม”นั่นเอง

และยังมักจะอธิบายกันต่อไปอีกด้วยว่า “พระมหาธาตุหลวง” ที่มหาเถรศรีศรัทธาได้ไปบูรณะนั้นก็คือ”พระปฐมเจดีย์” นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ซึ่งมีการพบเหรียญที่มีจารึกระบุข้อความ “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” อีกหลายแห่ง ในหลากหลายพื้นที่นอกเขตจังหวัดนครปฐม

จึงทำให้ข้อเสนอของเซเดส์สั่นคลอนไปมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเหรียญเงินที่ท่านอ้างถึงทั้งสองเหรียญนั้น เป็นของที่ได้จากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ

เราจึงไม่อาจแน่ใจถึงความถูกต้องของแหล่งข้อมูลสถานที่ค้นพบได้มากนัก

ที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันนี้มีข้อเสนอจากนักวิชาการอีกหลายท่านว่า “ทวารวดี” ควรตั้งจะอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ที่นครปฐม เช่น อยู่ที่เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ หรือเมืองลพบุรี ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้น

ดังนั้น “นครพระกฤษณ์” ก็อาจจะไม่ใช่ “เมืองนครปฐม” ด้วยเช่นกันนั่นแหละครับ

 

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี ของกรมศิลปากร อย่าง อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เป็นนักวิชาการคนสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้เสนอว่า “ทวารวดี” ควรอยู่ที่ “ลพบุรี”

ดังที่ท่านได้เสนอเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” ตีพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561)

ในข้อเขียนชิ้นดังกล่าว อ.พิเศษ ได้เสนอว่า “นครพระกฤษณ์” ในจารึกวัดศรีชุม ก็คือ “ทวารวดี” นั่นแหละ แต่ในจารึกหลักนี้ยังมีข้อมูลบอกไว้อีกอย่างว่า นครพระกฤษณ์นี้เป็นเมืองที่ “ชุมนุมพระมหาธาตุ” ซึ่งเป็นเป็นชื่อที่ใช้ตามคติเรื่องพระธาตุต่างๆ มาชุมนุมกันที่ลังกาทวีปในวันสิ้นยุคพระสมณโคดม หลังผ่านไปครบ 5,000 ปี ตามปรากฏในหนังสือโบราณอย่างตำนานมูลศาสนา โดยความเชื่อเรื่องนี้ยังเป็นที่รับรู้กันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

“…ในพุทธศาสนาล่วงได้ 2320 จุลศักราช 1139 พระนครบางกอก (หมายถึง กรุงธนบุรี) จะเสียแก่ข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรีอันเป็นที่ชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย…”

ข้อความข้างต้น เป็นเรื่องราวตอนที่พระสงฆ์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งคือ อธิการวัดใหม่ ได้อ้างพุทธทำนายเพื่อให้สมเด็จพระเจ้าตากสินย้ายเมืองจากธนบุรี ไปอยู่ที่เมืองลพบุรี ซึ่งพระเจ้าตากสินไม่ได้ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำที่ว่านี้

แต่ก็เป็นร่องรอยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เมืองละโว้เป็นเมืองที่ชุมนุมพระมหาธาตุมาแต่เดิม

ดังนั้น อ.พิเศษ จึงเสนอว่า ลพบุรีก็คือเมืองที่ชุมนุมพระธาตุ หรือนครพระกฤษณ์ ในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งก็คือทวารวดีนั่นเอง

 

ข้อเสนอของ อ.พิเศษ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้ในช่วงหลังๆ มานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของชุมชนที่อยู่อาศัยในเมืองลพบุรีมาอย่างต่อเนื่อง และหนาแน่นยิ่งกว่าที่นครปฐมมาก จนทำให้ในปัจจุบันนี้ มีนักวิชาการหลายท่านเลยทีเดียว ที่มีความเห็นโน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่า ทวารวดี น่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้

น่าสนใจว่า ที่เมืองละโว้ มีวัดสำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่งเจดีย์หลายองค์ และเกือบทั้งหมดจะมีเจดีย์ที่มีรูปแบบต่างๆ หลากหลายแบบ เช่น พระปรางค์ เจดีย์แปดเหลี่ยม เจดีย์กลีบมะเฟือง ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงคำว่า “ชุมนุมพระมหาธาตุ” ซึ่งก็คือ การที่พระธาตุจากที่ต่างๆ มาชุมนุมกัน โดยในจารึกวัดศรีชุมนั้น เรียก “พระมหาธาตุหลวง” ว่า “ที่ชุมนุมพระมหาธาตุ”

ไม่เคยพบการสร้างวัดที่มีเจดีย์หลากหลายรูปแบบอย่างนี้มาก่อนหน้าช่วงที่จะเกิดคติการสร้างวัดมหาธาตุตามเมืองโบราณต่างๆ ขึ้น และคติการสร้างมหาธาตุนี้ ควรเริ่มต้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี แห่งนี้เป็นที่แรก โดยคงจะสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1800 หรือประมาณ 100 ปีก่อนหน้ายุคสมัยของมหาเถรศรีศรัทธานั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ ในจารึกวัดศรีชุมระบุว่า “พระมหาธาตุหลวง” ที่มหาเถรศรีศรัทธาไปบูรณะนั้น พวก “ขอม” (ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลเขมร) เรียกว่า “พระธม” (คำว่า ธม ในภาษาเขมรแปลว่า “ใหญ่” หรือ “หลวง”) ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า พวกขอมรู้จักพระมหาธาตุหลวงแห่งนี้เป็นอย่างดี และอะไรที่พวกขอมเรียกว่า พระธม นี้ ควรจะอยู่ในขอบเขตปริมณฑลอำนาจของวัฒนธรรมขอมในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงเมืองละโว้อย่างจับจิต

ดังนั้น “นครพระกฤษณ์” หรือ “ทวารวดี” ในจารึกวัดศรีชุมจึงควรหมายถึง “เมืองละโว้” ส่วน “พระมหาธาตุหลวง” ที่ “ขอมเรียกพระธม” จึงควรหมายถึง “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี” นั่นแหละครับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ