จากนโยบายไม้ตาย สู่นโยบายหนามยอกอก การปรับเงื่อนไขนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นผลเสียของรัฐบาลเศรษฐา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในที่สุดทิศทางที่สำคัญของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็มีความชัดเจนมากขึ้น

แต่ความชัดเจนนี้กลับไม่เป็นผลดีเท่าไร ทั้งในมิติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งความคาดหวังต่อสังคม

เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว ความชัดเจนที่ปรากฏไม่ตรงกับทิศทางการหาเสียง ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ

1. ไม่คงสถานะความถ้วนหน้า มีการวางเงื่อนไขเพื่อกันประชากรกลุ่มหนึ่งออกไป

2. แหล่งที่มาของงบประมาณที่สำคัญมาจากการกู้เงิน

3. เงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์มีการวางเงื่อนไขยิบย่อยที่ทำให้การบริโภคต่างๆ อาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน และมีข้อสังเกตว่าเงินส่วนนี้อาจหมุนสู่กระเป๋าเจ้าสัวในระยะเวลาไม่นาน

ในบทความนี้ จะย้อนถึงตัวนโยบายเงินโอนที่เกิดขึ้นในอดีต และสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาสมควรเรียนรู้

 

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ริเริ่มนโยบาย “เช็คช่วยชาติ” เพื่อเป็นนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนหน้านั้น เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ให้สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันตนของประกันสังคม

โดยขณะนั้น รัฐบาลก็ได้รับฉายาว่า “รัฐบาลกู้สิบทิศ” แม้จะเป็นโครงการหลักหมื่นล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นโครงการระยะสั้นที่มีมูลค่าสูงในช่วงเวลานั้น

แต่ก็ปรากฏว่า เป็นนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างความนิยมทางการเมือง

สาเหตุหนึ่งคือจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 30 ของวัยทำงาน

และการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งเดียวในเงื่อนไขที่คนปราศจากหลังพิงเชิงนโยบายในมิติอื่นๆ ก็ไม่ทำให้เกิดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจตามที่คาดหวังได้

 

กรณีที่สอง คือในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากปี 2563-2565 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งถูกริเริ่มมาก่อนหน้า ตามด้วยเงินเยียวยาในวิกฤตโรคระบาด หรือโครงการเราชนะ ที่ต้องมีการพิสูจน์ความลำบาก เงื่อนไขการทำงาน และมีโครงการคนละครึ่ง ไล่มาจนถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ได้รับเงินอุดหนุนส่วนหนึ่งกับการเดินทางท่องเที่ยวบริโภคในประเทศ

แน่นอนว่าครั้งนี้ใช้งบประมาณจากเงินกู้อีกครั้ง และเป็นปริมาณหลายแสนล้านบาท เฉียดเต็มเพดานเงินกู้

ซึ่งน่าสนใจว่า นโยบายนี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการรักษางานของผู้คนมีปัญหาจนเกิดภาวะ เศรษฐกิจฝืดเคืองพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อ (Stagflation)

ในช่วงปี 2565 และความนิยมของรัฐบาลก็นับว่าย่ำแย่ จนทำให้พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนความนิยมลดลงมากกว่า 50% เทียบกับปี 2562

งบประมาณมหาศาลไม่สามารถสร้างหลักประกัน ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและความนิยมทางการเมืองได้

 

เมื่อพิจารณาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งรัฐบาลบนเงื่อนไขวิกฤตความชอบธรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของพรรค ภายใต้คำอธิบายว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจปากท้องจนต้องลดทอนประเด็นจุดยืนทางการเมือง

แต่ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา นโยบายเงินโอนดิจิทัลวอลเล็ต ที่คาดหมายให้เป็นตัวนโยบายเรือธงกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่

เพราะถอนตัวจากนโยบายก็ทำไม่ได้ และการเดินหน้าดำเนินนโยบายก็กลับเต็มไปด้วยปัญหา

ในทางการเมือง การเลิกระบบถ้วนหน้าของดิจิทัลวอลเล็ต เป็นทิศทางที่มีความผิดพลาดมาก

เพราะนอกจากไม่ตรงกับแนวทางการหาเสียงแล้ว การที่นโยบายสวัสดิการใดๆ ที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานระบบถ้วนหน้า ย่อมมีผลต่อหลักการ “ตัวทวีคูณ” ทางเศรษฐกิจ ที่เคยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น

สาเหตุเพราะความไม่แน่นอนของตัว “สิทธิประโยชน์” และ “เงื่อนไข” อันเห็นได้จากเงื่อนไขในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ที่แม้ใช้งบประมาณมหาศาล แต่พอผูกเงื่อนไขต่างๆ ทำให้แผนหรือการรับรู้ในสิทธิประโยชน์ไม่ได้ถูกส่งตรงสู่คนจำนวนหลายกลุ่ม

ไม่นับรวมการซื้อขายสิทธิประโยชน์ที่ต้องมาตั้งกระบวนการลงโทษพิสูจน์ถูกพิสูจน์ผิดซึ่งสิ้นเปลืองเข้าไปอีก

 

ปัญหาเรื่องนี้ซับซ้อนขึ้น เพราะโครงการนี้ต้องเริ่มด้วยการกู้ มากกว่าการดึงงบประมาณส่วนกลางของฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร

รัฐบาลผสมที่พยายามประสานหลากหลายกลุ่ม ทางเลือกที่ดูจะมีปัญหาน้อยสุดคือการดึงเงินในอนาคตที่จะไม่กระทบกับผลประโยชน์ชนชั้นนำ

แต่กลับทำให้เงื่อนไขตัวทวีคูณเศรษฐกิจมีปัญหาเพราะยิ่งทำให้คนทั่วไปไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินการได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

การที่ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นกับความแน่นอนของโครงการ ความสม่ำเสมอ หรือความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตพื้นฐาน

ซึ่งเป็นไปได้ว่าการดำเนินโครงการในลักษณะที่วางเงื่อนไขผิดจากแนวนโยบายที่เคยศึกษาไว้เบื้องต้นจะเป็นปัญหา

เพราะนโยบายนี้ขาดตกประเด็นใหญ่คือเสรีภาพในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ผูกเงื่อนไขซับซ้อน และความถ้วนหน้า

ซึ่งทำให้คนส่วนหนึ่งไม่รู้สึกมีส่วนร่วมกับนโยบาย การกันคนที่มีรายได้และเงินออมที่เกินเกณฑ์ออก สามารถประหยัดงบประมาณได้เล็กน้อย

แม้จะทดแทนด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างดูสับสนเข้าไปอีก

เพราะความเสียหายต่อการโจมตีนโยบาย กับการประหยัดงบประมาณลงไปนั้นถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สูญเสีย ความรู้สึกการเป็นอันหนึ่งเดียวกัน (Solidarity)

ดูแล้วไม่ต่างจากนโยบาย “เราชนะ” หรือ “คนละครึ่ง” สมัยรัฐบาลก่อนที่ล้มลุกคลุกคลานมาจนหมดสมัย

 

สุดท้ายนโยบายไพ่ตายกลายเป็นนโยบายหนามยอกออก กลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึงจะเสียทั้งในทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ก็อาจไม่บรรลุเป้า

ถ้าเป็นแบบนี้ควรถอยโครงการนี้เลื่อนไปปีงบประมาณหน้าก็ไม่สาย

และใช้งบประมาณส่วนที่ทำได้ตอนนี้ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุ ปรับเงินเด็กสู่ระบบถ้วนหน้า พัฒนาการศึกษา เพิ่มโอกาสคนธรรมดา แก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน

เมื่อคนมีหลังพิงที่ดี สวัสดิการมั่นคง โครงการหาเสียงขนานใหญ่เริ่มทำตอน ตุลาคม 2567 ทำตามหลักการที่หาเสียงไว้ ก็ยังไม่สายไป