เศรษฐกิจ / จับสัญญาณแบงก์ชาติ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปี ’61 เอกชนจ่อออกบอนด์พรึบ ล็อกต้นทุนการเงิน

เศรษฐกิจ

จับสัญญาณแบงก์ชาติ
ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปี ’61
เอกชนจ่อออกบอนด์พรึบ
ล็อกต้นทุนการเงิน

เศรษฐกิจโลกปี 2560 และปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามการค้าโลก
ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลก ในปีนี้เป็น 3.6% จากเดิมที่ 3.5% และปี 2561 จาก 3.6% ปรับเพิ่มเป็น 3.7%
ทั้งนี้ ยังได้ปรับจีดีพีสหรัฐเพิ่มเป็น 2.2% จากเดิม 2.1% และปี 2561 ที่ 2.3 จากเดิม 2.1%
ขณะที่ไทย ไอเอ็มเอฟได้ปรับจีดีพีปีนี้จากเดิม 3.2% เป็น 3.7% และปรับเพิ่มจีดีพีจากเดิม 3.3% เป็น 3.5% ในปี 2561
การที่ตัวเลขจีดีพีเติบโตดีขึ้น ทำให้เริ่มเห็นธนาคารกลางเริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหลังจากที่ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน
นำร่องโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558
ล่าสุดช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25-1.50% เป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของปี และขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ในรอบการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นรอบนี้
สะท้อนถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นพร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2561

ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นตามทันที เพราะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศ
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุมทั้ง 21 ครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558
ขณะที่จีดีพีไทยปี 2560 นี้ เติบโตต่อเนื่อง ไตรมาสแรกเติบโต 3.3% ไตรมาสที่สองเติบโต 3.8% และไตรมาสที่สามที่ 4.3% รวมช่วง 9 เดือนจีดีพีเติบโต 3.8%
โดย กนง. คาดการณ์ว่า ปีนี้และปี 2561 จีดีพีจะเติบโต 3.9%
“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ กนง. มองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแล้ว แต่จะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้ส่งผลให้มีแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด
ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้เงินทุนไหลออกไปบ้างแต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกังวล และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากไทยพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยกว่าประเทศเกิดใหม่อื่นๆ

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นสอดคล้องกันว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุลของเฟด การลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น จะทำให้เกิดความตึงตัวในตลาดการเงินมากขึ้น อาจจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลงทำให้เงินทุนไหลออก แต่จะไม่ส่งผลต่อภาวะตลาดการเงินของไทยมากนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังคงดีต่อเนื่อง สถานะการเงินระหว่างประเทศของไทยยังคงเข้มแข็ง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน
“ศิริพร สุวรรณการ” ผู้บริหารกลุ่มงานที่ปรึกษาทางการเงินไพรเวทแบงก์ สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเร่งหรือชะลอ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2561
อย่างไรก็ดี หากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้น มีโอกาสที่เงินดอลลาร์สหรัฐที่ไปลงทุนในประเทศอื่นๆ จะวิ่งกลับไปสหรัฐ ทำให้ประเทศอื่นๆ จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันกับดอกเบี้ยสหรัฐให้ได้เพื่อดึงนักลงทุนให้ยังคงอยู่ เพราะนักลงทุนจะมองหาแหล่งที่มีผลตอบแทนสูง
เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่ได้ขึ้น แต่ดอกเบี้ยพันธบัตร หุ้นกู้อาจจะปรับขึ้น
ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ เพราะทุกวันนี้สินเชื่อยังเติบโต

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับขึ้น แต่ขณะนี้เริ่มเห็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเริ่มปรับขึ้นแล้ว เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยปรับขึ้นตามมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ที่ระดับ 2.40% ซึ่งปลายปี 2561 มีแนวโน้มอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปที่ระดับ 2.80%
จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มเห็นเอกชนวางแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำก่อน โดย กิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แผนการระดมเงินทุนของธนาคาร เงินบาทจะระดมผ่านเงินฝาก
ขณะที่การออกหุ้นกู้จะออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจะเริ่มเห็นอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้สูงขึ้นนั้น ธนาคารอาจจะออกหุ้นกู้เพิ่มถ้านักลงทุนในตลาดมีความต้องการซื้อ
หรือชะลอการออกหุ้นกู้ไว้ก่อน เพราะการที่จะออกหุ้นกู้ล่วงหน้านานไปก็ไม่ดีเพราะต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ย
ซึ่งปี 2560 ธนาคารได้ออกหุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐไปรวมกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการขยายธุรกิจและสินเชื่อในปี 2561

ขณะที่สมาคมตราสารหนี้ไทย รายงานข้อมูลว่า ได้ปรับเป้าหมายการออกหุ้นกู้ปี 2560 จาก 600,000 ล้านบาท เป็น 700,000 ล้านบาท โดยช่วงเดือนตุลาคม มีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 20,000 ล้านบาท เป็นต้น
เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีบริษัทออกหุ้นกู้รวมกว่า 100,000 ล้านบาท
สำหรับเดือนธันวาคม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เห็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน ซึ่ง สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน ระบุว่า สิ้นเดือนธันวาคมนี้ บีทีเอสจะออกหุ้นกู้ อายุ 3-12 ปี วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2-4%
ซึ่งการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเนื่องจากเห็นชัดเจนว่าทิศทางดอกเบี้ยในตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนในปี 2561
ขณะที่ปี 2561 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ที่มีแผนจะออกหุ้นกู้ 12,000 ล้านบาท โดย ชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เคทีซี บอกว่า ออกเพื่อชดเชยหุ้นกู้ที่หมดอายุ 8,000 ล้านบาท
ที่เหลือเป็นการออกเพิ่มเติมเพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำในภาวะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในขาขึ้นและดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตาม
เช่นเดียวกับบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นเทล ที่ รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร เซ็นเทล กล่าวว่า บริษัทมีการล็อกต้นทุนทางการเงินและมีแผนที่จะออกหุ้นกู้จำนวน 1,000 ล้านบาทในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
รวมทั้งใช้ขยายการลงทุนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 3% รวมทั้งเซ็นเทลได้จัดทำแผนงานรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยผันผวนเอาไว้
โดยในช่วงปี 2561 มีหุ้นกู้ที่ทยอยครบกำหนดราว 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทต่างๆ จะมีต้องการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นเดิม
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรก 2561 จะมีความชัดเจนการเสนอขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) นำร่องด้วยโครงการทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มูลค่ารวมกว่า 4.4 หมื่นล้านบาทด้วย ซึ่งจะต้องติดตามว่าสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยจะเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งธนาคารพาณิชย์นำสภาพคล่องไปฝากไว้กับ ธปท. โดยสภาพคล่องสิ้นวันผ่านพันธบัตรอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงมาก
แม้ว่า กนง. จะยังไม่ต้องเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าดอกเบี้ยไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กนง. คงต้องเริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อให้นักลงทุนเตรียมตัวรับดอกเบี้ยที่อาจจะปรับขึ้น
รวมถึงบริษัทเอกชนที่ต้องจับสัญญาณให้ดี
เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ขายของได้จะต้องขยายการลงทุนเพิ่ม หากไม่เตรียมการล่วงหน้าจะต้องแบกรับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นไปอีก เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในขาขึ้นแล้ว!!!