ก้าวไกลสวมบท…สีดา ลุยไฟยุบพรรค

มุกดา สุวรรณชาติ

ข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล 2 คดี คือ คดีถือหุ้นไอทีวี ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคดีพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 น่าจะรู้ผลในอีก 1 เดือนข้างหน้า

การถือหุ้นไอทีวี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าไม่น่ามีปัญหา

แต่คดีแก้ไข ม.112 มีผลทางการเมืองแน่นอน

เรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่ปี 2564

 

ก้าวไกล คิดแล้วทำจริง ผ่านรัฐสภา

10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกลได้เสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 5 ฉบับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ทางกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ทําหนังสือแย้งว่า

“การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้น เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

25 มีนาคม 2564 พรรคก้าวไกลยืนยันยื่นร่าง พ.ร.บ ฉบับเดิมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และได้ทําหนังสือตอบกลับความเห็นดังกล่าวเพื่อชี้แจงว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธํารงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด”

และ “ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

การเสนอแก้ไข ม.112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในมาตรา 6 แต่อย่างใด

แต่ทุกอย่างจบลงเพราะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

 

พรรคก้าวไกลเสนอแก้ ม.112 อย่างไร

ข้อเสนอการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลดังกล่าวประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยลดโทษหลายกรณี เช่น

ในกรณีหมิ่นพระมหากษัตริย์ ลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีหมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลดโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ

ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคง และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว

บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

 

ก้าวไกลเสนอแก้ ม.112
เป็นนโยบายการเมือง
ในการเลือกตั้ง 2566
และถูกร้องหลังเลือกตั้ง

ตุลาคม 2565 พรรคก้าวไกลเปิดตัวนโยบาย “การเมืองไทยก้าวหน้า” ซึ่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมอยู่ด้วย

22 พฤษภาคม 2566 หลังชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนน 14 ล้าน ก้าวไกลถูกยื่นคำร้องต่อ กกต.โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (อดีตทนายความพุทธะอิสระ) กรณีที่พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่

และในวันนั้นเอง พรรคก้าวไกลก็เป็นแกนนำลงนามในเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมืองโดยวางนโยบายการบริหารประเทศ ซึ่งไม่ปรากฏเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ในนโยบายของรัฐบาล

แต่ก้าวไกลบอกว่า เป็นวาระเฉพาะของพรรค และไม่กังวลว่าจะกระทบต่อเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ คนที่ 30

 

เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ
และมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

16 มิถุนายน ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

วันรุ่งขึ้น 13 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวตนายกฯ ครั้งแรก การแก้ไข ม.112 กลายเป็นเงื่อนไขของสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งในการปฏิเสธที่จะเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นอกจากนี้ ส.ว.บางคนยังตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่มีก้าวไกลเป็นพรรคร่วม เพราะเสนอแก้ไข ม.112

22 สิงหาคม 2566 โหวตนายกฯ รอบสองมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ผ่านได้เป็นายกรัฐมนตรี ก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน

4 ตุลาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ “พิธา-ก้าวไกล” ส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน ข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง ม.112 หลังยื่นคำชี้แจงเมื่อ 26 กันยายนที่ผ่านมา

 

การตัดสินคดี อาจส่งผล
ให้ กกต.เสนอยุบพรรคก้าวไกล

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องคดีกล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ก็ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดที่จะแสดงความเห็น หยุดการเผยแพร่ใดๆ ในเรื่องมาตรา 112 รวมถึงไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภาด้วย โดยร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอค้างอยู่ตอนสภาสมัยที่แล้ว ถ้าพรรคไม่ถอนร่างออก ทางสภาก็ต้องถอนออกไปทันที เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

และถ้าเห็นว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ก็จะนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 92(2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลที่เสนอสภาสมัยที่แล้ว คนที่เซ็นอยู่ข้างท้ายในร่างดังกล่าว นำโดยนายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมี ส.ส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อรับรองการเสนอร่างเข้าสภาอีกหลายสิบคน คำตัดสินในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า อาจจะนำไปสู่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ขนาดใหญ่อีกครั้ง

ยุบพรรค เปลี่ยนชื่อ แปลงกายได้ แต่ต้องดูแลสมาชิกให้ดี

โดนตัดสิทธิทางการเมือง ยังเล่นการเมืองข้างเวทีได้