ในเหมืองแร่มีนิยาย

ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์

หากใครคิดว่า จะต้องอ่านหนังสือปกแข็งที่หนา 856 หน้าแล้วละก็ คงอดคิดไม่ได้ว่า จะอ่านไหวไหม? หรือจะอ่านจบเมื่อไหร่?

ผมกำลังพูดถึงหนังสือที่เป็นผลงานของนักเขียนรุ่นใหญ่ และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2534 ที่ชื่อ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ครับ

ผู้เป็นนักอ่านคงทราบกันดีว่า คุณอาจินต์เป็นเจ้าของหนังสือ “เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่” อันโด่งดัง เรื่องชุดนี้มีหลายตอน และหนึ่งในนั้นที่มีชื่อตอนว่า “ตะลุยเหมืองแร่” ก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “มหา’ลัยเหมืองแร่” โดยผู้กำกับการแสดง เก้ง-จิระ มะลิกุล เมื่อปี 2548

นอกจากที่นำความรู้และประสบการณ์ในการทำงานและใช้ชีวิตกับเหมืองแร่ในจังหวัดพังงาอยู่ 4 ปี มาเขียนเป็นเรื่องสั้นที่ว่าแล้ว คุณอาจินต์ยังได้นำมาเขียนเป็นนิยายจำนวน 5 เรื่องอีกด้วย โดยเขียนไว้ในช่วงปี 2490-2534 ทั้งหมดนี้ได้รวมพลรอคนอ่านในหนังสือเล่มหนาที่ชื่อ “ในเหมืองแร่มีนิยาย” นี่เอง

นอกจากนิยายทั้ง 5 เรื่องแล้ว ยังมีเรื่องสั้น และผลงานเขียนอื่นๆ และเกร็ดประวัติของคุณอาจินต์รวบรวมไว้ให้ได้อ่านกัน บางชิ้นงานนั้นยังไม่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อน

 

ที่เกริ่นนำถึงความหนาของหนังสือ และเวลาในการอ่าน สำหรับผมแล้วพบว่า สามารถเพลิดเพลินกับการอ่านอย่างมาก บางเรื่องนั้นขอให้อ่านจนจบก่อนจึงเข้านอนได้ เพราะนอกจากเนื้อหาของนิยายในแต่ละเรื่องที่ชวนติดตามแล้ว ยังได้พบเสน่ห์อันเอกอุก็คือลีลาการเขียน และการใช้ถ้อยคำในการพรรณนาความ หรือบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่ผู้เขียนบรรจงกลั่นออกมาได้อย่างวิเศษ

สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้จากงานเขียนของท่านก็คือ “ความเป็นศิลปินนักเขียนตัวจริง” ซึ่งคุณอาจินต์ได้เขียนไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเขียนหนังสือไว้ตอนหนึ่งว่า

“นักเขียนกำลังนั่งทำงานเขียนอยู่ทั่วประเทศทั่วโลก เขากำลังทำงานอันยิ่งใหญ่ แต่งานนั้นสำเร็จหรือไม่ นักเขียนไม่พะวง

เขาก้มหน้าก้มตาเขียนของเขาไปโดยเดียวดาย นั่นหมายความว่าเขานั่งทำงานตามลำพังหรือ?

หามิได้ ก่อนที่เขาจะทำการเขียนนั้น เขาได้อยู่ร่วมลมหายใจกับผู้คนมาแล้ว เขาเลือกหยิบสิ่งที่ประทับใจออกมา เรียบเรียงด้วยภาษาหนังสือที่เป็นสไตล์ (บุคลิก ท่าที) ของเขา

เขาเอาบรรยากาศในบ้าน ในเมือง ในป่า บนท้องฟ้า เหนือภูเขา ในทะเล มาเสนอ…

นักเขียนพลิกความคิดออกมาให้ท่านอ่าน

ท่านอ่านแล้วเกิดความคิดอ่านอย่างไรหรือไม่ นั่นแล้วแต่ว่าตัวหนังสือของเขามีอำนาจหรือไม่”

และในคำนำของในเหมืองแร่มีนิยาย คุณอาจินต์ได้เขียนในความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้าเหลวไหลเสียจนกระเด็นออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ในตอนนั้นเองข้าพเจ้าต้องสละปากกาที่ฝันไว้ว่าจะได้เขียนอักษรสีทองในศิลปะการประพันธ์ให้แก่โรงจำนำ สละมันไปเพื่อแลกกับสิ่งที่แท้จริงเฉพาะหน้า คือการบำบัดความหิว ปากกานั้นกลายเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่มีตัวหนังสือจีนปนหนังสือไทย และมีลายหัวแม่มือของข้าพเจ้าแทนที่จะเป็นลายมือ…นั่นแหละ ตั๋วจำนำ ใบประกาศไล่ข้าพเจ้าออกจากใบสมัครเป็นนักเขียน

ช่วงเว้นวรรคการเขียน 4 ปี ในเหมืองแร่ คือ ที่ว่างอันสมบูรณ์ด้วยวัตถุดิบที่ข้าพเจ้าได้มาโดยไม่รู้ตัว เหมือนวานรได้แก้ว

เมื่อข้าพเจ้ากลับจากเหมืองแร่เข้ากรุงได้อีก ข้าพเจ้าก็ตามหาเพื่อนเก่าของข้าพเจ้า…ก็คือ ปากกาอย่างไรเล่าท่าน”

แล้วคุณอาจินต์ก็ใช้ปากกานั้นรังสรรค์จินตนาการบวกกับข้อมูลจริงออกมาเป็นนิยายทั้ง 5 เรื่อง ทุกเรื่องล้วนมีฉากหลังเป็นเหมืองแร่ทั้งสิ้น ทุกเรื่องมีตัวละครเอกเป็นผู้ชาย บอกเล่าถึงการผจญภัยที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนทำเหมืองในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป

ซึ่งแน่นอนที่ตัวละครเอกเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการเป็นตัวตนของคุณอาจินต์เอง

 

รสชาติขณะที่อ่านนิยายเหล่านั้น เหมือนเรากำลังดูหนังไทยสมัยก่อน ที่มิตร ชัยบัญชา หรือไม่ก็ สมบัติ เมทะนี แสดง ตัวละครเอกทุกตัวไม่ว่าจะเป็น ล่า, โชก ไชยันต์, แผน, นุ้ย รักถิ่น และ ธง ดวงเมือง คือแบบอย่างของ “ชายชาตรี” เป็นผู้ชายในอุดมคติในอดีต คือ รูปร่างสูงใหญ่ กำยำ แข็งแรง ถนัดการต่อสู้ มีความอดทนอดกลั้น มีศักดิ์ศรีในตัวเอง ไม่ยอมให้ใครรังแกหรือเอาเปรียบ และพร้อมจะเอาคืนทุกเมื่อ

ตัวอย่างเช่น ที่บรรยายถึงตัวละคร “แผน” ในเรื่อง “เลือดในดิน” ว่า

“…ชายผู้หนึ่งยืนลังเลอยู่… ต้นแขนอันกำยำของเขาที่เผยออกมาจากเสื้อเชิ้ตแขนยาวที่ม้วนขึ้นไป กางเกงเวสต์ปอยต์ขายาวกระชับรูป เกือกหนังแบบสมบุกสมบันเหล่านี้ ประกอบกันขึ้นทำให้รูปร่างอันสูงใหญ่เท่าขนาดฝรั่งของเขาดูทะมัดทะแมง…”

ขณะเดียวกันที่ตัวละครหญิงก็สะท้อนถึงผู้หญิงสมัยก่อน ที่มีทั้งความอ่อนหวาน มีน้ำใจ มีแง่งอนพองาม และบางคนก็มีความดื้อพอน่ารัก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะมีนางเอกเสมอไป

แต่ที่ทุกเรื่องมี คือ “ความรู้ในการทำเหมืองแร่” ด้วยประสบการณ์อันโชกโชน คุณอาจินต์ได้นำความรู้เรื่องการทำเหมืองทั้งทางวิชาการที่ได้รำเรียนมาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และทางวิชาชีพที่ได้ลงพื้นที่จริง รวมทั้งความรู้ที่ได้เพิ่มเติมจากวิถีชีวิตในพื้นที่ สอดแทรกลงในนิยายทุกเรื่อง ที่อ่านและเข้าใจได้ไม่ยากเลย

ซ้ำทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้เรื่องแร่ใดๆ ได้พลอยตื่นเต้นเหมือนได้ร่วมขุดเหมืองไปด้วยอย่างนั้น

“ในเหมืองแร่มีนิยาย”

นั่นคงเป็นด้วยชั้นเชิงการใช้ภาษา และวิธีการเรียบเรียงที่มาจากฝีมือการเขียนที่ทำให้เรานึกภาพตามออกตลอด เห็นถึงภาพ ได้ทั้งกลิ่น และสัมผัสได้ถึงรสชาติต่างๆ เช่นที่เขียนบรรยายถึงตัวละครลุงทองหล่อในเรื่อง “เหมืองทองแดง” ว่า

“นักการชราของสถานีเดินย่องแย่งมาหาเขา แกมีเส้นผมหงอกสลวยเหมือนขุยขาวที่ชายคอปกเสื้อและขอบกระเป๋ากางเกง”

หรือที่บรรยายถึงบรรยากาศการทำอาหารของพรานป่า ในเรื่องเดียวกันนี้ว่า

“…น้ำฟูเป็นควันฝอยพวยพลุ่งขึ้นมาเหนือหลุมด้วยความร้อนจัดจนทุกอย่างสุกปานจะแตกทะลัก กลิ่นพริก กลิ่นสมุนไพร กลิ่นไก่ กลิ่นใบไม้ที่กรุ กลิ่นดิน กลิ่นพื้น กลิ่นปลากระป๋อง หอมร้อนกระจายไปทั่ว พริกที่ตาพรานทุบด้วยใบมีด 1 กำมือส่งกระไอแสบหูแสบตา…”

ระหว่างทางของการเล่าเรื่อง คุณอาจินต์จะสอดแทรกความเป็นวิศวกรเหมืองแร่ให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นระยะ พร้อมเติมความเป็นจริงในการใช้ชีวิตคนเหมืองลงไปด้วย เช่น

“วิศวกรเกือบทุกแขนงจะต้องมีการลงฟีลด์ คือลงสนามปฏิบัติการ มันก็เหมือนตำรวจอำเภอออกท้องที่ ผิดกันตรงที่ตำรวจอำเภอถือกฎหมายออกไปสั่งการ แต่วิศวกรจะพกวิชาการออกไปบุกเบิกและผลิต

ไม่ว่าจะออกท้องที่หรือลงฟีลด์ ถ้าบุกป่าฝ่าดงกันดารอันตรายจะต้องมีอาวุธ

ตำรวจอำเภอใช้อาวุธรักษากฎหมาย แต่วิศวกรใช้อาวุธรักษาตัวเอง

คุณเอกนักเลงพูดไว้เข้าท่าว่า “อยู่ป่าต้องกินเหล้า เข้าป่าต้องมีปืน”

 

ในช่วงของนิยายนี้เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดโดยขอใช้เป็นทางผ่าน ก็มีเกร็ดเกี่ยวกับการทำงานของทหารญี่ปุ่นสอดแทรกไว้ด้วย

“แผนที่ลับของญี่ปุ่นนั้นล้วงตับไตไส้พุงภูมิประเทศของเราไว้หมดเกลี้ยง มีเส้นทางคนเดินป่า มีทางช้าง ทางม้า ทางเกวียน รู้กระทั่งบ่อน้ำตื้นลึกเพียงไร อยู่ที่ไหนในหมู่บ้านกันดาร ซึ่งในแผนที่ของไทยเองก็ยังไม่มีบันทึกไว้เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ

แต่สิ่งเหล่านี้คือเมล็ดข่าวสาร ซึ่งมดง่ามแห่งสงครามได้สะสมไว้อย่างละเอียดยิบ”

ในคำนำของตอน “เลือดในดิน” คุณอาจินต์ได้เขียนถึงความเชื่อมโยงของการทำเหมืองกับการเขียนหนังสือไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความทรงจำจากเหมืองแร่อันมีค่าต่อชีวิต ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำราคาได้เมื่อเขียนหนังสือขาย ข้าพเจ้าได้เอาความจำเหล่านั้นมาแปรรูปให้เป็นตัวหนังสือ สร้างให้ชาวเหมืองแร่ของข้าพเจ้ากระโดดโลดเต้นไปบนบรรทัด ตัวข้าพเจ้าถอยหลังออกมาเป็นนักสังเกตการณ์ เมื่อจะมีบทบาทร่วมกับเขาบ้าง ก็เป็นบทบาทของผืนผ้า ผู้ซึ่งมีหน้าที่รองรับการปักด้ายปักไหมหลายสีให้เป็นตัวละครยืนเด่นขึ้นมา”

ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า จะเป็นความโชคดีหรือเป็นความบังเอิญก็ไม่รู้ ที่คนคนหนึ่งที่รักการทำเหมืองแต่มีพรสวรรค์ในการประพันธ์ เช่น “คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์” เกิดขึ้นมาในแผ่นดินไทยนี้ ทำให้เราคนไทยได้อ่านเรื่องราวดีๆ อ่านได้สนุกที่เกี่ยวกับชีวิตคนทำเหมืองแร่ เชื่อว่าต้องมีคนที่ทำอาชีพเหมืองแร่มากมาย

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรักการเขียนและสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นบทความหรือนิยายได้น่าอ่านอย่างที่เราสัมผัส หรือจะมีสักกี่คนที่รักการเขียนแต่ยอมไปใช้ชีวิตลำบากยากแค้นในการทำเหมืองที่ทุรกันดารทางภาคใต้สมัยก่อนจนมีข้อมูลกลับมาเขียนหนังสือได้

ต้องขอบคุณคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นอย่างสูง ที่ได้นำประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่านี้มาถ่ายทอดเป็นตัวอักษรให้นักอ่านได้อ่านกัน

ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้อ่านแล้ว ที่หากสนใจก็หาซื้อมาอ่านกันได้ เพียงแต่ระวังตอนถือหนังสือนอนอ่านแล้วกัน เพราะอาจหล่นลงมาทับเราจนหมดสติได้ แล้วจะว่าไม่เตือน •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์