กลับสู่โต๊ะเจรจาไฟใต้? หลังระเบิดลามต่อเนื่อง “โจทย์ร้อน” รัฐบาลบิ๊กตู่

นับแต่เหตุระเบิด-วางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม

จนมาถึงเหตุระเบิดคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 40 คน

ด้วยระเบิดขนาด 100 กิโลกรัมซุกในรถพยาบาลอาสาที่คนร้ายปล้นชิงมาก่อนเกิดเหตุ 2 ชั่วโมง

ระบุเป็นคาร์บอมบ์ขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 12 ปี

ตามมาด้วยเหตุลอบวางระเบิดรถไฟขบวนที่ 176 สุไหงโก-ลกมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ บริเวณสถานีย่อย อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พนักงานประจำรถไฟเสียชีวิต 1 คน มีผู้บาดเจ็บ 3 คน เมื่อวันที่ 3 กันยายน

ได้รับการระบุเช่นกันว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สร้างความเสียหายให้แก่รถไฟมากที่สุดและเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม คนร้ายลอบวางระเบิดรางรถไฟระหว่างสถานีรือเสาะและสถานีบาลอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน เกิดเหตุจักรยานยนต์บอมบ์ร้านค้าตรงข้ามโรงเรียนบ้านตาบา เขตเทศบาลเมืองตากใบ จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน

ในจำนวนนั้นเป็นพ่อกับลูกสาว 4 ขวบเศษ นักเรียนชั้นอนุบาล 1 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนบาดเจ็บอีก 9 คน

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้ นับตั้งแต่เดือนเมษายนมีจำนวนสูงขึ้น

โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมเกิดเหตุการณ์กว่า 100 ครั้ง และไม่รู้ว่าในเดือนกันยายนจะลดน้อยลงหรือไม่

เหตุระเบิดขบวนรถไฟ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และระเบิดหน้าโรงเรียน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

อาจเป็นสัญญาณคำตอบได้ทางหนึ่ง

ในห้วงเวลาใกล้ครบ 1 เดือนเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

จากจุดเริ่มต้นที่มีการตั้งประเด็นจากคนในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐในลักษณะ “ฟันธง” ถึงแรงจูงใจการก่อเหตุว่ามาจาก “การเมือง” อันสืบเนื่องจากผลการลง “ประชามติ” ผ่านร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม

ไม่เกี่ยวกับการขยายพื้นที่ก่อเหตุของขบวนการดั้งเดิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่แล้วจากหลักฐานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบไม่ว่าลักษณะวิธีการก่อเหตุ ระเบิดที่ใช้ ภาพจากกล้องซีซีทีวีที่เผยให้เห็นใบหน้า รูปพรรณสัณฐานผู้ต้องสงสัย ตลอดจนเส้นทางการมาและหลบหนี

ล้วนบ่งชี้ว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง

โดยเฉพาะจากการตรวจสอบประวัติของผู้ที่ถูกออกหมายจับในคดีก่อเหตุพื้นที่ 7 จังหวัด ไม่ว่า นายอาหามะ เลงฮะ นายรุสลัน ใบมะ นายอัสมีน กาเต็มมาดี และ นายอากีม ดอเลาะห์

ทั้งหมดล้วนเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บางคนเคยถูกออกหมายจับในคดีใหญ่อย่างคดีระเบิดโรงแรมลีการ์เด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเดือนสิงหาคม 2555

คดีระเบิดห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เดือนเมษายน 2558 และคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดีสำคัญ

รูปการณ์เหล่านี้เมื่อนำมาวางเรียงต่อกันก็จะเห็นถึงจุดเชื่อมโยง ทำให้ผู้เคยออกมาฟันธงว่าเป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของประชามติ ต้องเงียบเสียงไปในที่สุด

หลังฝ่ายรัฐทำให้สับสนอยู่พักใหญ่ สังคมเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่าสถานการณ์ไฟใต้ที่กลับมาเพิ่มขีดความรุนแรง หากไม่ใช่เรื่องประชามติแล้วอะไรคือแรงจูงใจที่แท้จริง

คำตอบพุ่งตรงไปยังกระบวนการพูดคุยสันติสุข

เหตุวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ต่อเนื่องเหตุระเบิดโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี เป็นแรงกระตุ้นให้กระบวนการพูดคุยที่หยุดชะงักไปเมื่อเดือนเมษายน

กลับมาเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญอีกครั้ง

ถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม มีแนวคิดตั้ง ครม. “ส่วนหน้า” เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา

โครงสร้างประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่จำนวนประมาณ 10 คน ไม่ใช่ข้าราชการประจำและไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร

ทำงานควบคู่ไปกับในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า

ถึงกระนั้นกระบวนการพูดคุยสันติสุขก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช. โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังให้ความสำคัญ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเกิดความสงบก่อนถึงจะพูดคุย

ถ้ายิ่งมีเหตุการณ์รุนแรงยิ่งคุยกันไม่ได้ เพราะหลักการและเหตุผลการพูดคุยคือเพื่อยุติความรุนแรง ฉะนั้น ยิ่งแรงก็ยิ่งพูดไม่ได้ ก็ต้องใช้กฎหมายกันต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ

ทั้งนี้ กระบวนการพูดคุยสันติสุข เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการยุติความรุนแรงแบบถาวร เป็นเรื่องที่ผู้นำศาสนา องค์กรชาวมุสลิมและประชาชนในพื้นที่เรียกร้องมาโดยตลอด

กรณี พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขภาคใต้ นำคณะฝ่ายไทยเดินทางไปยังมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก

เพื่อกลับสู่โต๊ะการพูดคุยอีกครั้งกับกลุ่มมาราปาตานี ที่ประกอบด้วยสมาชิกขบวนการกลุ่มต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา

แม้ผลการพูดคุยยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนแรกของการทำความเข้าใจเรื่องธุรการ การวางกรอบพูดคุยรอบต่อไปในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) และยังมีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

แต่ก็เป็นการเริ่มต้นเดินมาถูกทาง

เมื่อวันที่ 7 กันยายน สำนักข่าว “เบนาร์นิวส์” ของมาเลเซีย ได้รายงานบทสัมภาษณ์อ้างว่าเป็นของแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นและกองกำลังอาร์เคเค ที่ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนของไทย

รวมถึงเหตุระเบิดรถไฟ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และบริเวณหน้าโรงเรียน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เนื่องจากต้องการตอบโต้ทางการไทยในการพูดคุยสันติสุขที่ไม่คืบหน้า ไม่เกี่ยวกับประชามติหรือเรื่องอื่น

อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมาจากเบนานิวส์ เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางมาเลเซียอีกครั้งอย่างแน่นอน เพื่อเป็นแนวทางในการพูดคุยรอบต่อไปในอนาคต

เพราะถึงแม้การพูดคุยจะไม่ช่วยให้ความรุนแรงยุติลงในฉับพลันทันใด

แต่ก็เป็นทางออกเดียวที่ไม่อาจจะละทิ้งได้