สถานีศาลาแดง

ปริญญา ตรีน้อยใส

สําหรับคนเจนใหม่ ที่ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีทันสมัยและรวดเร็วนั้น จะไม่รู้ที่มาที่ไปสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านไปมาทุกวัน

เหมือนผู้คนจำนวนมากที่เดินทางผ่าน สถานีศาลาแดง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย MRT

ซึ่งมีทางเชื่อมลอยฟ้ากับ สถานีสีลม สถานีรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติหกรอบพระชนมพรรษา สายสีเขียวเข้ม ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTS

โดยไม่รู้ว่าตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟใต้ดินสีลมนั้น น่าจะชื่อสถานีศาลาแดง เพราะอยู่ตำแหน่งใกล้เคียงกับสถานีศาลาแดง ของทางรถไฟกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของไทย ที่เคยพาไปมองต่อเนื่องมาสองสามฉบับแล้ว

เนื่องจากทางรถไฟสายปากน้ำ ผ่านคลองขวางหรือคลองสีลม ที่จะไปถึงย่านบางรัก แหล่งร้านค้าและที่อยู่อาศัย จึงมีสถานีให้คนขึ้นลงเพื่อต่อเรือไปบางรัก

บังเอิญว่าเมื่อตอนที่ขุดคลองถนนตรงนั้น เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี สร้างศาลาริมคลองไว้สำหรับคนพักระหว่างเดินทาง คงเหมือนกับ ศาลายา หรือ ศาลาธรรมสพน์ ที่อยู่ริมคลองภาษีเจริญ

บังเอิญว่าศาลาแห่งนี้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดง ผู้คนเลยเรียกขานกันว่า ศาลาแดง จนกลายเป็นจุดอ้างอิงของคนในพื้นที่ กลายเป็นชื่อย่าน ก่อนที่จะกลายเป็นนามสถานีรถไฟสายปากน้ำ และสถานีรถไฟในปัจจุบัน

 

จากสถานีรถไฟศาลาแดง ที่เดิมอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เดินทางตามคลองขวาง (สีลม) ไปยังย่านพักอาศัยบางรัก ร้านค้าริมถนนเจริญกรุง และโกดัง โรงเลื่อย โรงสี และท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา

กลายมาเป็นสถานีรถไฟฟ้าสีลม ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เดินทางไปยังย่านธุรกิจและบริการบนถนนสีลม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สวนสาธารณะลุมพินี

และอื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ

คงเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ทำให้ศาลาหลังคาสีแดง ที่อยู่ริมคลองหายไป รวมทั้งคลองถนนตรงและคลองขวางหายไป

กลายเป็นสี่แยกศาลาแดงของถนนพระรามที่สี่ ถนนสีลม และถนนราชดำริ ที่การจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน ผนวกรวมกับผู้สัญจรผ่านทางระบบขนส่งมวลชน

ระบบรางสองสาย คือ รถไฟฟ้าลอยฟ้าบีทีเอส และรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที

กลายเป็นความวุ่นวายโกลาหลทั้งเช้าเย็น จนไม่มีใครรับรู้หรือสนใจว่าทำไมเรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า ศาลาแดง •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส