โล่เงิน : จับยามศาลฎีกาแจงสรรหา “2 กกต.” ลุ้น สนช.ชี้ขาด-โหวตลับหรือเปิดเผย?!!

เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง

หลังจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหนังสือถึง นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เพื่อชี้แจงกระบวนการเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาเพื่อเข้ารับเลือกเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สัดส่วน 2 คน ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้การเลือกกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยเปิดเผย

ก่อนหน้านี้ มีการสรรหาบุคคลจาก 41 คน คัดเลือกจากคุณสมบัติจนเหลือ 15 คน และเลือกเป็นบุคคลที่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อให้ สนช. อนุมัติเป็น กกต. ได้จำนวน 5 คนแล้ว จึงเหลือสัดส่วนจากศาลฎีกาอีก 2 คน

โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ประชุมลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. ที่มาจากการเสนอชื่อของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ผลการลงมติได้ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว

จากนั้นมีการลงคะแนนเสียงอีกประมาณ 3-4 ครั้ง แต่ไม่มีผู้สมัครเป็น กกต. คนใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมาย กกต. กำหนด จึงต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่

และในวันที่ 6 ธันวาคม ที่ประชุมใหญ่มีการลงมติเลือกผู้สมัคร กกต. อีก 1 คนที่เหลือ ผลปรากฏว่า นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. คนที่ 2 ครบตามจำนวนในสัดส่วนของศาลฎีกา

แต่เกิดความคลางแคลงเมื่อ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ระบุว่า ผู้สมัคร กกต. ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น อาจขัดมาตรา 12 วรรคสาม ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้ในการสรรหาหรือคัดเลือกให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย

มีรายงานข่าวว่าในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการคัดเลือกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ได้ชื่อนายฉัตรไชย วิธีลงคะแนนมาจากการปรึกษาหารือของรองประธานศาลฎีกา 6 คน ว่าให้มีการลงคะแนนโดยจะทราบเพียงว่าผู้สมัครใครได้คะแนนเท่าใด โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ลงคะแนน

และการคัดเลือกครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 ธันวาคม ที่ได้นายปกรณ์ก็เป็นการลงคะแนนโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ลงคะแนนเช่นเดียวกับครั้งแรก

วันที่มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 นั้น มีรายงานว่า มีผู้พิพากษาฝ่ายหนึ่งทักท้วง ว่าการลงคะแนนดังกล่าวจะต้องทำโดยเปิดเผยตามกฎหมาย มีการเปิดเผยรายชื่อหรือตัวเลขที่ระบุได้ว่าผู้พิพากษาคนใดเลือกผู้สมัครรายใด

ส่วนอีกฝ่ายกลับเห็นว่าการถือบัตรลงคะแนนไปหย่อนโดยปรากฏชัดต่อหน้าทุกคนถือเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยแล้ว

การเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาว่าเลือกใคร จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของคะแนน

จนนายชีพ ประธานในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา สั่งให้มีการลงมติก่อนเลือกผู้สมัครว่าจะใช้วิธีลงคะแนนแบบใด ผลการลงมตินั้น ฝ่ายต้องการให้ลงคะแนนไม่ระบุชื่อผู้พิพากษาชนะไปด้วยคะแนน 86 ต่อ 77 เสียง จึงทำให้การลงคะแนนในวันนั้น เป็นการลงคะแนนโดยไม่ระบุชื่อผู้พิพากษาที่ลงคะแนน เป็นที่มาของการโดนครหาว่าเป็นการลงคะแนนลับจากนายสมชัย

ในเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากศาลยุติธรรมให้ความเห็นไว้ว่า กระบวนการดังกล่าวของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดขั้นตอน ที่ไปแปลความการเลือกตั้งโดยเปิดเผยไม่ชัดเจน มองว่าวิธีการที่ใช้เป็นวิธีการตามกฎหมายเก่า ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับเก่า แม้กระทั่งฝ่ายเลขาฯ ในที่ประชุมเองก็มีความคิดจะให้เปลี่ยนวิธีการ

แต่ในที่ประชุมมีผู้พิพากษาส่วนหนึ่งไม่อยากจะเปลี่ยน อยากจะเลือกโดยที่ไม่ให้รู้ว่าใครเป็นคนเลือกเพราะเกรงการกดดัน เกรงใจขุ่นเคืองกัน จึงทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ว่าวิธีการเลือกจะเป็นไปตามกฎหมายลูกหรือไม่

หากเปรียบเทียบกับกรรมการสรรหา กกต. ของวุฒิสภา จะพบว่าวิธีการต่างกันกับการสรรหาในส่วนของศาลฎีกา ถ้ามองดีๆ อาจเห็นได้ชัดว่าวิธีการสรรหา กกต. ของวุฒิสภา ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ และสมาชิกคือ ประธาน สนช. ประธานศาลปกครองสูงสุด และคนอื่นๆ เป็นคณะกรรมการ 6 คน ใช้วิธีสรรหา กกต. โดยเปิดเผยชัดเจน มีทั้งชื่อคนเลือกและชื่อผู้ถูกเลือก หรือเรียกว่ารู้ทั้ง 2 ข้อ

แหล่งข่าวระดับสูงจากศาลยุติธรรมมองว่า เมื่อเรื่องนี้ถึง สนช. คงจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา และการพิจารณาจะต้องเอารัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เป็นหลัก มาดูว่าที่มาและคุณสมบัติของ กกต. แต่ละคนถูกต้องตามที่มาของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกหรือไม่ พร้อมทำความเห็นเสนอที่ประชุม สนช. 200 กว่าคน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ต่อไป ตรงนี้ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงจะถูกตีตกได้

อย่างไรก็ดี นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันในเรื่องนี้ว่า การลงคะแนนคัดเลือกผู้สมควรที่จะได้เป็น กกต. ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเเล้ว และไม่ประสงค์จะชี้แจงเพราะจะกลายเป็นการโต้ตอบไปมา

แต่หากทาง สนช. มีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางศาลยุติธรรมจะมีหนังสือตอบกลับตามขั้นตอน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ทางศาลฎีกาได้มีหนังสือตอบกลับนายพรเพชร ประธาน สนช. แล้ว

โดยเป็นหนังสือชี้เเจงขั้นตอนในทุกประเด็นที่มีการสอบถามมา พร้อมยืนยันถึงขั้นตอนการคัดเลือก กกต. จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

จึงน่าลุ้นต่อไปว่า เมื่อศาลฎีกาตอบไปแล้ว ทาง สนช. จะว่ายังไงกันต่อไป