วิชิต สุรพงษ์ชัย (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยเรื่องเร้าใจ เกี่ยวกับผู้นำคนสำคัญ กับธนาคารเก่าแก่ของไทยในยุคสมัยกำลังเปลี่ยนผ่าน

เรื่องราวนั้น เกี่ยวกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วงเวลาแห่งสีสันที่สุดช่วงหนึ่ง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ จะว่ามาถึงจุดสิ้นสุดอีกยุคหนึ่งก็คงได้ ยุคผู้นำคนสำคัญ-ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย

เรื่องราวของเขา ผมเองเคยนำเสนอมาในหลายแง่มุม ส่วนใหญ่โฟกัสเกี่ยวข้องกับธนาคารไทยพาณิชย์ (โดยฉพาะซีรีส์ “กว่าจะเป็น SCBX” (6 ตอน) ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อต้นปี 2565)

ถึงคราวแล้วที่จะหลอมรวมให้เป็นมิติต่อเนื่องว่าด้วยบทบาทผู้นำธุรกิจคนหนึ่ง

 

“บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ของบริษัท รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป” หนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (20 พฤษภาคม 2567) ตั้งใจให้กระชับ

ดูคล้ายๆ กับครั้งก่อนหน้า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว “ธนาคารไทยพาณิชย์แต่งตั้งนายกกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร” (4 เมษายน 2562) สาระซึ่งได้รับความสนใจ อยู่ที่การแต่งตั้ง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกกรรมการ แทน อานันท์ ปันยารชุน โดยระบุเหตุผลไว้ว่า “ครบวาระและแจ้งความประสงค์ไม่ขอรับการต่อวาระ”

ขอประเดิมเรื่องราว ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ให้ภาพอย่างกว้างๆ อ้างอิงจากข้อมูลทางการธนาคารไทยพาณิชย์เองเคยนำเสนอไว้

 

“ดร.วิชิต มีประวัติการทำงานที่ยาวนานในภาคการเงินการธนาคาร โดยเริ่มต้นการทำงานด้านการธนาคารที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปี 2520 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในระหว่างปี 2537-2538 และได้กลับเข้าสู่การทำงานด้านการธนาคารอีกครั้งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารรัตนสิน จำกัด (มหาชน) ในปี 2541 และในปี 2542 ดร.วิชิต ได้เข้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการธนาคารและประธานกรรมการบริหาร ล่าสุด ดร.วิชิต ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งนายกกรรมการธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562”

ผมได้โฟกัสภาพ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ให้โดดเด่นขึ้น ในฐานะผู้มีบทบาทนำในธนาคารแห่งนี้มาถึง 25 ปีเต็ม โดยเทียบเคียงผู้นำอีกคนซึ่งมีบทบาทสำคัญในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะ ประจิตร ยศสุนทร ผู้มากับยุคใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์

“ยุคประจิตร ยศสุนทร เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ สะท้อนการปรับตัวครั้งใหญ่ สร้างโอกาสทางธุรกิจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบทบาทหนึ่งที่สำคัญ สนับสนุนเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในช่วงนั้น เคียงคู่กับเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี” เคยตัดตอน สรุปภาพเอาไว้

ประจิตร ยศสุนทร มีที่มาตามแบบแผนยุคนั้น ธนาคารไทยดั้งเดิมกำลังถูกบังคับให้ปรับตัว ด้วยความพยายามแสวงหาผู้บริหารมืออาชีพ เขาเป็นหนึ่งในฐานะผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรำจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจสู่ผู้จัดการใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทยเก่าแก่ที่สุด สามารถอยู่ในตำแหน่งถึง 11 ปี (2516-2527) ก่อนขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารอีก 15 ปี (2527-2542) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวควบตำแหน่งนายกกรรมการ (2530-2541) ด้วย

ประจิตร ยศสุนทร มีบทบาทสำคัญชักนำผู้บริหารรุ่นใหม่ รุ่นต่อเนื่อง มาสืบทอดการบริหารในช่วงกว่า 3 ทศวรรษธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แก่ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) โอฬาร ไชยประวัติ (ผู้จัดการใหญ่ 2535-2542) และ ชฎา วัฒนศิริธรรม (ผู้จัดการใหญ่ 2542-2550) ดูเหมือนว่าสามารถเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจโลกเข้ามากระทบสังคมไทยได้ดีพอสมควร

อย่างที่อ้างไว้ พัฒนาการธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคนั้น เป็นไปอย่างก้าวกระโดด มีสถิติอันน่าทึ่ง ช่วงเวลาแค่ 2 ทศวรรษ จากปี 2513 ถึงปี 2533 สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากระดับ 12,000 ล้านบาท มาทะลุ 1 แสนล้านบาท (จาก หนังสือ “CENTURY OF GROWTH” The first 100 years of Siam Commercial Bank)

ประจิตร ยศสุนทร ให้ความสำคัญกับมืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจธนาคารอย่างเจาะจง ไม่ว่ามาจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารระดับโลก มักเป็นผู้มีภูมิหลังแห่งสายสัมพันธ์ดั้งเดิม ผ่านการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับยุคสมัยอิทธิพลสหรัฐ สอดคล้องกับยุคธนาคารไทยกำลังพัฒนาสู่แบบแผนสากลมากขึ้น

 

ส่วนยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย มีอีกชุดความคิด ผมเองเคยบอกที่มาไว้ว่า “ผู้นำซึ่งไม่ได้มาจากโมเดล และสายสัมพันธ์ดั้งเดิม” มุมมองของเขาเกี่ยวกับธุรกิจธนาคารจึงปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เชื่อว่าอ้างอิงประสบการณ์ของตนเองด้วย ให้ความสำคัญกับทีมงานที่มีประสบการณ์กว้าง และแตกต่างจากเดิมพอสมควร ว่าไปแล้วเป็นไปตามบริบท และพัฒนาการสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยในฐานกว้างมากขึ้น ขณะมีประสบการณ์บริหารกิจการระดับโลกด้วย

จากกรณี กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร (ปี 2545) แม้ผ่านการศึกษาในต่างประเทศ แต่มีประสบการณ์ยาวนานในฐานะผู้บริหาร Unilever ในประเทศไทย ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโถคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า Fast-moving consumer goods (FMCG) ต่อมาได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (2550-2558)

อีกคน อาทิตย์ นันทวิทยา ผู้ผ่านการศึกษาในระบบไทย มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับระบบธนาคาร เคยทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ช่วงสั้นๆ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่สำคัญผ่านงานบริหารธุรกิจระดับโลกราวทศวรรษ กับ Cargill Financial Service ในตำแหน่ง Hedge Fund Manager และ Standard Chartered Bank เป็น Managing Director และ Regional Head Capital Markets, Southeast Asia เป็นตำแหน่งสุดท้าย กลับมาร่วมงานธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง (ปี 2551) ต่อมาไม่นาน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ปี 2559)

เมื่อผ่านกระบวนการแปลงร่างให้กว้างขึ้น เป็นเอสซีบีเอกซ์ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย สืบต่อเป็นประธานกรรมการ และ อาทิตย์ นันทวิทยา เป็นประธานกรรมการบริหาร

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (กลายเป็นธุรกิจหนึ่ง ในเครือเอสซีบี เอกซ์) ได้แต่งตั้งประธานกรรมการบริหารคนใหม่-กฤษณ์ จันทโนทก (ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565) ผู้มีโปรไฟล์ตามแบบแผน คล้ายๆ อาทิตย์ นันทวิทยา ให้ความสำคัญประสบการณ์มากกว่าวุฒิการศึกษา ในวัยไม่เกิน 50 ปี มีการศึกษาในประเทศ มีประสบการณ์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ และประกัน โดยผ่านประสบการณ์การบริหารธุรกิจระดับโลกมาด้วย

ยุคประจิตร ยศสุนทร สิ้นสุดลง ด้วยแรงบีบคั้นพอสมควรด้วยเผชิญปัญหาธุรกิจครั้งใหญ่ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในช่วงปี 2540

ส่วน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เชื่อว่าได้ตัดสินใจเลือกทางลงเองในวาระอันควร •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com