ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (11) ปัญหาโลกร้อน & ประเด็นฮ่องกง

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (11) ปัญหาโลกร้อน & ประเด็นฮ่องกง

 

แดเนียล เดนเวอร์ : เอ่ยถึงเรื่องถ่านหินแล้ว ผมเลยอยากสอบถามอาจารย์หงว่าการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องภูมิอากาศนี่เป็นไปได้ไหมครับ ในสภาพที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศย่ำแย่อย่างนี้? จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐด้านสภาพภูมิอากาศ บอกว่าเขาอยากจะแยกการเจรจากับจีนเรื่องภูมิอากาศออกจากเรื่องอื่นทุกเรื่อง แต่ผมไม่เห็นเลยว่ามันจะทำได้ไงในทางปฏิบัติน่ะครับ

โฮเฟิง หง : มันขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรครับ ข้อมูลแสดงว่าตอนนี้จีนเป็นผู้นำโลกในการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมแล้ว นั่นย่อมเป็นแรงจูงใจให้สหรัฐอยากเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ทำในจีนเหล่านี้แน่ๆ

แต่เหตุผลหนึ่งที่บรรษัทสหรัฐทั้งหลายพากันบ่นอุบสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาก็คือ เวลาบริษัทเทคโนโลยีเขียว (สีเขียวหมายถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ของสหรัฐร่วมงานกับบริษัทจีนและจัดหาส่วนประกอบไฮเทคกับซอฟต์แวร์ของตัวมาให้ แล้วจากนั้นฝ่ายจีนจึงสร้างกังหันลมใหม่นั้นน่ะ พวกบริษัทสหรัฐมาพบภายหลังว่าฝ่ายจีนกลับจ้างพนักงานบางคนภายในบริษัทอเมริกันเองให้รวบยึดงานออกแบบกับเทคโนโลยีของตัวไปเสีย เรื่องนี้นำไปสู่การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลและหุ้นส่วนฝ่ายจีนก็ยอมรับออกมาเองว่าทำผิดรวมทั้งจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่ให้ในที่สุดครับ

เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นเยอะมากในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคสีเขียวนะครับ และนี่แหละที่เป็นพลังคัดง้างไม่ให้สหรัฐกับจีนร่วมมือกันในด้านผลิตภัณฑ์สีเขียว

เอาเข้าจริงบรรษัทสหรัฐน่ะอยากร่วมมือกับจีนเรื่องเทคโนโลยีเขียวและนำเข้าผลิตภัณฑ์เขียวของจีนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันบรรษัทอเมริกันสีเขียวก็กำลังถูกทำร้ายเสียหายโดยการรวบยึดทรัพย์สินทางปัญญาแบบนี้ครับ การรวบยึดที่ว่านี่แหละเป็นส่วนหนึ่งของตัวเร่งให้เกิดสงครามการค้าขึ้นมา ฉะนั้น มันจึงยากยิ่งที่จะแกะความพยายามร่วมมือกันด้านสิ่งแวดล้อมออกมาจากประเด็นปัญหาอื่นๆ อย่างข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสงครามการค้าครับ

กราฟเปรียบเทียบการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนกับสหรัฐจากปี 2008-2018 หน่วยเมตริกตัน ข้อมูลจากองค์การพลังงานสากล https://www.bbc.com/news/election-us-2020-54719577 & จอห์น เคอร์รี ผู้แทนด้านภูมิอากาศของสหรัฐ เข้าพบหารือนายกฯ หลี่เฉียง ของจีนที่ปักกิ่งเมื่อกรกฎาคมศกนี้ https://www.nytimes.com/2023/07/19/climate/us-china-climate-issues.html

ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง ขณะที่จีนกำลังเข็นเทคโนโลยีเขียวอย่างกังหันลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ออกมาอย่างน่าประทับใจ แต่จีนก็กำลังขยายภาคอุตสาหกรรมถ่านหินของตนด้วยนะครับ จีนกำลังส่งออกสมรรถภาพด้านถ่านหินของตัวออกไปสู่เหล่าประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางครับ ถึงแม้สี จิ้นผิง บอกว่าจีนจะหยุดส่งออกถ่านหินและเลิกให้เงินทุนแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน แต่ข้อมูลก็แสดงว่ามันยังดำเนินต่อไปอยู่นะครับ

อีกนั่นแหละครับมันคงใช้เวลาสักพักกว่าผู้คนจะมองออกว่าฝ่ายนำจีนตั้งใจจะทำตามสัญญาที่ว่านี้ หรือว่าพวกเขาแค่พูดแต่ไม่ทำ ตอนนี้ภาคเทคโนโลยีเขียวของจีนได้กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียในการช่วงชิงการสนับสนุนจากรัฐบาลไปแล้ว แต่ภาคถ่านหินก็ใหญ่มหึมาในทางการเมืองด้วยเหมือนกัน มันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ได้เสียที่ทรงอำนาจยิ่งซึ่งมีส่วนยึดกุมกระบวนการทางการเมืองของจีนไว้ครับ

ถ้าจะให้จีนเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวกว่านี้ละก็ เราจำต้องหักรานการยึดกุมทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ได้เสียประเภทที่ว่านี้ครับ ผมเองเห็นว่าการร่วมมือสีเขียวระหว่างจีนกับสหรัฐควรจะเกิดขึ้นและควรได้การสนับสนุนครับ แต่ยากยิ่งที่จะแกะมันออกจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าเรื่องลัทธิคุ้มครองทางการค้าเอย ข้อพิพาททางการค้าเอย และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาเอย

รวมทั้งแกะมันออกจากกลุ่มผลประโยชน์ได้เสียที่ควบคุมระบบการเมืองอยู่น่ะครับ

แดเนียล เดนเวอร์ : มีเรื่องสำคัญอีกสองหัวข้อที่ผมอยากคุยกับอาจารย์ก่อนเราจะสรุปจบครับ ได้แก่ฮ่องกง และโรคระบาดทั่ว

กล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว ฮ่องกงแสดงบทบาทหลักในฐานะตัวกลางทางการเงินระหว่างจีนกับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เหลือ นักสังเกตการณ์ทั่วไปตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเร็วๆ นี้เสรีภาพทางการเมืองของฮ่องกงได้ถูกขจัดทิ้ง หรือไม่ก็ถูกลดทอนลงอย่างหนักหนาสาหัสครับ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีมิติทางเศรษฐกิจเอกเทศที่เกี่ยวพันกันกับสถานะพิเศษของฮ่องกงอยู่ด้วย

ที่ผมอยากถามอาจารย์หงก็คือการที่ทางการปักกิ่งขยายการควบคุมเหนือฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้น่ะมันหมายความยังไงต่อฐานะทางเศรษฐกิจของฮ่องกงหรือครับ? แล้วสิ่งนี้น่ะมันหมายความว่าอะไรสำหรับเศรษฐกิจจีนทั้งหมดด้วยครับ?

โฮเฟิง หง : นั่นน่ะเป็นหัวข้อใหญ่โตมากและผมคงต้องตอบแบบสรุปสังเขปยิ่งนะครับเพราะผมเองก็มีหนังสือที่เขียนอีกเล่มยาวสามร้อยหน้าเกี่ยวกับการเมืองกับการประท้วงในฮ่องกงครับ (Ho-fung Hung, City on the Edge : Hong Kong under Chinese Rule, 2022)

จีนเผชิญกับภาวะอิหลักอิเหลื่อกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเรื่องฮ่องกงนับแต่ได้อำนาจอธิปไตยคืนจากอังกฤษเมื่อปี 1997 ครับ กล่าวคือ ในแง่หนึ่งจีนอยากให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง [ความจำเป็นของจีนที่จะต้องเชื่อมต่อกับระบบการเงินโลก] กับ [ข้อบังคับทางการเมืองของจีนที่จะต้องปกป้องระบบการเงินจีนเอาไว้จากธุรกรรมการเงินขนาดยักษ์ของโลก] น่ะครับ

ก็อย่างที่เราคุยกันมาก่อนหน้านี้นั่นแหละครับ พรรคคอมมิวนิสต์จีนน่ะอยากควบคุมระบบการเงินเอาไว้เต็มพิกัด แต่ทว่า บรรดาบริษัทจีนและองค์กรรัฐทั้งหลายต้องการบริการทางการเงินจากธุรกิจการเงินโลก ทางออกก็คือพัฒนาฮ่องกงให้เป็นตลาดการเงินนอกฝั่งของจีนนั่นเองครับ

 

ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแต่มีเงินตราสกุลของตัวเองรวมทั้งธนาคารกลางของตัวเองด้วย ถือเป็นฐานคติว่ารัฐบาลของฮ่องกงนั้นวางนโยบายการเงินและเศรษฐกิจด้วยตัวเองโดยไม่ถูกทางการปักกิ่งบงการ มีพรมแดนทางการเงินอยู่ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงซึ่งเปิดให้กระแสเงินทุนไหลผ่านได้ ทว่า ก็อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมได้เช่นกันครับ

ดังนั้น การพัฒนาฮ่องกงให้เป็นตลาดนอกฝั่งจึงดูจะแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง [ความจำเป็นของจีนที่ต้องใช้ระบบการเงินโลก] กับ [ความจำเป็นทางการเมืองที่ต้องปกป้องตลาดของจีนเอง] ให้ตกไปได้ บรรดาบริษัทของจีนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและสามารถซื้อผลิตภัณฑ์การเงินในฮ่องกงได้ แทนที่จะทำเช่นนั้นในจีนแผ่นดินใหญ่ครับ

แต่เพื่อจะธำรงรักษาตลาดการเงินนอกฝั่งเอาไว้ คุณต้องมีระบบกฎหมายต่างหากที่สากลรับรอง รวมทั้งมีการไหลเวียนของข้อสนเทศอย่างเสรีด้วยนะครับ ดังจะเห็นได้ว่าเฟซบุ๊กกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเจ้าอื่นของตะวันตกถูกสั่งห้ามในจีน กูเกิลก็ถูกสั่งห้ามในจีน และก็ไม่มีสื่อสิ่งพิมพ์เสรีในจีนเช่นกัน แต่ในฮ่องกงน่ะ มีสื่อสิ่งพิมพ์เสรีอยู่จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้นี่เองครับ ฉะนั้น ผู้คนที่นั่นจึงพอค้นหาข้อมูลเรื่องการทำผิดประพฤติมิชอบและคอร์รัปชั่นได้ และพวกเขาก็ยังมีโซเชียลมีเดียด้วย ของพวกนี้สำคัญยิ่งสำหรับการธำรงรักษาศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งที่ซึ่งผู้คนจะอยากทำธุรกิจกันครับ

แต่ปัญหาก็คือเสรีภาพกับหลักนิติธรรมโดยสัมพัทธ์ในฮ่องกงที่ว่านี้ก็ดันสร้างพื้นที่ให้ฝ่ายค้านและพวกเห็นต่างทางการเมืองซึ่งก่อความเดือดร้อนให้จีนด้วย ว่าไปแล้วก็คือในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเงินโดยผ่านตลาดนอกฝั่งของฮ่องกงนั้น จีนได้สร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาระหว่าง [ความจำเป็นที่ต้องธำรงรักษาเสรีภาพที่แน่นอนเอาไว้ในฮ่องกง] กับ [ความเป็นไปได้ของการสร้างฝ่ายค้านทางการเมืองขึ้นมาในฮ่องกง] ซึ่งทำให้จีนเองตกอยู่ในสภาพปกครองไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกทีนั่นล่ะครับ

ผลลัพธ์ก็คือการประจัญบานแตกหักเมื่อปี 2019 กับการกวาดล้างปราบปรามเมื่อปี 2020 ครับ มาบัดนี้เมื่อสี จิ้นผิง กำลังพยายามกวาดล้างปราบปรามพวกเห็นต่างทางการเมืองและทำลายสื่อสิ่งพิมพ์เสรีพร้อมกับธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเงินของฮ่องกงด้วยนั้น กล่าวได้ว่าฮ่องกงกำลังตกอยู่ในดินแดนลับแลตกสำรวจ

แต่มันไม่ชัดเจนเลยนะครับว่าจีนจะสามารถธำรงรักษาความเชื่อมั่นทางการเงินต่อตลาดนอกฝั่งของตนไว้ได้หรือไม่โดยปราศจากเสรีภาพทางการเมืองน่ะ

 

ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้วนะครับที่บริษัทหุ้นนอกตลาด (private equity companies) มากมายหลายแห่ง รวมทั้งบริษัทซึ่งมีภูมิหลังอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่และธุรกิจสากลบางเจ้าพากันเริ่มโยกย้ายจากฮ่องกงไปสิงคโปร์ สิงคโปร์น่ะไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยหรอกครับ แต่ประเด็นอยู่ตรงมันห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไกลพอที่บริษัทเหล่านี้ไม่จำต้องวิตกกังวลว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะลำเอียงเข้าข้างรัฐบาลจีนและหันมาเล่นงานพวกตน

ตอนนี้หลังการกวาดล้างปราบปรามในฮ่องกง บริษัทการเงินหลายแห่งกำลังจับตามองว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะเลวร้ายลงขนาดไหน ผู้คนมากหลายในภาคการเงินกำลังเตรียมตัวเตรียมใจรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดกันเรียบร้อยแล้วครับ นอกจากนี้ การปิดกั้นโรคระบาดโควิด-19 ก็ยังถูกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองไปด้วย เราควรใช้วิธีไหนมาควบคุมเชื้อไวรัสดี กลายเป็นวิวาทะระหว่างฝ่ายต่างๆ และรัฐบาลฮ่องกงก็ดันกล่าวหาประดาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่าหลงวางใจวัคซีนตะวันตกและสมาทานหลักการดำรงชีวิตอยู่กับเชื้อไวรัสแบบตะวันตกเสียฉิบ รัฐบาลบอกว่าพวกตนจำต้องดำเนินตามแนวทางล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ซึ่งสำหรับรัฐบาลแล้วแสดงให้เห็นว่าระบบแบบจีนเหนือกว่าครับ การณ์กลายเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังถูกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองไปหมดโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากสื่อสิ่งพิมพ์เสรีเอาเลย

การขาดเสรีภาพนี่น่ะจะไม่ส่งผลกระทบเฉพาะกับพวกเห็นต่างเท่านั้นหรอกครับ ท้ายที่สุดแล้วมันจะกระทบการบริหารปกครองทุกๆ เรื่องตั้งแต่การดูแลรักษาสุขภาพไปจนถึงสาธารณสุขและการกำกับควบคุมทางการเงินด้วย เราได้เห็นตัวอย่างกันมาแล้วที่องค์กรการเงินต่างชาติแฉโพยคอร์รัปชั่นและการทำผิดประพฤติมิชอบโดยบรรษัทจีนที่ทรงอำนาจ แต่แล้วพวกเขาก็กลับถูกแซงก์ชั่นโดยทางการฮ่องกงเสียเอง ไม่กี่ปีก่อน นักวิเคราะห์การเงินคนหนึ่งรายงานว่ามีคอร์รัปชั่นที่บริษัทเอเวอร์แกรนด์ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายมากของจีน ปรากฏว่านักวิเคราะห์ผู้นั้นถูกสั่งให้หุบปากและผู้คนมากหลายก็สันนิษฐานว่าเรื่องนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังครับ

สถานการณ์อย่างที่ว่ามานี้ทำเอานักการเงินมากหลายพากันกลัดกลุ้ม พวกเขาหลายคนกำลังคิดจะทิ้งฮ่องกงไปอยู่ที่ห่างจากทางการจีนแผ่นดินใหญ่ไกลขึ้นอย่างสิงคโปร์และลอนดอนเป็นต้นครับ ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นละก็ มันจะสร้างความเสียหายข้างเคียงให้กับเศรษฐกิจจีนอย่างใหญ่หลวงนะครับ จนกระทั่งถึงบัดนี้ จีนได้ประโยชน์โภชผลจากศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งที่อยู่ภายในเขตอำนาจอธิปไตยของตนแห่งนี้ แต่ถ้าหากศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งดังกล่าวดันเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นนอกเขตอำนาจอธิปไตยของจีนออกไป มันจะส่งผลเสียต่อฐานะนำหน้าทางเศรษฐกิจของจีนครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)